การปรับตัวของภาคธุรกิจต่อการมาถึงของเอไอเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
หากจะมีการปรับหรือเปลี่ยนแปลงการทำงานในภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเทศใด มักจะต้องทำแแบบสอบถาม เพื่อดูแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
อย่างเช่นเมื่อปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นทำการสำรวจความพร้อมในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ขององค์กรธุรกิจโดยทำแบบสอบถามกว่า 20,000 ชุดซึ่งผู้ที่ตอบแบบสอบถามถึงประมาณ 30% เชื่อมั่นว่ายุคของเทคโนโลยีได้มาถึงแล้วและไม่มีทางปฎิเสธได้
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 90% ระบุว่าองค์กรได้เริ่มใช้งานระบบ AI ไปบ้างแล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือในจำนวนนี้มีผู้ใช้มากถึง 20% ที่ไม่รู้ว่า AI คืออะไรและจะช่วยงานเราได้อย่างไรบ้าง สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทหลายๆ แห่งลงทุนในระบบนี้ไปเพียงเพราะกลัวตกยุค กลัวจะดูไม่ทันสมัยเท่านั้น
ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ปัจจุบันนี้ หรือ 4 ปีหลังการสำรวจจะพบว่าการใช้งาน AI ในองค์กรธุรกิจหลาย ๆ แห่งประสบปัญหามากมายเพราะจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาดและไม่ได้มาจากความต้องการใช้งานจริง ผลสุดท้ายก็กลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและไม่ต้อบโจทย์ใด ๆ ในองค์กรเลย
ตรงกันข้ามกับบริษัทที่เริ่มต้นโดยมีกลยุทธ์ชัดเจน และให้ความรู้ทีมงานพร้อมนำ AI มาใช้อย่างถูกจุด จะพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานถูกยกระดับขึ้นอย่างมหาศาล ลดงานที่ทำซ้ำและตอบสนองความต้องการของลูกค้าไม่เพิ่มขึ้นหลายเท่า
AI อาจเป็นการปฏิวัติวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่เทคโนโลยีนี้แพร่หลาย มันได้สร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจเกิดใหม่ได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เช่นกรณีของ WeBank ของจีนที่เริ่มต้นจาก WeChat และ WeChat Pay
เพราะการใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคนับร้อยล้านรายของ WeChat ทำให้มองเห็นศักยภาพของผู้ใช้งานที่อาจกลายมาเป็นลูกค้าสินเชื่อได้ การเกิดขึ้นของ WeBank จึงเป็นธนาคารที่ไม่จำเป็นต้องมีสาขาทั่วประเทศเหมือนธนาคารแบบดั้งเดิม แต่กลับให้บริการลูกค้าได้ทั่วทั้งประเทศไม่ต่างกัน
ที่สำคัญระบบ AI ยังสามารถใช้วิเคราะห์สินเชื่อลูกค้ารายย่อยและอนุมัติให้ได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 นาทีโดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานสินเชื่อมาวิเคราะห์หรือตรวจสอบข้อมูลลูกค้าแต่ประการใด โดยที่มีความแม่นยำในการตัดสินใจแทบจะไม่ต่างจากการใช้มนุษย์เลย
การเติบโตของ WeBank จึงสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบ AI ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนระบบการทำงานแบบเดิม และขยายตัวได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เป็นการเอาชนะขีดจำกัดทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในอดีต
ในแง่ของผู้บริโภคทั่วไป การใช้งาน AI ในชีวิตประจำวันถูกแฝงอยู่ในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นแอพลิเคชันทั่วไปที่เรียนรู้การใช้งานของเราและปรับตัวให้ตรงกับความชอบของเราตลอดเวลา หรือจะเป็นการพูดคุยกับ Call Center เพื่อสอบถามบริการต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังเป็น ChatBot ไม่ใช่พนักงานที่เป็นมนุษย์ ฯลฯ
เช่นเดียวกับรถยนต์ยุคใหม่ที่เข้าสู่ยุครถไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับที่เราจะพบว่าสายพานการผลิตใช้แรงงานคนน้อยกว่าเดิมหลายเท่า แต่หันไปเน้นบุคลากรด้าน AI, Deep Learning, Machine Learning ฯลฯ เพื่อพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ที่ฉลาดกว่าเดิม
รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกที่อย่าง Amazon Go ที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานในร้านแต่อาศัยระบบ AI เพื่อยืนยันตัวตนของลูกค้าและวิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ภายในร้าน ซึ่งในอนาคตเราอาจมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใช้พนักงานน้อยลง แต่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้มากกว่าเดิม
การปรับตัวของภาคธุรกิจต่อการมาถึงของเทคโนโลยี AI จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะอนาคตจะมี AI เป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
By แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ
————————————————————————————————————————-
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 26 ก.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/1017369