Summary
– ระหว่างที่ ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น วัย 67 ปี ถูกลอบยิง รายงานล่าสุดระบุว่า อาเบะเสียชีวิตแล้ว
– อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถูกยิงขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่นารา ต่อหน้าผู้คนราว 200 กว่าคน ใกล้กับสถานีรถไฟยามาโตะ-ซาไดจิ
– ชายผู้ก่อเหตุเป็นชาวนารา ยิงด้วยอาวุธประดิษฐ์เอง
– ในปี 2019 ญี่ปุ่นมีพลเรือนครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมายเพียง 310,400 กระบอก จากประชากร 125 ล้านคน
ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น วัย 67 ปี ถูกลอบยิง รายงานล่าสุดระบุว่า อาเบะเสียชีวิตแล้วจากการเสียเลือดมาก และหัวใจหยุดเต้นก่อนถึงมือแพทย์
ระหว่างที่ ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กำลังกล่าวสุนทรพจน์ที่นารา ต่อหน้าผู้คนราว 200 กว่าคน ใกล้กับสถานีรถไฟยามาโตะ-ซาไดจิ ราว 11.30 น. ได้มีเสียงปืนดังขึ้นสองนัด ท่ามกลางความแตกตื่น หลังจากนั้นก็มีรายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะถูกยิง
เหตุการณ์นี้เกิดระหว่างที่อาเบะกำลังกล่าวสุนทรพจน์เพื่อหาเสียงให้พรรค LDP ก่อนการเลือกตั้งสภาสูงในวันที่ 10 กรกฎาคม หลังเกิดเหตุ อาเบะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน มีรายงานขณะนั้นว่า ไม่พบสัญญาณชีพ
ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนผู้ลั่นกระสุนคือ เท็ตสึยะ ยามากามิ ชาวนารา วัย 41 ปี สื่อท้องถิ่นอ้างว่า ยามากามิเคยเป็นสมาชิกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น
หลังก่อเหตุ ยามากามิไม่ได้วิ่งหนี เขาถูกเจ้าหน้าที่รวบตัว และนำตัวไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจนารา โดยยังไม่มีรายงานถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้มากไปกว่า ‘ความไม่พอใจ’
ปืนญี่ปุ่นประดิษฐ์ ในประเทศที่อาวุธไม่ใช่ของหาง่าย
ตามภาพข่าว อาวุธที่ใช้ลอบสังหาร ชินโสะ อาเบะ คือยุทโธปกรณ์ที่ประกอบขึ้นเอง ทำจากกระบอกโลหะ กล่องไม้ ปิดด้วยเทปสีดำ มีขนาดใหญ่กว่ากล้องถ่ายภาพ
กล่าวกันว่า การลอบสังหารด้วยอาวุธปืนครั้งนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมญี่ปุ่นไปตลอดกาล หนึ่ง – เป็นบุคคลสำคัญระดับชาติ และสอง – ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำที่สุดในโลก และมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดมาก ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะมีการยิงกันกลางวันแสกๆ ท่ามกลางผู้คนนับร้อย
ญี่ปุ่นเคยมีการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเมื่อ 90 ปีก่อน วันที่ 15 พฤษภาคม 1932 นายกรัฐมนตรี ซึโยชิ อินุไก ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่กองทัพเรือที่วางแผนจะก่อสงครามกับสหรัฐฯ และเหตุลอบสังหารบุคคลสำคัญล่าสุดก็ต้องย้อนไปปี 2007 นายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ อิชโช อิโตะ 2550 ถูกยิงจากด้านหลังสองนัดเสียชีวิต โดยสมาชิกแก๊งยากูซ่า หลังจากนั้นกฎหมายปืนญี่ปุ่นก็เข้มงวดขึ้น และมีบทลงโทษที่หนักมาก หากเป็นความผิดที่กระทำโดยสมาชิกแก๊งอาชญากร
ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์การยิงกัน 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย
ในปี 2018 ญี่ปุ่นรายงานผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเพียง 9 ราย ขณะที่ปีเดียวกัน สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับอาวุธปืน 39,740 ราย
ภายใต้กฎหมายอาวุธปืนของญี่ปุ่น ปืนชนิดเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ขายคือปืนลูกซอง และปืนไรเฟิล ส่วนปืนพกถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และวิธีการขั้นตอนกว่าจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของปืนและเครื่องกระสุนก็มีความซับซ้อนยุ่งยากมาก
ในการซื้อปืน ผู้ซื้อจะต้องเข้าเรียนในชั้นอบรมเหมือนสอบใบขับขี่ ผ่านการทดสอบข้อเขียน ทดสอบการยิงในสนามยิงปืนที่หากจะผ่านเกณฑ์ต้องมีความแม่นยำอย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการประเมินสุขภาพจิต ตรวจประวัติการใช้ยาเสพติด ประวัติอาชญากรรม ตรวจสอบภูมิหลังเข้มงวด ภาระหนี้สิน ความสัมพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะการมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม แก๊งยากูซ่า
ในปี 2019 ญี่ปุ่นมีพลเรือนครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมายเพียง 310,400 กระบอก จากประชากร 125 ล้านคน หรือ 0.25 ต่อ 100 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศ G-7 เมื่อเทียบกับปืน 393 ล้านกระบอก หรือ 120 ต่อ 100 คนในสหรัฐอเมริกา
จากตระกูลการเมือง สู่นายกฯ ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด
ชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในสองสมัย 2006-2007 และ 2012-2020
อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ เกิดเมื่อ 21 กันยายน 1954 ในตระกูลการเมืองแท้ๆ เป็นบุตรชายของ ชินทาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และ โยโกะ กิชิ นั่นเท่ากับว่า ชินโสะ อาเบะ เป็นหลานแท้ๆ ของ โนบุสุเกะ กิชิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ คัง อาเบะ สมาชิกสภาผู้แทนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ชินโสะ อาเบะ เริ่มอาชีพการเมืองจากการเป็นเลขาของ ชินทาโร อาเบะ หลังพ่อเสียชีวิตในปี 1993 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป และได้เข้าสู่สภาฯ เป็นสมัยแรก และได้รับตำแหน่งสำคัญๆ อีกหลายตำแหน่ง
ปี 2005 ชินโสะ อาเบะ เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล จุนอิจิโร โคอิซุมิ และในปี 2006 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในยุคหลังสงครามโลก ด้วยวัย 52 ปี แต่เพียงปีเดียว เมื่อพรรค LDP ก็แพ้เลือกตั้งในสภาสูง ประกอบกับปัญหาสุขภาพ ชินโสะ อาเบะ จึงหลีกทางให้ ยาสุโอะ ฟุกุดะ เข้ามารับไม้ต่อผู้นำพรรค LDP และเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2007
การเมืองญี่ปุ่นหลังยุคอาเบะ 1 ไม่มีเสถียรภาพและประสบปัญหามากมาย แม้จะเปลี่ยนขั้วการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อ LDP พรรคสายอนุรักษนิยมต้องพ่ายแพ้ ประเทศเปลี่ยนอำนาจการบริหารไปสู่พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan: DPJ) แต่สถานการณ์ก็ยังไม่สู้ดี โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ
ตั้งแต่ ชินโสะ อาเบะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ยาสุโอะ ฟุกุดะ, ทาโร อาโสะ, ยูกิโอะ ฮาโตยามะ, นาโอโตะ คัง และ โยชิฮิโกะ โนดะ ต่างไม่มีใครรักษาเก้าอี้ไว้ได้นานเกิน 2 ปี
แม้ LDP จะตกเป็นฝ่ายค้านให้รัฐบาล DPJ หลายปี แต่ ชินโสะ อาเบะ ก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมนำพรรค LDP ชนะถล่มทลายในปี 2012 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัยติดต่อกัน กระทั่งลาออกจากตำแหน่งอีกครั้งในปี 2020 ด้วยปัญหาสุขภาพ แต่ยังคงเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลทางการเมืองสูง โดยเฉพาะภายในพรรค LDP
ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี อาเบะมีแนวทางการดำเนินงานการต่างประเทศแข็งกร้าว โดยเฉพาะกับเกาหลีเหนือ ที่ถูกคว่ำบาตรจากการทดลองนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับด้านการทหาร ที่พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นที่ ‘กองทัพ’ ที่มีศักยภาพในการรุกรบ ทำได้แต่เพียงการตั้งรับ ญี่ปุ่นจึงมีเพียง ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ (JSDF หรือ จิเอไต)
ชินโสะ อาเบะ รื้อฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยนโยบายที่ถูกขนานนามว่า ‘อาเบะโนมิกส์’ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่น ซึ่งมีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 โลก ต้องประสบปัญหาหนักกว่าเดิมเพราะภาวะเงินฝืด และการลงทุนภาคเอกชนซบเซามาสองทศวรรษ อาเบะจึงปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย โดยอาศัยมาตรการ ‘ธนูสามดอก’ อัดฉีดการเงิน กระตุ้นการคลัง และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ
แต่ช่วงปลายรัฐบาลอาเบะสมัยหลัง พรรค LDP ก็ต้องเผชิญการโจมตีจากทั้งฝ่ายค้านและผู้คนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องเงินบำนาญที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับญี่ปุ่นที่ต้องเจอกับภาวะสังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นแผลเก่าจากสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2007 ที่ ชินโสะ อาเบะ ต้องพ่ายแพ้และลาออกก็เป็นผลมาจากความโกรธแค้นของประชาชนที่รัฐทำประวัติผู้รับบำนาญสูญหาย ทำให้ประชาชนราว 50 ล้านคนได้รับผลกระทบ
บทความโดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
————————————————————————————————————————-
ที่มา : Thairath Plus / วันที่เผยแพร่ 8 ก.ค. 65
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/speak/101773