ในความเป็นจริง การรู้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ของเหยื่อถูกแฮกหรือไม่นั้น ค่อนข้างตรวจสอบยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะป้องกันการโจมตีจาก Zero-click
หลังจากสัปดาห์ที่แล้วผมได้พูดถึงหลักการวิธีการโจมตีและเหตุการณ์การโจมตีแบบ Zero-click ที่เกิดขึ้นกันแล้ว วันนี้ผมขอพูดถึงวิธีตรวจจับเพื่อลดการ โจมตีแบบ Zero-click ในโลกยุคดิจิทัลนี้
ในความเป็นจริงแล้ว การรู้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ของเหยื่อถูกแฮกหรือไม่นั้น มันค่อนข้างตรวจสอบยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะป้องกันการโจมตีจาก Zero-click ดังนั้นวิธีการที่น่าจะพอมีประสิทธิภาพคือให้เป้าหมายเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมด อัปเดตอุปกรณ์ มีรหัสผ่านที่รัดกุม
ทั้งนี้ผู้ใช้งานยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงการถูกสอดแนมด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ รีสตาร์ทโทรศัพท์เป็นระยะ เพราะจะทำให้เพกาซัส (Pegasus) หยุดทำงานบน iOS ใน iPhone ชั่วคราวได้ แต่ข้อเสียของการรีบูตอุปกรณ์อาจจะลบสัญญาณที่มีการติดเชื้อ ทำให้นักวิจัยตรวจสอบได้ยากขึ้นว่าอุปกรณ์ตกเป็นเป้าหมายของ Pegasus หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานควรหลีกเลี่ยงการเจลเบรกอุปกรณ์ของตน เนื่องจากจะลบระบบการควบคุมความปลอดภัยบางส่วนที่มีอยู่ในเฟิร์มแวร์ออกและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบบนอุปกรณ์ที่เจลเบรกได้ วิธีนี้ทำให้ผู้โจมตีสามารถติดตั้งโค้ดที่มีช่องโหว่ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการโจมตีแบบ Zero-click นอกจากนั้น การดูแลรักษาระบบรักษาความปลอดภัยภายในให้มีประสิทธิภาพก็ช่วยได้
โดยเริ่มจากการแบ่งกลุ่มเครือข่าย แอปพลิเคชัน และผู้ใช้งาน การใช้การรับรองความถูกต้องแบบหลายปัจจัย การใช้การตรวจสอบการรับส่งข้อมูลที่เข้มงวด ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดี และการวิเคราะห์ความปลอดภัยขั้นสูงอาจพิสูจน์ได้ว่าสามารถชะลอหรือลดความเสี่ยงในสถานการณ์เฉพาะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายระดับสูงควรแยกข้อมูลและมีอุปกรณ์สำหรับการสื่อสารที่มีความละเอียดอ่อนเท่านั้น ผู้ใช้งานควรเก็บข้อมูลจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในโทรศัพท์
องค์กรต่างๆ เช่น Amnesty และ Citizen Lab ได้ให้คำแนะนำกับผู้ใช้งานให้เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนขกับ PC และตรวจสอบเพื่อดูว่าติด Pegasus หรือไม่ ซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับสิ่งนี้ คือ Mobile Verification Toolkit อาศัยตัวบ่งชี้ เช่น favicon ที่แคชไว้และ URL ที่แสดงอยู่ในข้อความ SMS ผู้ใช้งานไม่ต้องเจลเบรกอุปกรณ์เพื่อเรียกใช้เครื่องมือนี้
นอกจากนี้ Apple และ WhatsApp ต่างก็ส่งข้อความถึงผู้ที่อาจตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีแบบ Zero-click ที่มีเป้าหมายเพื่อติดตั้ง Pegasus หลังจากนั้น บางคนก็ติดต่อกับองค์กรต่างๆ
เช่น Citizen Lab เพื่อวิเคราะห์อุปกรณ์ของตนเพิ่มเติม แต่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ European Digital Rights (EDRi) และองค์กรอื่นๆ เรียกร้องให้ระงับการใช้งาน การขาย และการถ่ายโอนเทคโนโลยีการเฝ้าระวังในทั่วโลก จนกว่าจะมีกรอบการกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมจากการใช้เครื่องมือเหล่านี้ในทางที่ผิด
สำหรับนโยบายเรื่องนี้ควรจะต้องครอบคลุมประเด็นต่างๆ ของปัญหา ตั้งแต่การควบคุมการส่งออกไปจนถึงการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นสำหรับบริษัทต่างๆ ซึ่งต้องยุติการละเมิดที่แพร่หลายเหล่านี้ก่อนด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 6 มิ.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/1008455