ห้องเรียนออนไลน์ไม่ปลอดภัย เมื่อกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) แอบติดตามข้อมูลเด็กโดยมิชอบ และขายให้กับอุตสาหกรรมโฆษณา
กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อฮิวแมนไรท์วอท์ช (Human Rights Watch) องค์กรรณรงค์ระหว่างประเทศได้เผยแพร่ผลการสอบสวนบริการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) ที่มีนักเรียนหลายล้านคนเข้าร่วมการเรียนรู้เสมือนจริงเพราะไม่สามารถไปโรงเรียนได้ในช่วงของการระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งดำเนินการสอบสวนในช่วง มี.ค. – ส.ค. 2021 พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมออนไลน์ของนักเรียนถูกติดตามผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์เพื่อการศึกษาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพวกเขา และในหลายกรณีมีการแชร์ข้อมูลให้กับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อการโฆษณาด้วย
พบว่า EdTech กว่า 146 ผลิตภัณฑ์ จาก 164 บริการ หรือกว่า 89% ใน 49 ประเทศที่ถูกตรวจสอบ มีส่วนร่วมในแนวทางปฏิบัติด้านข้อมูลที่ “ละเมิดสิทธิเด็ก” หรือ “มีความเสี่ยง” ต่อการเฝ้าติดตามและรวบรวมการใช้ข้อมูลของเด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว หรือผู้ปกครอง เช่น ตัวตน ตำแหน่ง กิจกรรม และพฤติกรรมออนไลน์ของพวกเขา รวมถึงข้อมูลเด็ก ครอบครัว และเพื่อน
ฮึน จังฮัน (Hye Jung Han) นักวิจัยด้านสิทธิเด็กและเทคโนโลยีของ Human Rights Watch กล่าวว่า “เด็ก พ่อแม่ และครูส่วนใหญ่ ถูกผูกมัดด้วย EdTech แม้ว่าพวกเขารู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น แต่พวกเขาไม่มีทางเลือก เด็ก ๆ ต้องจ่ายค่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วยความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องขาดเรียนและออกจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19”
ฮัน กล่าวว่า แอปฯและเว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่ตรวจสอบโดย Human Rights Watch ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กไปยัง Google และ Facebook ซึ่งทั้งสองถือครองตลาดโฆษณาดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ด้านโฆษกของ Meta บริษัทแม่ของ Facebook อธิบายว่า บริษัทมีนโยบายเกี่ยวกับวิธีที่ธุรกิจสามารถแบ่งปันข้อมูลเด็กและข้อจำกัด ในการโฆษณาว่าสามารถกำหนดเป้าหมายผู้เยาว์ได้อย่างไร ในขณะที่โฆษกของ Google ระบุว่า ต้องการให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และลูกค้าปฏิบัติตามการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว และห้ามไม่ให้โฆษณาส่วนบุคคลหรือการตลาดมุ่งเป้าไปที่บัญชีของผู้เยาว์
“เรากำลังตรวจสอบข้อเรียกร้องของรายงานเฉพาะ และจะดำเนินการตามความเหมาะสม หากเราพบว่ามีการละเมิดนโยบาย” โฆษก Google กล่าว
รายงานดังกล่าวของ Human Rights Watch ถูกแชร์ให้กับสำนักข่าวต่าง ๆ มากกว่า 12 แห่ง รวมถึง The Washington Post, The Globe and Mail และ El Mundo
อัลเบิร์ต ฟ็อกซ์ คาห์น (Albert Fox Cahn) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารโครงการเฝ้าระวังและกำกับดูแลเทคโนโลยี (Surveillance Technology Oversight) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU School of Law) กล่าวว่า ผลการวิจัยได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลในหมู่คนหนุ่มสาว ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากฝ่ายนิติบัญญัติเกี่ยวกับผลกระทบของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่มีต่อวัยรุ่น
“เรารู้อยู่แล้วว่าเทคโนโลยีกำลังถูกใช้ในทางที่ผิดและทำให้เด็กๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง แต่รายงานนี้มีความสำคัญจริงๆ เพราะมันแสดงให้เห็นระดับของอันตรายและความผิดพลาดแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นโดยนักการศึกษาและรัฐบาลทั่วโลก” คาห์น กล่าว
ภายใต้กฎหมาย พรบ.สิทธิการศึกษาของครอบครัวและความเป็นส่วนตัว (Family Educational Rights and Privacy Act) ของสหรัฐอเมริกา มีนโยบายที่จะให้การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในวงกว้างสำหรับบันทึกการศึกษาของนักเรียนและปกป้องพวกเขาจากการติดตามออนไลน์ที่เป็นการบุกรุก
“แต่โรงเรียนและบริษัทเทคโนโลยีกำลังหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เราควรมี ซึ่งทำให้ผู้โฆษณาติดตามนักเรียนและผู้เยาว์ทางออนไลน์ได้ยากขึ้น แพลตฟอร์มที่ผ่านช่องโหว่ทำให้นักเรียนกลายเป็นบุคคลที่ถูกสอดส่องมากที่สุดในโลก” คาห์น กล่าว
จอห์น เดวิสสัน (John Davisson) ผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินคดีและที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์ข้อมูลความเป็นส่วนตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Privacy Information Center) เรียกปัญหานี้ว่า “ความล้มเหลวด้านกฎระเบียบ บริสุทธิ์ และเรียบง่าย” และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (Federal Trade Commission: FTC) เมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อเตือนกลุ่ม EdTech เกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็ก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว FTC ได้ประกาศแผนการปราบปรามบริษัทต่าง ๆ ที่แอบส่องข้อมูลเด็กอย่างผิดกฎหมายระหว่างการเรียนออนไลน์ “นักเรียนต้องสามารถทำการบ้านได้โดยไม่ต้องถูกเฝ้าสังเกตโดยบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการเก็บเกี่ยวข้อมูลเพื่อเสริมผลกำไร” ซามูเอล เลวีน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองผู้บริโภคของ FTC กล่าวในแถลงการณ์ พร้อมเสริมด้วยว่า “พ่อแม่ไม่ควรต้องเลือกระหว่างความเป็นส่วนตัวของลูกกับการมีส่วนร่วมในห้องเรียนดิจิทัล”
บาร์ธ วิลเลมเซน (Bart Willemsen) นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการ์ธเนอร์ (Gartner) ซึ่งเน้นเรื่องความเป็นส่วนตัว กล่าวว่า โรงเรียนและผู้ให้บริการด้าน EdTech ควรมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องโปร่งใสอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอาจทำกับข้อมูล มีการควบคุมโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการใช้งาน และระบุสาเหตุ ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นเลย
“ข้อมูลต้องมีจุดประสงค์ แต่ไม่ใช่เพื่อการโฆษณา พ่อแม่และผู้ปกครองต้องเข้ามามีบทบาท เสียงของพวกเขาคือการกระทำที่แข็งแกร่งที่สุดของพวกเขา ต้องส่งเสียงให้ EdTech ได้ยิน” วิลเลมเซน กล่าว เพราะการรวบรวมข้อมูลประเภทนี้อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อประวัติดิจิทัลของบุตรหลาน เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ถูกลบไปโดยง่าย
—————————————————————————————————————————-
ที่มา : Spring news / วันที่เผยแพร่ 31 พ.ค.65
Link : https://www.springnews.co.th/news/825275