แม้ผู้ผลิตปืนของสหรัฐจะสร้างรายได้ราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 36,000 ล้านบาท) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการขายอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติประเภทเออาร์-15 แต่บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐหลายคนวิจารณ์ผู้ผลิตอาวุธปืนจำนวนมาก หลังเกิดเหตุกราดยิงที่น่าสะเทือนขวัญหลายครั้งในประเทศ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ว่า นางแคโรลิน มาโลนีย์ หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการการปฏิรูปและการกำกับดูแล ของสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเดโมแครต กล่าวหาผู้ผลิตปืนในสหรัฐเกี่ยวกับการใช้กลยุทธ์การตลาดที่ “อันตราย” เพื่อขายอาวุธปืนให้กับคนหนุ่มสาว และมีความล้มเหลวในการ “ยอมรับบทบาทของพวกเขาต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ”
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีที่มีญาติของเหยื่อเหตุกราดยิงในช่วงที่ผ่านมาเข้าร่วมรับฟัง พรรคเดโมแครตเรียกร้องให้มีการยกเลิกการคุ้มครองผู้ผลิตปืนจากการฟ้องร้องคดี เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถมีส่วนรับผิดชอบได้ ขณะที่นายมาร์ตี แดเนียล ประธานบริหารของบริษัทแดเนียล ดีเฟนส์ ผู้ผลิตปืนที่ชายหนุ่มใช้กราดยิงเด็กนักเรียนและครู 2 คน ในเมืองยูวัลดี รัฐเทกซัส แก้ต่างให้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทของเขา
ABC News
“จุดประสงค์โดยนัยของการพิจารณาคดีครั้งนี้ คือ เพื่อใส่ร้าย กล่าวโทษ และห้ามปืนไรเฟิลกีฬามากกว่า 24 ล้านกระบอกที่อยู่ในยอดจำหน่ายแล้ว ซึ่งชาวอเมริกันหลายล้านคนครอบครองอย่างถูกกฎหมาย และใช้งานโดยทั่วไปเพื่อปกป้องบ้านและคนที่พวกเขารัก” แดเนียล กล่าว “ผมเชื่อว่าการตอบสนองของประเทศพวกเราไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่ประเภทของปืน แต่ต้องเป็นประเภทของคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุกราดยิง”
นอกจากนี้ สมาชิกสภาจากพรรครีพับลิกันหลายคนยังคัดค้านต่อการเรียกร้องของพรรคเดโมแครต โดยให้เหตุผลว่า คนที่ก่อเหตุอาชญากรรมรุนแรงคืออาชญากร ไม่ใช่ผู้ผลิตปืน
แม้หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมืองยูวัลดี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะเรียกร้องให้มีการห้ามใช้ไรเฟิลจู่โจม หรือเพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับการซื้อปืน แต่ฝ่ายนิติบัญญัติของพรรครีพับลิกัน ซึ่งมองว่าการจำกัดดังกล่าวขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการครอบครองอาวุธ ได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของไบเดน.
เครดิตภาพ : REUTERS
————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 29 ก.ค.65
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1302878/