ภาพปกจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 1 ปี 6 เดือน ‘ช่างซ่อมคอม’ อายุ 52 ปี คดี พ.ร.บ.คอมฯ ก่อนถูกคุมตัวไปเรือนจำ รอคำสั่งศาลฎีกา หลังถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “รับสมัคร นักรบ กองทัพประชาชน ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทยและสมุนเผด็จการ” ช่างซ่อมคอมคนดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 โดยไม่มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่อย่างใด
22 ก.ค.2565 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีความของ บุญมา (นามสมมติ) ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ อายุ 52 ปี ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากการถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “รับสมัคร นักรบ กองทัพประชาชน ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไทยและสมุนเผด็จการ” โดยศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
บุญมาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 เหตุถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งเป็นแฟนเพจที่มีผู้กดถูกใจหลักสิบ และมีกดติดตามร้อยคนเศษๆ โดยเป็นหนึ่งใน 9 รายที่ถูกจับในปฏิบัติการ “ทลายล้างข่าวปลอม 09.09.2019” โดยพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ร.ม.ต.ว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น ปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท.
จากนั้นบุญมาได้ถูกแจ้งข้อกล่าวตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวออกมาโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท
คดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2563 และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2564 ซึ่งเป็นนัดสืบพยาน บุญมาได้เลือกที่จะให้การรับสารภาพ โดยทำหนังสือคำให้การยื่นต่อศาลพร้อมชี้แจงว่าตนเองมีหน้าที่เพียงดูแลเพจเฟซบุ๊กของคนรู้จักซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมาย และขอให้ศาลลงโทษสถานเบาเนื่องจากมีพ่อแม่สูงอายุที่ต้องดูแล
และในวันเดียวกันนั้น บุญมายังได้ยื่นคำร้องขอศาลให้วินิจฉัยข้อกฎหมาย เกี่ยวกับถ้อยคำใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา โดยเห็นว่าถ้อยคำที่ว่า “อันมีความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้นำข้อมูลซึ่งได้มี “การวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าเป็นความผิด” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) นั้นซ้ำซ้อนกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่น
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21 ก.ค.2564 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในส่วนของคำร้องที่ให้วินิจฉัยในเรื่องข้อกฎหมาย ศาลระบุว่าคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องมาครบถ้วนแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง
สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 21 ก.ค.2565 ศาลเริ่มต้นด้วยการอ่านคำฟ้องโดยย่อ แล้วกล่าวคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์อย่างรวบรัดว่า บรรยายฟ้องของโจทก์มีองค์ประกอบครบถ้วนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าข้อมูลที่นำจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ในประเด็นที่เห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินสมควรหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญไทยบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ จากพฤติการณ์ในคดีของจำเลยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุอันสมควรให้ปรานี อีกทั้งจำเลยเพียงแค่ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้กระทำการใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยสำนึกต่อความผิดหรือพยายามบรรเทาผลร้ายให้เบาบางลง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเพียง 3 ปี และลดโทษลดกึ่งหนึ่งตามเหตุลดโทษ จึงสมควรแก่การลงโทษจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องแก้ไขโทษของจำเลย พิพากษายืน
โดยสรุปคือ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และในระหว่างที่มีการอ่านคำพิพากษาได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์มายืนรอควบคุมตัวจำเลยอยู่โดยตลอด
ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา บุญมาได้ถูกพาตัวไปควบคุมไว้ยังห้องขังที่ใต้ถุนศาลอาญา ขณะที่ทนายความได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอประกันระหว่างฎีกาคดี โดยใช้หลักประกันเดิม คือหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
กระทั่งเวลาประมาณ 15:30 น.ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวในชั้นฎีกา ให้กับศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะทราบคำสั่ง ทำให้บุญมาถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอคำสั่งต่อไป
ในคดีนี้ บุญมา เคยระบุถึงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ที่เป็นไปโดยมิชอบว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 เขาได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้เดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่อาคารบริเวณย่านเมืองทองธานี ก่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ตรวจค้นรถ และให้นำไปตรวจค้นยังห้องพัก โดยที่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ ก่อนดำเนินคดีต่อเขา
ที่มา :ประชาไท / วันที่เผยแพร่ 22 ก.ค.65
Link : https://prachatai.com/journal/2022/07/99622