ทปอ.เดินหน้าสอบ TGAT-TPAT ในระบบทีแคส’66 ผ่านคอมพ์เป็นปีแรก แจงข้อดีเพียบ ประมวลผลเร็วใน 3 วัน พร้อมรหัสล็อก 3 ชั้นสกัดแฮ็กเกอร์ ลดข้อผิดพลาดจากการฝนกระดาษคำตอบ ชี้ระบบนี้ใช้ในฟินแลนด์-สหรัฐ เล็งเปิดระบบใน 2 เดือน ให้ น.ร.ทดลองสอบก่อนใช้จริง
จากกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เตรียมปรับข้อสอบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2566 โดยปรับการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT เป็น TGAT และ TPAT และปรับ 9 วิชาสามัญ มาวัดความรู้เชิงวิชาการ Applied Knowledge Level หรือ A-Level รวม 15 วิชาแทน โดยการสอบ TGAT และ TPAT จะให้ผู้สอบเลือกสอบด้วยกระดาษ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ ทปอ.จัดสอบคัดเลือกผ่านคอมพิวเตอร์นั้น
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการของ ทปอ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทปอ.จัดทำข้อสอบ TGAT และ TPAT เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะจัดให้มีการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ คู่ขนานไปกับการสอบด้วยกระดาษ ทั้งนี้ การสอบทั้ง 2 รูปแบบ จะใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน จัดสอบตามวัน และเวลาเดียวกัน โดยที่สนามสอบจะติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เบสไว้
“ที่ต้องทำ 2 ระบบ แทนที่จะปรับเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เนื่องจากผู้ปกครองยังกังวลว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กบางคนยังไม่มีสกิลการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่ดีพอ ดังนั้น ในช่วงแรก ทปอ.จึงจัดสอบ 2 ระบบไปก่อน โดยปี 2566 จะจัดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ 2-4% และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีถัดไป การปรับครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบจัดสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตอาจเปิดให้นักเรียนสามารถสอบได้หลายครั้ง และเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุด มายื่นเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนทีแคสจะเป็นเพียงระบบที่ดำเนินการเคลียริ่งเฮาส์การคัดเลือกในแต่ละรอบ” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า สำหรับการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีข้อดีคือ สามารถประมวลผลได้เร็ว หลังการสอบวิชาสุดท้าย 3 วัน สามารถประกาศผลสอบได้ทันที เพราะลดระยะเวลาการจัดส่งข้อสอบ และการจัดเก็บกระดาษคำตอบออกไปทั้งหมด ขณะเดียวกันยังลดปัญหากรณีนักเรียนฝนกระดาษคำตอบผิดข้อ เพราะโจทย์ และคำตอบ จะอยู่ในข้อเดียวกัน ไม่เหมือนการสอบด้วยกระดาษ ที่กระดาษคำถาม และกระดาษคำตอบจะแยกกัน อาจทำให้ฝนคำตอบผิดข้อได้ รวมถึงลดข้อผิดพลาดในการประมวลผล โดยที่ผ่านมาจะเกิดปัญหานักเรียนต้องการเปลี่ยนคำตอบ โดยลบคำตอบเดิม แต่ยังมีรอยดินสออยู่ ทำให้ระบบไม่ประมวลผล และยังแก้ปัญหากรณีนักเรียนลืมทำข้อสอบ เพราะก่อนจะคลิกส่ง จะมีระบบเตือนกรณีนักเรียนลืมทำข้อสอบข้อใดข้อหนึ่ง
“ระบบนี้มีใช้ในหลายประเทศ ทั้งฟินแลนด์และสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ในการสอบรับผู้พิพากษา และทนายความ ขณะที่ไทยเองก็ใช้ในการสอบเข้ารับราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพราะถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงไม่อยากให้กังวล เพราะ ทปอ.จัดทำมาตรการป้องกันการทุจริต รวมถึง การแฮ็กข้อสอบไว้อย่างแน่นหนา มีรหัสล็อกทั้งหมด 3 ชั้น” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้คุ้นเคยกับการสอบด้วยคอมพิมเตอร์นั้น ภายใน 1-2 เดือนนี้ จะเปิดให้นักเรียนได้ทดลองสอบผ่าน www.mytcas.com จากนั้นจะเริ่มรับสมัครในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยก่อนการสอบประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเชิญเด็กที่สมัครสอบด้วยคอมพิวเตอร์ไปดูสถานที่สอบจริง และทดลองสอบเพื่อให้เกิดความเคยชิน ดังนั้น ก่อนถึงวันสอบจริงในเดือนธันวาคม 2565 เด็กมีโอกาสทดสอบระบบการสอบด้วยคอมพิวเตอร์หลายครั้ง เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับข้อสอบและวิธีการจัดสอบ เชื่อว่าจะคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่ให้นักเรียนสามารถเลือกสอบทางคอมพิวเตอร์ได้นั้นถือเป็นการปรับตัว โดยมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยก็ถือว่าเหมาะสม และคิดว่าตัวนักเรียนเองมีความคุ้นเคยกับระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว
“การสอบด้วยคอมพิวเตอร์จะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม รวมถึง ต้องมีมาตรการป้องกันในเรื่องของการแฮ็กข้อมูล หรือข้อสอบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็เตรียมพร้อมและใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดสอบในบางรายวิชาบ้างแล้ว” ดร.จงรัก กล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 18 ก.ค.65
Link : https://www.matichon.co.th/education/news_3458361