เมื่อ 60 ปีก่อน มีกลุ่มนักโทษที่สามารถหลบหนีจากเรือนจำ ‘อัลคาทราซ’ คุกที่ได้ชื่อว่าหนีได้ยากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สหรัฐ ยังคงไม่ลดละความพยายามที่จะตามหาตัวคนเหล่านี้
ก่อนที่เรือนจำ ‘อัลคาทราซ’ จะกลายเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเรือนจำที่แทบจะตัดขาดจากโลกภายนอก ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางอ่าวซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย นักโทษที่คิดหลบหนีจากที่แห่งนี้แทบไม่มีโอกาสทำได้
กระนั้น ก็ยังมีผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่ง ที่สร้างประวัติศาสตร์การแหกคุกไว้ได้สำเร็จ กลายเป็นตำนานบทหนึ่งของวงการอาชญากรรม
นักโทษ 3 คนนั้นได้แก่ ‘แฟรงค์ มอร์ริส’ กับสองพี่น้อง ‘แคลเรนซ์ แองกลิน’ และ ‘จอห์น แองกลิน’ พวกเขาหลบหนีออกจากเกาะอัลคาทราซ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2505 และจนบัดนี้ก็ยังติดตามหาตัวทั้งสามคนไม่เจอ
แต่ก็ใช่ว่าทางการจะล้มเลิกความพยายามติดตามนักโทษแหกคุกเหล่านี้ ทางแผนกสืบสวนนักโทษหนีเขตแคลิฟอร์เนียเหนือ หน่วยราชทัณฑ์สหรัฐ เพิ่งเผยแพร่ภาพถ่ายที่ผ่านเทคนิคการแต่งภาพให้เข้ากับอายุจริงของชายทั้งสามคน ที่หลบหนีจากคุกบนเกาะที่มีชื่อเล่นว่า ‘เดอะ ร็อก’ ไปได้
กลุ่มนักโทษแหกคุกอัลคาทราซจากซ้ายไปขวา : แฟรงค์ มอร์ริส, จอห์น และ แคลเรนซ์ แองกลิน
ย้อนกลับไปช่วงที่ทั้งสามคิดหลบหนี จากการสืบสวนของทางการสหรัฐ พบว่าพวกเขาวางแผนมาก่อนวันหลับหนีถึง 6 เดือน โดยหลบหนีออกมาทางช่องลมและปล่องควันของอาคาร แต่ก่อนหน้านั้น พวกเขาได้สำรวจเส้นทางหลบหนีทางน้ำและเตรียมการสร้างแพเพื่อล่องผ่านทะเลโดยใช้เสื้อกันฝนเป็นวัสดุหลัก
ส่วนข้อเท็จจริงว่าพวกเขาสามารถล่องแพ ฝ่ากระแสน้ำมาขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะราว 2.4 กม. ได้สำเร็จหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาที่ขาดการยืนยันคำตอบ
ตามข้อมูลของสำนักสืบสวนกลางหรือเอฟบีไอ แฟรงค์ มอร์ริส ซึ่งจะมีอายุครบ 95 ปีในปีนี้ เดินทางมาถึงคุกอัลคาทราซในปี 2502 เขาต้องโทษคดีหลายคดี ซึ่งมีทั้งคดีปล้นธนาคาร ลักทรัพย์ และพยายามแหกคุกหลายแห่ง
จอห์น แองกลิน ซึ่งจะมีอายุครบ 92 ปีในปีนี้ มารับโทษที่อัลคาทราซหลังจาก มอร์ริส แต่ยังเป็นปีเดียวกัน ขณะที่ แคลเรนซ์ แองกลิน ซึ่งเป็นน้องชายของ จอห์น มาเข้าคุกที่อัลคาทราซในปี 2503
ทั้งสามคนต่างมีประวัติว่า เคยพยายามแหกคุกมาก่อนหน้านี้ และเมื่อได้อยู่ห้องขังที่ติดกัน พวกเขาจึงรวมหัวกันวางแผนเพื่อหลบหนี มอร์ริส ได้ชื่อว่าเป็นมันสมองของกลุ่ม เขาจึงรับหน้าที่เป็นผู้นำและเป็นคนวางแผนทั้งหมด
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2505 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเรือนจำกะเช้า พบหัวหุ่นที่ทำจากปูนพลาสเตอร์และเส้นผมของมนุษย์บนเตียงของนักโทษทั้งสาม ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้ตบตาเจ้าหน้าที่กะกลางคืน
ยังมีนักโทษอีกคนหนึ่งคือ ‘อัลเลน เวสต์’ ซึ่งร่วมวางแผนหลบหนีด้วย แต่เขาออกจากห้องขังของตัวเองไม่ได้เพราะไม่สามารถเปิดช่องลมที่ในห้องได้สำเร็จ และต่อมาเขาก็เป็นผู้ให้ข้อมูลของแผนการหลบหนีแก่เจ้าหน้าที่สืบสวน
พวกเขาวางแผนกันอย่างระมัดระวังตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2504 โดยแอบจัดหาและซุกซ่อนใบเลื่อยเก่า ๆ และเครื่องมืออื่น ๆ ไว้ในช่องลมประจำห้องขังของพวกเขา มอร์ริส และพวกยังเคยลอบออกไปทางช่องลม เพื่อไปสำรวจพื้นที่ที่ไม่มีการจัดเวรยามคอยเฝ้า ทำให้พวกเขาพบเส้นทางหลบไปยังบริเวณหลังคาอาคารได้ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้สร้างอุปกรณ์ในการหลบหนี และใช้สำรวจเวรยามของเจ้าหน้าที่ด้วยกล้องส่องทางไกลที่ทำกันขึ้นมาเอง
กลุ่มผู้หลบหนียังสร้างแพเพื่อล่องทะเลจากเสื้อกันฝนกว่า 50 ตัว และแกะไม้พายขึ้นเองอีกด้วย เจ้าหน้าที่สืบสวนเชื่อว่า ในคืนที่พวกเขาหลบหนี ทั้งสามได้กลับไปที่บริเวณหลังคาตึก แล้วจึงไต่ไปตามปล่องควันของห้องเบเกอรี่และตรงไปยังด้านหลังของเรือนจำ
จากนั้น พวกเขาก็ปีนรั้วออกมาและมุ่งหน้าตรงไปยังชายหาดและหลบหนีลงทะเลโดยอาศัยแพที่ต่อขึ้นเอง เพื่อไปขึ้นฝั่งของทางแผ่นดินใหญ่
สองวันต่อมา ทีมสืบสวนก็พบชิ้นส่วนของไม้พายและเศษยางที่มีลักษณะเป็นหลอดยาวตกค้างอยู่ในทะเล แล้วยังมีชิ้นส่วนของห่วงยางแบบทำเองที่โดนซัดเข้าหาฝั่งที่ชายหาดครองไคต์ในเขตมาริน เคาน์ตี
นับตั้งแต่วันที่ทั้งสามหลบหนี ก็ไม่มีใครได้พบพวกเขาอีกเลย และไม่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขารอดชีวิตจากกลางทะเลไปได้หรือไม่
ความเชื่อว่า นักโทษทั้งสามหนีรอดไปได้สำเร็จ ได้กลับมาเป็นกระแสในปี 2561 เมื่อมีการกล่าวอ้างถึงจดหมายฉบับจากปี 2556 ที่เชื่อว่าเขียนโดย จอห์น แองกลิน ปรากฏขึ้น เนื้อความในจดหมายระบุว่า จอห์น เป็นคนเขียนจดหมายฉบับนี้เอง เขาและน้องชาย รวมทั้ง มอร์ริส ได้หลบหนีจากคุกอัลคาทราซได้สำเร็จ แม้ว่าเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด และตอนนี้เขากำลังป่วยเป็นโรคมะเร็ง
จดหมายถูกส่งต่อไปยังกรมตำรวจซานฟรานซิสโก ซึ่งทำให้เอฟบีไอต้องเปิดคดีขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ปิดคดีไปแล้วเมื่อปี 2522 จากนั้นก็ส่งต่อให้กรมราชทัณฑ์สหรัฐ
เนื้อหาในจดหมายยังมีการยื่นข้อเสนอให้ทางการประกาศผ่านสื่อโทรทัศน์ โดยมีเงื่อนไขว่า หากทางการยอมให้ เขา (จอห์น แองกลิน) ติดคุกไม่เกิน 1 ปี และสามารถเข้ารับการรักษาโรคร้าย เขาจะเขียนจดหมายไปบอกเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่าเขาอยู่ที่ไหน โดยย้ำว่าเขา “ไม่ได้พูดเล่น”
ทางเอฟบีไอไม่สามารถยืนยันได้ว่าจดหมายดังกล่าวเป็นของจริง แต่หลานชายของ แองกลิน ก็ออกมายืนยันว่า แม่ของเขาเคยได้รับดอกไม้ในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากที่ แองกลิน หลบหนีออกมาได้ ซึ่งทุกครั้งที่มีดอกไม้มาส่ง จะมีการ์ดที่ลงชื่อว่า จอห์น และ แคลเรนซ์ แองกลิน แนบมาด้วย
นอกจากนี้ยังมีญาติคนอื่น ๆ อ้างว่า มีภาพถ่ายของสองพี่น้องตระกูลแองกลินในประเทศบราซิล ซึ่งถ่ายไว้เมื่อปี 2518
สำหรับทฤษฎีอื่น ๆ เกี่ยวกับนักโทษแหกคุกกลุ่มนี้ก็คือ ‘คำสารภาพก่อนตาย’ ของชายคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการหลบหนีของนักโทษทั้งสาม เขาได้เล่าให้นางพยาบาลคนหนึ่งฟังว่า เคยพบนักโทษหนีคุกกลุ่มนี้กลางทะเล ใกล้กับเกาะอัลคาทราซ โดยทุกคนถูกทิ้งไว้บนเรืออีกลำหนึ่ง
เรื่องเล่านี้ตรงกับรายงานของ ‘โรเบิร์ต เชคชี’ นายตำรวจซานฟรานซิสโกที่ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอว่า เขาพบเรือแปลก ๆ ลำหนึ่งที่ปิดไฟมืดหมดในทะเล เป็นเรือสีขาวเก่า ๆ แต่หลังจากที่ลอยลำเงียบ ๆ ท่ามกลางความมืดสักพักหนึ่ง เรือลำนั้นก็เปิดไฟและแล่นออกไป
ห้องขังจำลองของแฟรงค์ มอร์ริส
ปัจจุบัน เรือนจำบนเกาะอัลคาทราซไม่มีการใช้งาน และกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญของซานฟรานซิสโก โดยมีการจำลองห้องขังของ แฟรงค์ มอร์ริส ไว้ให้ชมกันอีกด้วย.
แหล่งข้อมูล : oxygen.com
เครดิตภาพ : Getty Images, U.S. Marshal
———————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 มิ.ย.65
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/1184841/