“คนอเมริกันแปลกใจญี่ปุ่นแทบไม่มีความรุนแรงเกี่ยวกับปืนเลย และที่น่าแปลกใจกว่านั้นก็คือ ญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากกฎหมายอาวุธปืนที่สหรัฐฯ ควบคุมเข้มงวดตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง”
ซีบีเอสนิวส์ รายงาน (6 มิ.ย.) ในขณะที่การอภิปรายเรื่องการควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐฯ กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ชาวอเมริกันบางคนกำลังมองหาแนวคิดที่จะป้องกันการกราดยิงในประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นมีอัตราความรุนแรงจากอาวุธปืนต่ำที่สุดในโลก ในปี 2019 สหรัฐอเมริกา มีอัตราการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืน สัดส่วน 4 คน/ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับเกือบศูนย์ในญี่ปุ่น
ล่าสุดข้อมูลจาก worldpopulationreview พบว่า ในปี 2022 นี้ ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน 40,175 คน หรือสัดส่วน 12.21 ต่อประชากรแสนคน
CBS News รายงานว่า กฎหมายที่เข้มงวดของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนส่วนตัวมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ครั้งสหรัฐอเมริกาเข้าควบคุมประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
กฎหมายควบคุมการครอบครองอาวุธปืนและดาบ (銃砲刀剣類所持等取締法) นี้เป็นกฎหมายของญี่ปุ่นปี 1958 ที่เกี่ยวกับอาวุธปืน (และชิ้นส่วนอาวุธปืน/กระสุน) และอาวุธที่มีใบมีด ได้ตราพระราชบัญญัติขึ้นในปี 1958 และแก้ไขหลายครั้ง
พื้นหลังเดิมนั้นการควบคุมปืนและดาบเริ่มขึ้นในญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ภายใต้การนำของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ เพื่อปลดอาวุธชาวนาและควบคุมการลุกฮือต่อต้านการปกครอง ตั้งแต่นั้นมา การควบคุมปืนก็เข้มงวดมากขึ้นสำหรับพลเรือน นำไปสู่การแก้ไขและกฎหมายใหม่จำนวนมากในช่วงการฟื้นฟูเมจิ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นถูกปลดอาวุธโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายควบคุมการครอบครองดาบและอาวุธปืนในปี 1958 เพื่อป้องกันการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ
กฎหมายฉบับแรกมีผลบังคับใช้ในปี 1958 โดยมีวัตถุประสงค์ “…กฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับการป้องกันอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองและการใช้อาวุธปืนและดาบ” กฎระเบียบและข้อห้ามส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการครอบครอง การใช้งาน การนำเข้า การปล่อย การขนส่ง การรับ และการขายอาวุธปืนและชิ้นส่วนอาวุธปืน รวมถึงระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อขออนุญาตมีปืน แต่ยังคงข้อจำกัดในอดีตเกี่ยวกับดาบและอาวุธมีดอื่นๆ ปืนพกเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด
กฎหมายได้รับการแก้ไขหลายครั้งเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปืน การแก้ไขครั้งสำคัญรวมถึงการเพิ่มการห้ามนำเข้าและเพิ่มอายุในการเป็นเจ้าของปืนไรเฟิลล่าสัตว์ในปี 1965 และข้อจำกัดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับปืนลูกซองและมีดสั้นที่มีความยาวเกินกว่า 5.5 ซม. ในปี 2008
เนื่องจากการควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด จึงมีเพียงไม่กี่คนในญี่ปุ่นที่เป็นผู้ครอบครองอาวุธปืนได้ ส่งผลทางสังคมให้อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับปืนต่ำมาก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปีที่มีผู้เสียชีวิตจากปืนมากที่สุดคือ 39 คนในปี 2001 และมีเพียง 4 คนในปี 2009
ทัศนคติคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่พิศมัยในการครอบครองอาวุธปืน การรับรู้สาธารณชนคือปืนคืออาวุธอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการควบคุม
สถานีตำรวจเอง แม้มีปืนแต่ก็เก็บไว้ในตู้ล็อกกุญแจ และตำรวจไม่ค่อยได้ใช้ แม้แต่ในระหว่างการจลาจล ตำรวจญี่ปุ่นพกปืนลูกโม่ประจำกาย แต่ก็แทบไม่ใช้มัน มิหนำซ้ำ ปืนที่ใช้กันในหมู่ตำรวจก็เป็นปืนรุ่นเก่าเสียส่วนใหญ่ เช่น ปืนลูกโม่ NAMBU MODEL 60
นอกจากตำรวจและกองทัพแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดในญี่ปุ่นซื้อปืนพกหรือปืนไรเฟิล นักล่าและมือปืนยิงเป้าอาจมีปืนลูกซองและปืนลมภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดอย่างเคร่งครัด และใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี กฎหมายปืนมีความครอบคลุมมากจนแม้แต่การครอบครองปืนพกของสตาร์ทเตอร์ (ที่ใช้ให้สัญญาณในกีฬากรีฑา) ก็ต้องได้รับอนุญาตภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอย่างระมัดระวังเท่านั้น
อัตราการเกิดอาชญากรรมของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ เพราะการปฏิบัติตามในญี่ปุ่นมีมากขึ้นกว่าในอเมริกา จิตสำนึกที่สอดคล้องกับกฎหมาย จึงเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำของญี่ปุ่น ซึ่งก็ยิ่งสนับสนุนเหตุผลว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงยอมรับการควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด
ตรงข้ามกับการห้ามปืนในอเมริกาที่มีวัฒนธรรมการใช้ปืนมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ เกือบ 300 ปี กฎหมายปืนในญี่ปุ่นจึงมีพื้นฐานขัดแย้งกับวัฒนธรรมเสรีภาพของอเมริกา
พลเรือนญี่ปุ่นจะเผชิญอุปสรรคต่างๆ มากในการขอใบอนุญาตพกปืน ต้องผ่านการฝึกอบรม ผ่านการสอบข้อเขียน การประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจ ถึงอย่างนั้นตำรวจก็จะตรวจประวัติ สอบถามครอบครัวและเพื่อนของผู้นั้นว่า มีแนวโน้มพฤติกรรมที่จะใช้ความรุนแรงหรือไม่ ขั้นตอนต่างๆ ถึง 13 ขั้นตอน ต้องใช้เวลาหนึ่งปีกว่าจะได้ใบอนุญาต (ขณะที่ในสหรัฐฯ มีเพียง 2 ขั้นตอน คนอเมริกันก็สามารถครอบครองอาวุธ)
ร้านขายปืนโอซาวะในโตเกียวจะเปิดเฉพาะในช่วงบ่ายเท่านั้น และมีปืนเพียง 3 ประเภทที่พลเรือนสามารถเป็นเจ้าของได้ในญี่ปุ่น คือ ปืนล่าสัตว์ ปืนสั้น และปืนลมสั้น
ยังมีการควบคุมที่เข้มงวดมากเกี่ยวกับกระสุนที่พลเรือนสามารถซื้อได้ เมื่อเจ้าของปืนหมดกระสุน จะซื้อเพิ่มต้องมีใบอนุญาตจากตำรวจอย่างชัดแจ้ง
คนญี่ปุ่นต่างกับคนอเมริกัน ที่สนับสนุนกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ซึ่งทำให้แทบไม่มีความรุนแรงจากปืนเลยในประเทศญี่ปุ่น
สื่อต่างๆ ในอเมริกันจึงรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องย้อนแย้ง ที่อเมริกาใช้กฎหมายควบคุมอาวุธกับคนในประเทศญี่ปุ่น และมีอานิสงส์ในทางที่ดีชัดเจนจากกฎหมายปืนที่เข้มงวด แต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนี้ในสหรัฐฯ กับคนอเมริกัน
จนถึงทุกวันนี้ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากปืนในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องห่างไกลตัวมาก ขณะที่ในอเมริกานั้นกำลังจะกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 7 มิ.ย.65
Link : https://mgronline.com/japan/detail/9650000053944