จากการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ที่จากไปราว 3 เดือน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีการเคลื่อนไหวบนบัญชีเฟซบุ๊กของเธอจนกลายเป็นที่จับตามองของสังคม ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า หลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้วนั้น จะเกิดอะไรขึ้นกับบัญชีเฟซบุ๊กของเราบ้าง
การจัดการของเฟซบุ๊ก
ในกรณีที่เราเสียชีวิตนั้น ทางเฟซบุ๊กได้มี 2 แนวทางให้เลือกสำหรับการจัดการบัญชีเฟซบุ๊กของเรา นั่นคือ
1.เราสามารถเลือกที่จะแต่งตั้งผู้สืบทอดบัญชีเพื่อดูแลบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์หรือลบบัญชีของเราออกจากเฟซบุ๊กอย่างถาวรได้
2.หากเราไม่ได้เลือกที่จะลบบัญชีแบบถาวร เมื่อทางเฟซบุ๊กทราบว่าเราเสียชีวิตไปแล้ว ทางระบบจะเก็บบัญชีเฟซบุ๊กของเราไว้เป็นอนุสรณ์
ผู้สืบทอดบัญชี
หากก่อนเสียชีวิตเราได้เลือก “ผู้สืบทอดบัญชี” เพื่อทำหน้าที่ดูแลบัญชีเฟซบุ๊กของเราหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้เพื่อนและคนใกล้ชิดได้ระลึกถึง โดยหน้าที่ของผู้สืบทอดบัญชีมีดังต่อไปนี้
– ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนในนามของบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์
– ปักหมุดโพสต์รำลึกไว้บนโปรไฟล์
– เปลี่ยนรูปโปรไฟล์และรูปภาพหน้าปกได้
– หากบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์มีพื้นที่สำหรับการแสดงความอาลัย ผู้สืบทอดบัญชีจะสามารถตัดสินใจได้ว่าใครจะสามารถเห็นและโพสต์การแสดงความอาลัยได้บ้าง
– ส่งคำขอลบบัญชีของเรา
– ดาวน์โหลดสำเนาของสิ่งที่เราแชร์บนเฟซบุ๊ก หากเรายังไม่ได้เปิดฟีเจอร์ดังกล่าว ทางเฟซบุ๊กอาจจะเพิ่มเติมความสามารถให้แก่ผู้สืบทอดบัญชีในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้สืบทอดบัญชีของเราจะไม่สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้
– เข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้ของเรา
– อ่านข้อความของเรา
– ลบเพื่อนของเราหรือสร้างคำขอเป็นเพื่อน
– ไม่สามารถแก้ไขโพสต์ของเราก่อนที่จะเสียชีวิตได้
– ไม่สามารถใช้งานระบบแชตได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้สืบทอดบัญชีจึงไม่สามารถแสดงตัวเป็นผู้เสียชีวิตและไปก่อเหตุร้าย หรือหลอกลวงคนอื่นโดยใช้บัญชีของเราได้ นอกจากนี้ผู้ที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดบัญชีได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น
บัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์
ในกรณีที่เราไม่ได้เลือกผู้สืบทอดบัญชีไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าหากเฟซบุ๊กรู้ว่าเราเสียชีวิตไปแล้ว ทางระบบจะจัดเก็บบัญชีเฟซบุ๊กของเราไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อเป็นพื้นที่ให้เพื่อนและคนในครอบครัวได้มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความทรงจำหลังจากที่เราได้เสียชีวิตลง คุณสมบัติหลักของบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ มีดังนี้
– คำว่า “ระลึกถึง” จะปรากฏขึ้นถัดจากชื่อในโปรไฟล์ของบุคคลดังกล่าว
– เพื่อนๆ สามารถแชร์ความทรงจำบนไทม์ไลน์ที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ได้ โดยขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชี
– เนื้อหาที่เจ้าของบัญชีแชร์ (เช่น รูปภาพ โพสต์) จะยังคงอยู่บนเฟซบุ๊ก และจะมีเพียงกลุ่มเป้าหมายของเนื้อหาดังกล่าวเท่านั้นที่มองเห็นได้บนเฟซบุ๊ก
– โปรไฟล์ที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์จะไม่ปรากฏขึ้นในพื้นที่เนื้อหาสาธารณะ เช่น ในรายการที่แนะนำคนที่คุณอาจจะรู้จัก โฆษณา หรือการแจ้งเตือนวันเกิด
– ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าสู่ระบบบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ได้
– บัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ที่ไม่มีการระบุผู้สืบทอดบัญชีจะไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้
– ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กเพียงคนเดียว หลังจากที่บัญชีเฟซบุ๊กถูกเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ เพจดังกล่าวจะถูกลบจากเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน
การลบบัญชีเฟซบุ๊กหลังเสียชีวิต
อีกหนึ่งกรณีที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่เราเสียชีวิตก็คือ การลบบัญชีเฟซบุ๊กแบบถาวร ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนแจ้งให้ทางเฟซบุ๊กรู้ว่าเราเสียชีวิตแล้ว ข้อความ รูปภาพ โพสต์ ความคิดเห็น ความรู้สึก และข้อมูลทั้งหมดของเราจะถูกลบออกจากเฟซบุ๊กอย่างถาวรโดยทันที โดยมีวิธีส่งคำขอให้ลบบัญชีเฟซบุ๊กดังนี้
1.คลิก ลูกศรลง ที่ด้านขวาบนของเฟซบุ๊ก
2.เลือก “การตั้งค่าและความเป็นส่วนตัว” แล้วคลิก “การตั้งค่า”
3.คลิก “การตั้งค่าการเก็บไว้เป็นอนุสรณ์”
4.เลื่อนลงมาแล้วคลิก “ขอให้ลบบัญชีของคุณหลังจากคุณเสียชีวิตไปแล้ว” จากนั้นคลิก “ลบบัญชีหลังจากเสียชีวิต”
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เฟซบุ๊กใช้จัดการกับบัญชีของผู้เสียชีวิต แต่ถ้าหากไม่มีผู้สืบทอดบัญชี และยังไม่ได้ถูกเก็บบัญชีเป็นอนุสรณ์เพราะยังไม่มีใครแจ้งกับทางระบบว่าเจ้าของบัญชีนี้เสียชีวิตไปแล้ว ก็อาจเป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเข้ามาแฮกบัญชีแล้วสวมรอยเป็นผู้เสียชีวิตได้
ที่มา: Facebook
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 22 พ.ค.65
Link : https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2398982