เห็นข่าว ส.ส.บางคนตั้งคำถามในทำนองว่า ตชด. (ตำรวจตะเวนชายแดน ) มีไว้ทำไม ผู้ถามจะความมุ่งหมายที่จะสื่อความหมายทำนองนี้หรือไม่ แต่คนฟังเข้าใจทำนองนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำงานร่วมกับ ตชด.ในหลายโอกาสทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่จะทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของ ตชด.
ในการพิจารณางบประมาณประจำปีในปีก่อน ๆ ไม่มีข่าวที่กระทบต่องบประมาณ หรือมีการเอ่ยถึง ตชด. แต่ปีนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษที่ผิดปกติ ไม่ใช่ว่า ตชด.เป็นหน่วยงานที่แตะต้องไม่ได้ แต่คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไม
มองในแง่ดีก็คือ ผู้ตั้งประเด็นอาจมองไม่เห็นความสำคัญของ ตชด. และคิดว่าคงเป็นหน่วยตำรวจปกติธรรมดา ก็ควรปรับให้เป็นตำรวจปกติเสียเลย หรืออาจเห็นว่า บทบาทของ ตชด.เปลี่ยนไปจากสมัยที่มีการแทรกซึม ต่อสู้กับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ เวลานี้ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ควรยุบเลิก ตชด.เสีย นี่เป็นการมอง ส.ส.คนนั้นในแง่ดี
แต่ที่คนพูดกันมากก็คือ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีการจับกุมแกนนำม็อบ หรือผู้ก่อความวุ่นวายจำนวนมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งมาควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ซี่งอยูที่คลอง 5 เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี การที่ม็อบจะว่ายน้ำข้ามกลองบุกเข้าไปหรือขว้างปาสิ่งของเหมือนกับที่กระทำต่อสถานีตำรวจทั่วไปทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้ก็ไปยืนออกกันอยู่ริมถนนคนละฝั่งคลอง ทำให้แกนนำม็อบหลายคนไม่พอใจ โกรธแค้น
นักการเมืองสายนี้จึงยกเอาการตัดงบประมาณ ตชด.มาเป็นเหตุ และไปไกลถึงการยกเลิกหน่วยงานนี้เสียเลย
นี่เป็นประเด็นที่คนพูดกันมาก เพราะเหตุผลด้านอื่นมีน้ำหนักไม่เท่ากับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ ไม่มึใครให้ความสนใจกับข้อเสนอของ ส.ส.คนนั้นอีกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจตะเวนชายแดนก็ไม่ต้องตกใจ เพราะนี่เป็นเรื่องปกติของการพิจารณางบประมาณประจำปี ซึ่ง ส.ส.มีสิทธิที่จะเสนอเพิ่มหรือตัดลดได้ ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ส่วนใหญ่จะเอาอย่างไร อีกทั้งประชาชนเจ้าของประเทศผู้เสียภาษีจะพิจารณาเองว่า ข้อเสนอของ ส.ส.ฝ่ายค้านคนดังกล่าวมีเหตุผลและน้ำหนักมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอเขียนถึง ตชด.ที่รู้จักและที่เคยทำงานด้วยเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของ ตชด.ที่อาจไม่มีอยู่ในกูเกิล ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่สนธิสัญญากรุงเจนีวาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งห้ามไม่ให้มีกำลังทหารในระยะ 25 กิโลเมตรจากแนวชายแดน พูดกันง่าย ๆ ว่า จากชายแดนลึกเข้ามา 25 กิโลเมตร เป็นเขตปลอดทหารนั่นเอง และข้อความนี้เป็นที่รู้กันว่าถูกกำหนดขึ้นโดยฝรั่งเศส ซึ่งไม่ต้องการให้มีกองทหารไทยในบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับลาวและกัมพูชาซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
แต่รัฐบาลไทยฉลาด เมื่อข้อตกลงไม่ให้ไทยมีทหารบริเวณชายแดน เราก็ตั้งตำรวจอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา ซึ่งต่อมาเรียกว่า ตำรวจตะเวนชายแดน หรือ ต.ช.ด. ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นกำลังเสริม แทนการใช้กำลังทหารในการรักษาความสงบตามแนวตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะชายแดนด้านอีสาณเหนือและอีสาณใต้เพือป้องกันคอมมิวนิสต์รุกรานประเทศไทย ต่อมาก็ดูแลชายแดนด้านตะวันตกติดต่อกับพม่า และชายแดนทางใต้
ตำรวจตะเวนชายแดนมีการจัดกำลังพลและการฝึก การปฏิบัติคล้ายกับทหาร ในช่วงที่มีการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์และการก่อการร้ายในพื้นที่ป่าเขา ต.ช.ด.เป็น “ ด่านหน้า ” ในการหาข่าวและต่อต้านการแทรกซึม การก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ขณะนั้น
หน่วยงานหนึ่งของ ตชด. ที่มีบทบาทสำคัญคือ “ พารู “ ซึ่งเป็นคำย่อภาษาอังกฤษของหน่วยส่งกำลังทางอากาศที่อเมริกันมาฝึกให้ โดยมีฐานสำคัญอยู่ที่หัวหินและพิษณุโลก คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็น “ ตำรวจพลร่ม “ ที่ทำงานทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการแทรกซึมหาข่าวในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เข้าสู่ประเทศไทย
สมัยก่อนเมื่อจะเข้าไปในพื้นที่ชายแดนโดยเฉพาะทางภาคอีสานและภาคเหนือ ภาคตะวันตก เราต้องติดต่อกับหน่วย ตชด. ให้เป็นผู้อำนวยความสะดวก เพราะเขารู้จักแทบจะทุกตารางนิ้วในพื้นที่ป่าเขาที่รับผิดชอบ ทุกหมู่บ้าน หัวหน้าชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดน ช่องทางเดินในป่าเขา แม่น้ำเล็กใหญ่ ลำธารทุกสายในพื้นที่รับผิดชอบ
ไม่เพียงดูแลด้านให้ประเทศปลอดจากการแทรกซึมและการจัดตั้งของคอมมิวนิสต์แล้ว ระยะต่อมา มีการจัดตั้งโรงเรียน ตชด. เพื่อสอนเด็ก ๆ ชาวเขาและในพื้นที่ป่าเขาห่างไกลให้รู้จักภาษาไทย วัฒนธรรม ความเป็นคนไทย ไม่น่าเชื่อที่ ตชด.เป็นครูที่สอนเก่งและเข้ากับพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ในพื้นที่ป่าเขาได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการลักลอบนำยามเสพติดจากนอกประเทศเข้ามาทางชายแดนภาคเหนือ อีสาน และตะวันตก ตชด.ก็ต้องรับภาระร่วมกับทหารและหน่วยที่เกี่ยวข้องในการหาข่าวและสกัดกั้นขบวนการเหล่านี้ด้วย
ธงชาติไทยไปโบกสะบัดในป่าเขาชายแดนทุกด้าน นั่นคือที่ตั้งของ ตชด. พวกเขาอยู่กันด้วยความยากลำบาก ทรหดอดทนเป็นที่สุด
ตชด.อาจกล่าวว่าเป็นตำรวจที่มีความใกล้ชิดและถวายความปลอดภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในทุกครั้งที่เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลบริเวณชายแดน โดยเฉพาะการถวายความอารักขาเมื่อเสด็จประทับที่หัวหิน ตชด. เป็นหน่วยตำรวจที่มีความใกล้ชิดและได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุด
สมเด็จย่าฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา ฯ เสด็จเยี่ยมหน่วย ตชด.ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศเป็นประจำ สร้างขวัญกำลังให้กับกำลังพล ตชด.ทั่วประเทศ
ตชด.รับผิดชอบในการอำนวยการ จัดตั้ง และดูแล “ลูกเสือชาวบ้าน” ( ลส.ชบ. )ซึ่งเป็นมวลชนพื้นฐานและมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ นักการเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต่างสมัครเข้าเป็นสมาชิก ลส.ชบ.โดยหวังว่าจะได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากมวลชนพื้นฐานจัดตั้งเหล่านี้ แม้วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป บทบาทของ ลส.ชบ.ลดน้อยลง แต่คนไทยที่ร่วมต่อสู้ต่อภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้นก็ไม่มีใครลืม ลส.ชบ.
แม้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและในประเทศเปลี่ยนไป บทบาทของ ตชด. ก็ได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เหตุผลและความจำเป็นของ ตชด.ที่เคยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการช่วยดูแล เตือนภัย ป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานเถื่อนนอกประเทศ การลักลอบขนสินค้าเถื่อนเข้า-ออกชายแดน การลักลอบขนยาเสพติดและสิ่งที่ผิดกฎหมาย การประกอบอาชญากรรมข้ามพรมแดน ฯลฯ
โดยเฉพาะ โรงเรียน ตชด.สำหรับนักเรียนในพื้นที่ป่าเขาห่างไกลที่ไม่มีใครเข้าถึง ยังเป็น “จุดเด่น” ของ ตชด.ที่ไม่มีใครทำได้ สมกับคำขวัญที่ว่า “ เสียสละ อดทน ดำรงตนอย่างมีเกียรติ “
ทุกครั้งเมื่อผู้เขียนผ่านกองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดนที่ถนนพหลโยธิน ทำห้ำลึกถึงความหลังที่เคยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีเกียรติแห่งนี้ และรู้สึกภูมิใจแทน ตชด.ทุกคนเมื่อมีคนเอ่ยถึงพวกเขาด้วยความชื่นชม ( จบ )
บทความโดย… ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 9 มิ.ย.65
Link : https://www.posttoday.com/politic/columnist/685265