สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยืนยันห้างร้าน ภาคธุรกิจ ติดกล้องวงจรปิด ถ้าป้องกันอาชญากรรม และความปลอดภัย ไม่ต้องขอความยินยอม แต่ต้องติดป้ายแจ้งเตือน และใช้อย่างระมัดระวัง
วันนี้ (6 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก PDPC Thailand ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โพสต์ข้อความชี้แจงข้อเท็จจริง การใช้กล้องวงจรปิดและ PDPA กรณีห้างร้าน ภาคธุรกิจ จากคำถามที่ว่า หากไม่แจ้งเตือน หรือไม่ได้รับการยินยอม ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 หรือ PDPA หรือไม่?
ยืนยันว่า การใช้กล้องวงจรปิดไม่ต้องขอความยินยอม กรณีใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย อาทิ ใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ต้องแจ้งเตือนเจ้าของข้อมูล ตลอดจนเก็บและใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ให้มีการใช้อย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การเตือนเรื่องกล้องวงจรปิด และประกาศคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการใช้กล้องวงจรปิด เป็นการแนะนำ อาจปรับเปลี่ยนตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ และข้อมูลที่เปลี่ยนไป
มาตรา 24 (5) ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือ บุคคล หรือ นิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่ ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
ตัวอย่าง การเตือนเรื่องกล้องวงจรปิด และการประกาศคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการใช้กล้องวงจรปิด (เพื่อนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม)
1. การเตือน บริเวณนี้มีการบันทึกภาพ ด้วยกล้องวงจรปิด ไม่จำเป็นต้องติดทุกจุดที่มีกล้อง หากสภาพไม่สามารถทำได้ แนะนำให้มีการเตือน ทุกทางเข้าสู่บริเวณ
2. ประกาศคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการใช้กล้องวงจรปิดไม่จำเป็นต้องติดทุกจุดที่มีกล้อง หรือทุกจุดที่มีการเตือนตามป้ายโดยอาจจะใช้ QR หรือประกาศฯ ฉบับเต็มติดไว้บางที่ และเก็บไว้พร้อมให้ตรวจสอบ
การแจ้งเตือนด้วยป้ายสัญลักษณ์ “บริเวณนี้มีการบันทึกภาพด้วยกล้องวงจรปิด”
การแจ้งเตือนด้วยการใช้ QR ลิงก์ไปยังประกาศฯ
ตัวอย่างประกาศคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการใช้กล้องวงจรปิด
วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
ㆍบริษัทบันทึกและจัดเก็บข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณอาคารและสถานที่ เพื่อวัตถุประสงค์ใน
การป้องกันเหตุอันตราย และการกระทำผิดกฎหมายอันอาจเกิดขึ้น ในบริเวณที่ทำการของบริษัทฯ รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทอาจมีการใช้ และ เผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคคล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการใช้ข้อมูลดังกล่าว
ฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ㆍ ความจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัทหรือ บุคคลอื่น โดยประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน
ㆍความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลที่เก็บและระยะเวลาการเก็บ
ㆍเก็บรวมรวมข้อมูลภาพ จากกล้องวงจรปิด และทำการเก็บใช้และเผยแพร่ ตามวัตถุประสงค์ไม่เกิน 90 วัน
สิทธิของเจ้าของข้อมูล :
ท่านสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ตามช่องทางต่อไปนี้
– ชื่อผู้ติดต่อ
– ชื่อองค์กร
– ที่อยู่องค์กร
– โทรศัพท์
– อีเมล
ส่วนข้อเท็จจริงการใช้กล้องวงจรปิด และ PDPA (กรณีใช้ประโยชน์ส่วนตัว)
1. ติดกล้องวงจรปิดในรถยนต์ส่วนตัวไม่มีป้ายแจ้งเติอนผิด PDPA?
ตอบ : กรณีการติดกล้องวงจรปิดของรถยนต์ส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของรถ
2. ติดกล้องวงจรปิดจับภาพบริเวณบ้านพักอาศัยไม่มีป้ายแจ้งเตือน ผิด PDPA?
ตอบ : กรณีการติดกล้องวงจรปิดจับภาพบริเวณบ้านพักอาศัย ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภับกับตัวเจ้าของบ้าน
ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไปด้วย
มาตรา 4 (1) ไม่ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ทำการเก็บนรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 มิ.ย.65
Link : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000053582