วันที่ 14 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า วัยรุ่นออสเตรเลีย ถูกตั้งข้อหามีความผิดเกี่ยวกับปืน หลังตำรวจยึดอาวุธปืนที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งวัยรุ่นอ้างทำที่บ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
ดาบตำรวจแบลร์ สมิธ ถืออาวุธปืนที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ยึดได้ Credit: Nic Ellis
ตำรวจในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียพบอาวุธปืนดังกล่าว และอาวุธปืนอื่นๆ จำนวนมาก หลังออกหมายค้นที่บ้านหนุ่มวัย 18 ปี ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.
ดาบตำรวจแบลร์ สมิธ บอกผู้สื่อข่าวว่า “อาวุธปืนนี้ แม้จะคล้ายของเล่น แต่มีความสามารถที่จะก่ออันตรายร้ายแรงภายในชุมชนของเรา เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า ผู้ชายคนนี้สามารถผลิตอาวุธปืนนี้ได้ที่บ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และวัสดุหาง่าย”
ไนน์นิวส์ โทรทัศน์ออสเตรเลีย รายงานว่า อาวุธปืนพลาสติกดังกล่าวสามารถยิงกระสุนปืนได้ 15 ลูก ด้วยการเหนี่ยวไก 1 ครั้ง ตำรวจอ้างว่าใช้เวลา 2 วัน ในการผลิตด้วยวัสดุที่มีต้นทุนต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (เกือบ 1,000 บาท)
วัยรุ่นคนดังกล่าวถูกตั้งข้อหามีความผิดเกี่ยวกับปืน รวมถึงการผลิตที่ไม่มีใบอนุญาตซึ่งอาวุธปืนและกระสุนปืน และครอบครองอาวุธต้องห้าม และมีกำหนดขึ้นศาลสัปดาห์หน้า
เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย เสนอเปลี่ยนกฎหมายปืนเพื่อทำให้การผลิตอาวุธปืนพลาสติกจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ผิดกฎหมาย ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าว โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี จะบังคับใช้กับทุกคนที่ถูกจับได้ว่ามีแผนหรือคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการผลิต
ทั้งนี้ ในออสเตรเลีย พลเรือนห้ามครอบครองอาวุธอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และการเป็นเจ้าของปืนอื่นๆ ต้องได้รับการควบคุมและจำกัดอย่างเข้มงวดกับผู้มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่มีใบอนุญาตถูกต้อง กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ในปี 2539 หลังกรณีที่มือปืนเปิดฉากยิงนักท่องเที่ยวที่พอร์ตอาเธอร์ อดีตเรือนจำอาณานิคมในรัฐแทสเมเนีย คร่าชีวิตไป 35 ราย
การสังหารหมู่ดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวต่อชาวออสเตรเลีย และรัฐบาลเร่งรัดกฎว่าด้วยการเป็นเจ้าของอาวุธปืนเข้มงวดยิ่งขึ้น มีการออกนิรโทษกรรมปืนเพื่อให้คนส่งมอบปืนที่สถานีตำรวจในท้องที่โดยไม่เปิดเผยตัวและไร้โทษ และเมื่อรวมแผนการซื้อคืนปืน ทำให้ปืนราว 640,000 กระบอก ออกจากการจำหน่าย
ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมระยะสั้น คนส่งมอบปืนราว 57,000 กระบอก ในเวลาเพียง 3 เดือน ระหว่างนิรโทษกรรมระดับชาติครั้งล่าสุดในปี 2560 และเมื่อเดือนก.ค.2564 นิรโทษกรรมปืนระดับชาติกลายเป็นเรื่องถาวร
ออสเตรเลียถือเป็นตัวอย่างวิธีการควบคุมปืนอย่างเด็ดขาดในการลดการเสียชีวิตจากอาวุธปืน การกราดยิงครั้งล่าสุดในออสเตรเลียเกิดขึ้นในปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 7 คน ในเมืองเพิร์ธ รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย นับเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่สุดในออสเตรเลียในรอบ 22 ปี และอัตราฆาตกรรมด้วยปืนของออสเตรเลียต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา 33 เท่า ตามข้อมูลจากเว็บไซต์นโยบายเกี่ยวกับปืน
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 มิ.ย.65
Link : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_7110188