สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีเสรีภาพในการเคลื่อนกำลังทหารไปได้ทั่วโลก และมีฐานทัพรวมตลอดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารอื่นๆ อยู่หลายร้อยแห่งในหลายประเทศ ได้แสดงความวิตกกังวลอย่างมากต่อรายงานข่าวการปรับปรุงฐานทัพเรือเล็กๆ ที่จังหวัดพระสีหนุของกัมพูชา ว่าอาจจะเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของภูมิภาค และกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
พลเอก เตีย บัณห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กทางการของเขา (https://www.facebook.com/teabanh) ว่า ได้ร่วมกับ หวัง เหวินเทียน (Wang Wentian) เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เปิดการก่อสร้างเพื่อปรับปรุงท่าเรือสอมชต (Somchot) และโกดังที่ฐานทัพเรือเรียม (Ream) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางวิชาการและเทคนิคระหว่างสองประเทศ ในอันที่จะพัฒนากองทัพเรือ เพื่อประโยชน์ของความมั่นคงและมั่งคั่งตามกรอบความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
ในเพจดังกล่าวลงรูปภาพมากมายเกี่ยวกับพิธีเปิด ผู้ร่วมงานมีทั้งนายทหารของกัมพูชา เจ้าหน้าที่ของจีน และแขกรับเชิญที่เป็นทูตทหารจากต่างประเทศ เพื่อแสดงว่าทั้งสองชาติมีความโปร่งใส หลังจากที่มีรายงานข่าวเมื่อปี 2019 โดยหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ว่า กัมพูชาและจีนมีความตกลงลับๆ กัน โดยรัฐบาลปักกิ่งจะให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงฐานทัพเรือของกัมพูชา เพื่อให้เป็นฐานทางด้านยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลา 30 ปี และหนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ว่า ฐานทัพเรือของกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดตราดของไทยเพียง 200 กิโลเมตร จะเปิดให้เฉพาะกองทัพเรือจีนเท่านั้นเข้าใช้ประโยชน์
เตีย บัณห์ นายทหารอาวุโสชาวเกาะกงที่อยู่ในตำแหน่งมานาน ประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ไม่ควรมีใครต้องวิตกกังวลกับการปรับปรุงฐานทัพเรือแห่งนี้ เพราะมันมีขนาดเล็กมาก คงไม่สามารถเป็นภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงต่อประเทศใดได้ และเพื่อความโปร่งใส เตีย บัณห์ บอกว่าเขาได้เชิญผู้แทนของสหรัฐฯ และนักการทูตต่างประเทศให้เข้าร่วมพิธีวันนั้นและสำรวจฐานทัพแห่งนี้ด้วยตนเอง แต่หักมุมด้วยการสำทับด้วยว่า เมื่อการก่อสร้างและปรับปรุงแล้วเสร็จ มันก็จะกลายเป็นพื้นที่หวงห้ามทางทหาร ห้ามชาวต่างชาติเข้า
ภายใต้ความช่วยเหลือของจีน กองทัพกัมพูชามีแผนที่จะขยายท่าเรือในฐานทัพแห่งนี้ให้ใหญ่ขึ้น 5 เท่า เพื่อให้สามารถรองรับเรือที่มีขนาดระวางขับน้ำถึง 5,000 ตัน แม้ว่าจะไม่ใหญ่พอที่จะรองรับเรือพิฆาตแบบ 055 ติดขีปนาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ของจีนได้ก็ตาม แต่ก็เพียงพอที่จะรองรับเรือรบที่มีขนาดเล็กกว่านี้ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า จีนสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือแห่งนี้ของกัมพูชาได้ไม่น้อย
และเมื่อประสานกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารอื่นๆ ที่จีนสร้างบนหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้เมื่อราวๆ ทศวรรษที่ผ่านมา ก็จะทำให้จีนมีขีดความสามารถในการควบคุมเส้นทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือกัมพูชาน่าจะสร้างความวิตกกังวลให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีน่านน้ำติดกันอย่างไทยและเวียดนาม แต่เนื่องจากกัมพูชามีเพียงเรือตรวจการณ์เพียง 20 ลำไว้คอยลาดตระเวนเท่านั้น ไม่มีเรือรบ เรือพิฆาตหรือเรือดำน้ำใดๆ การมีฐานทัพเรือที่ใหญ่โตขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์อันดีกับจีน ย่อมหมายถึงแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค ที่อาจจะสร้างความไม่สบายใจให้กับประเทศที่กำลังขัดแย้งหรือมีปัญหาความตึงเครียดกับจีนมากกว่า
ในภูมิภาคอาเซียน เวียดนามและฟิลิปปินส์ คือประเทศที่มีปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีนโดยตรง แต่ทั้งสองชาติก็ยังไม่ได้มีเสียงในทำนองต่อต้านอย่างเข้มแข็ง ส่วนไทย แม้จะเคยมีปัญหาพิพาทเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา แต่ทั้งสองชาติที่เป็นคู่กัดกันมาตลอดนี้กลับมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และการทหาร อีกทั้งแผนการในการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนนั้น เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้จีนเข้าถึงฐานทัพเรือที่สัตหีบได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุอะไรให้ไทยต้องกังวลกับการปรากฏตัวของกองเรือจีนในฐานทัพเรือกัมพูชา มองในอีกแง่หนึ่งดูจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันด้วยซ้ำไป
ความวิตกกังวลส่วนใหญ่จึงดูเหมือนมาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ต้องการจะกีดกันและสร้างสมดุลกับจีนตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเสียมากกว่า
รายงานการพัฒนาการทางทหารของจีน ประจำปี 2021 ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า จีนเริ่มสร้างเครือข่ายการทูตความมั่นคง (defense diplomacy) ระดับโลกมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 โดยกองทัพอากาศจีนปฏิบัติการส่งมอบความช่วยเหลือในการกู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติให้กับประเทศที่ใกล้เคียงในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2002
ประจักษ์พยานเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น ช่วยเหลือการอพยพผู้ประสบภัยในลิเบียในปี 2015 ช่วยการค้นหาเครื่องบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ที่สูญหายในปี 2014 และเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 กองทัพอากาศจีนก็ปฏิบัติการลำเลียงความช่วยเหลือและเวชภัณฑ์ต่างๆ ไปยังหลายประเทศทั่วโลก เช่น อัฟกานิสถาน บรูไน พม่า อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ทาจิกิสถาน และไทย เป็นต้น
ส่วนกองเรือของกองทัพเรือจีนนั้น เริ่มออกเยือนประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2008 ไม่ว่าจะเป็นประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และลาตินอเมริกา
จีนส่งกองเรือดำน้ำไปปฏิบัติการในมหาสมุทรอินเดียเพื่อปกป้องเส้นทางผลประโยชน์ของจีนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว นอกเหนือไปจากการปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก ในปี 2015 กองทัพเรือจีนเข้าปฏิบัติการคุ้มครองภารกิจอพยพชาวจีนกว่า 600 คนจากอ่าวเอเดน เยเมน ไปจิบูติ และโอมาน นอกจากนี้จีนยังสร้างเครือข่ายส่งกำลังบำรุงและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับภารกิจทางทหารระดับโลกในหลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา และแทนซาเนีย
ทั้งหมดนั้นถือว่าเป็นการท้าทายต่อแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ โดยตรง สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นนับต่อจากนี้ไปคือ สหรัฐฯ จะต้องตอบสนองด้วยการเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงกับประเทศต่างๆ เพื่อควบคุมการเติบโตของจีนไม่ให้เป็นการท้าทายสหรัฐฯ มากเกินไป กล่าวแต่เฉพาะในกลุ่มอาเซียน รัฐบาลในวอชิงตันจะต้องโฟกัสที่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มากขึ้น
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 มิ.ย.65
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101638#aWQ9NjI1Mzk4YWE3OTdiMzkwMDEzMzBlNjVlJnBvcz0yJnJ1bGU9MQ==