ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเหล่า “อาชญากรทางโลกออนไลน์”ได้อาศัยช่องโหว่ในการเข้าแฮกเจาะระบบ…
ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเหล่า “อาชญากรทางโลกออนไลน์” ได้อาศัยช่องโหว่ในการเข้าแฮกเจาะระบบของหน่วยงานต่างๆ ไม่เว้นวัน!!!
ส่งผลให้สถานการณ์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องที่ทั่วโลกจับตาและเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้าง
สำหรับในประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการออกกฎหมายลำดับรอง (ก.ม.ลูก) ตามประกาศคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เรื่อง ประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำด้านการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ก.ย.65 ที่จะถึงนี้
โดยเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน หรือ 60 วัน!! ที่นับถอยหลังที่หน่งงานรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หรือ CII (Critical Information Infrastructure ) ต้องปฎิบัติตามกฎหมายนี้!?
ภาพ pixabay.com
ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้กำหนดหน่วยงาน CII ประกอบด้วย 7 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงภาครัฐ ด้านบริการภาครัฐที่สำคัญ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และด้านสาธารณสุข โดยมีจำนวน 53 องค์กร
ซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเป้าหมาย ของแฮกเกอร์ได้!?!
อย่างไรก็ตาม สกมช.ได้มีการประกาศมาตรฐานด้านไซเบอร์ให้หน่วยงานกำกับ หน่วยงานรัฐ และหน่วยงาน CII แล้ว 15 กรอบมาตรฐาน เช่น การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber incident response) การประเมินความเสี่ยงทางไซเบอร์ (Cyber risk assessment) การตรวจสอบความปลอดภัย (Auditing) เป็นต้น และก็ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวได้ทราบแนวทางการดำเนินงาน ให้สอดคล้องเป็นไปตามประกาศที่กฎหมายกำหนด
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ของ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) บอกว่า หลัง ก.ม.บังคับใช้ ทาง สกมช.จะเริ่มตรวจสอบหน่วยงานดังกล่าว อย่างจริงจังว่าได้จัดทำ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้ตามมาตรฐานหรือไม่ หลังที่ผ่านมามีช่วงเวลาให้เตรียมความพร้อมมาประมาณ 1 ปี
ซึ่งได้ยึดตามมาตรฐานสากล ที่ต้องมีการแจ้งเตือน ตรวจสอบ และมีมาตรการประเมินความเสี่ยงและเมื่อเกิดเหตุภัยคุกคามขึ้นมาต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง??
เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ให้บริการกับประชาชนจำนวนมาก หากเกิดโจมตีทางทางไซเบอร์ อาจส่งผลเสียหายจำนวนมากได้!!
อย่างไรก็ตามในเรื่องหน่วยงานต่างๆมีความพร้อมแค่ไหน? กับการจัดการรับมือภัยไซเบอร์?
ทาง นายปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กมช. บอกว่า ปัจจุบันหน่วยงานด้าน CII ของไทยได้ตระหนักในเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพิ่มมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินต่อไป คือการพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องการการถูกแฮกข้อมูล หรือโดนโจมตีจนระบบล่ม ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้
“ทุกวันนี้ในกลุ่ม การเงินการธนาคาร ประกัน และโทรคมนาคม ได้มีการปรับตัวและพัฒนาได้ตามมาตรฐานแล้ว ไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เฮลท์แคร์ และพลังงาน ก็ตกเป็นเป้าโจมตี ของแฮกเกอร์สูงมาก ไม่เว้นแต่ละวัน การปรับระบบด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องการรักษาความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พีดีพีเอ ด้วย”
ภาพ pixabay.com
อย่างไรก็ตามการจัดทำระบบให้ได้มาตรฐาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกแฮก!! ซึ่งทาง สกมช.ก็อาจจจะมีการออกแนวทางปฎิบัติ หรือไกด์ไลน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด รวมถึงคอยแนะนำและให้คำปรึกษาด้วย
เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีการตื่นตัว เฝ้าระวัง ซักซ้อมการป้องกันภัยอย่างสม่ำเสมอ จัดระบบไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายลูกดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ทาง สกมช.ก็เชื่อว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านไซเบอร์ให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน !?!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 10 ก.ค.65
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1235310/