เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวีถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในหลายด้าน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างมาก ทำให้หลายๆประเทศ ต้องมองภาพอนาคต หรือ ฟอร์ไซท์ (Foresight) เพื่อเป็นข้อมูลกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ
อย่างเช่นประเทศฟินแลนด์ ที่เป็นผู้นำในการทำ Foresight ได้นำกระบวนการมาช่วยในการวางนโยบายการ ดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมรับมือกับกความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น และให้รู้เท่าทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น!!
สำหรับประเทศไทยทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า ก็ได้จัดตั้ง ฟอร์ไซท์ เซ็นเตอร์ บาย เอ็ตด้า (Foresight Center by ETDA) ขึ้นเพื่อป็นหน่วยงานที่ช่วยศึกษาการจัดทำภาพฉายอนาคต หรือ (Foresight Research) เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น โดยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และผู้ให้บริการ โทรคมนาคม ภาคการเงินต่างๆ โดยทำการศึกษาภาพอนาคตในยุคดิจิทัล เพื่อให้ประเทศเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น!!
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ เอ็ตด้า บอกว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และเมตาเวิร์ส ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงมีคำถามว่า ต้องมีการออกกฎหมาย และวางแนวทางกำกับหรือไม่? ภาพอนาคตต่อจากนี้ 10 ปี จะก่อให้เกิดผลดี หรือผลเสียอย่างไร? จึงจำเป็นในการแสวงหาโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม และภาครัฐ เอกชน และประชาชน จำเป็นต้อง มีการปรับตัวคู่ขนานไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ทางศูนยฯที่จัดตั้งขึ้นจะทำการศึกษา Foresight ด้านดิจิทัล ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ อนาคตของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ , อนาคตของการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล , อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ และอนาคตของอินเทอร์เน็ต
ด้าน ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เอ็ตด้า บอกว่า จากการศึกษาใน 4 ประเด็นดังกล่าว พบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ทั้ง 4 เรื่องจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก โดยธุรกรรมดิจิทัล จะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ (New Frontier of Barter Economy) ที่ทุกการทำธุรกรรม จะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสื่อกลาง เราสามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางดิจิทัล เช่น เอ็นเอฟที ได้อย่างอิสระ
การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ในโลกเสมือนที่อาจจะคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง นำไปสู่การกำหนดกฎระเบียบหรือแนวทางใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย!?!
นอกจากนี้ ยังมีภาพอนาคตที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น คือ “Backlash of e-Madness” หรือการทำธุรกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผ่านตัวกลางหรือพื้นที่ที่ยากต่อการตรวจสอบ และผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิม!!
ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะเข้ามาสร้างให้เกิดสมดุลในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Micro Intelligence for Everyone” ที่การใช้งานจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงานหรือองค์กร แต่จะขยายไปสู่ระดับบุคคลด้วย และจะเกิดเอไอที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กรหรือผู้ใช้งานได้มากขึ้น (Customized AI) และจะกลายมาเป็นผู้ช่วยเราได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ช่วยสื่อสารข้อมูลตามข้อเท็จจริง และช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น เนื่องจากในอนาคต เอไอ จะก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ จนทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกด้านทำให้บทบาท ของมนุษย์อาจถูกลดทอนและมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วย เอไอ อย่างเต็มรูปแบบ!!
จนอาจส่งผลให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้น้อยลง และในที่สุดอาจจะถูกครอบงำโดย เอไอ ได้ หรือที่เรียกว่า “Big Brain Colonization”
สำหรับในประเด็นการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะทำให้พวกเราก้าวสู่โลกดิจิทัล มีตัวตนบนโลกเสมือน ที่เชื่อมโยงตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง โดยที่ไม่มีใครสามารถสวมรอยเป็นเราได้ หรือที่เรียกว่า “All of Us Are Digitized” แต่ในขณะเดียวกัน ในโลกเสมือนทุกคนสามารถกำหนดเพศ ศาสนา ตลอดจนความเชื่อในเชิงจริยธรรมเองได้
การรับมือกับปัญหานี้ อาจต้องมีการกำหนดแนวทาง รวมถึงกฎระเบียบที่เหมาะสมและรัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อและความปลอดภัยในการมีตัวตนบนโลกดิจิทัล ลดอัตราการเกิด “Battle of My Identity” หรือตัวตน ‘อวตาร’ ที่นำไปใช้ในการก่อเหตุในโลกออนไลน์และยากต่อการติดตาม
นอกจากนี้ ในประเด็นของอินเทอร์เน็ต ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริม ดิจิทัล อีโคโนมี่ ในประเทศไทย โดยในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และทำให้เกิดกิจกรรมบางอย่างที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น การผ่าตัดทางไกลโดยใช้คนควบคุม เป็นต้น
ขณะที่ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ คือ อนาคตเราอาจพบข้อมูลมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ต ที่อาจทำให้การตรวจสอบและการคัดกรองเป็นไปได้ยาก อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การหลอกลวงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ จนอาจขยายเป็นภัยที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หรือที่เรียกว่า “Algorithmic Dystopia” เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นการมองภาพอนาคตของ ฟอร์ไซท์ เซ็นเตอร์ บาย เอ็ตด้า ซึ่งในช่วงต่อจากนี้ จะมี Foresight ในเรื่องเกี่ยวกับดิจิทัลออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการนำไปส่งเสริม หรือออกมาตรการป้องกัน ความเสี่ยงเกิดขึ้นในอนาคต!!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 3 ก.ค.65
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1210935/