เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – FBI สหรัฐฯ พบหลักฐานชี้อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารบริษัทหัวเว่ยอาจตรวจจับ หรือขัดขวางการสื่อสารศูนย์บัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ USSTRATCOM ควบคุมไซโลหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป ICBM ในเขตมิดเวสต์ของอเมริกา พบสมัยทรัมป์ ปี 2019 ใช้โครงการ “rip and replace” ให้กำจัดและแทนที่อุปกรณ์สื่อสารหัวเว่ยและ ZTE ออกไปจากสหรัฐฯ
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) ว่า แหล่งข่าวกว่า 12 ปากเปิดเผยกับ CNN ว่า ระหว่างการสอบสวนลับของสำนักงาน FBI พบว่า อุปกรณ์เทคโนโลยีของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จีน “หัวเว่ย” ซึ่งตั้งอยู่บนหอสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์มือถือใกล้กับฐานทัพสหรัฐฯ ในรัฐมอนแทนา เขตมิดเวสต์ของสหรัฐฯ อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคง
สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า ด้านนอกฐานทัพอากาศมาล์มสโตรมของสหรัฐฯ (Malmstrom Air Force Base) ในรัฐมอนแทนา ครอบคลุมเนื้อที่ 13,800 ไมล์ เป็นที่ตั้งไซโลเก็บอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ จำนวนหนึ่งและพบว่าไซโลเหล่านี้มีหัวรบนิวเคลียร์พิสัยข้ามทวีป ICBM ถูกเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 100 ลูกอยู่ด้านใน
มิสไซล์มินิตแมน 3 (Minuteman III rocket) ที่มีความสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์มีพิสัยทำการไกลกว่า 6,000 ไมล์ หรือราว 9,656 กิโลเมตร
อ้างอิงจากกูเกิลพบว่า ระยะทางจากรัฐมอนแทนาใจกลางสหรัฐฯ มายังกรุงปักกิ่งนั้นราว 5,782 กิโลเมตร
มิสไซล์มินิตแมน 3 และไซโลคลังแสงนิวเคลียร์อยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์บัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ชื่อดัง USSTRATCOM (U.S. Strategic Command)
CNN รายงานว่า ท่ามกลางที่ตั้งไซโลคลังแสงเหล่านี้มีเสาสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์มือถือตั้งอยู่ซึ่งมีอุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัทหัวเว่ยอยู่ด้านบนของบริษัทผู้ให้บริการมือถือในพื้นที่
ในภาพถ่ายพบเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือห่างไปไม่ถึงครึ่งไมล์ หรือน้อยกว่า 800 เมตร จากเขตรั้วไซโลเก็บมิสไซล์ ICBM พิสัยข้ามทวีปของสหรัฐฯ ในรัฐมอนแทนา
อ้างอิงจากการยื่นของคณะกรรมการกลางการสื่อสารสหรัฐฯ FCC (Federal Communications Commission) พบว่าเสาสัญญาณที่ใช้เทคโนโลยีหัวเว่ยของจีนผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงได้ระบุว่า ปักกิ่งอาจใช้เพื่อสอดแนมข่าวกรองความมั่นคงสหรัฐฯ ได้และอาจตกเป็นเป้าโจมตีทางเครือข่ายในพื้นที่โดยรอบและจุดพื้นที่อ่อนไหวทางการทหารของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ถึงแม้บริษัทหัวเว่ยจะไม่ถูกใช้โดยบริษัทบริการมือถือเจ้าใหญ่ในอเมริกา เป็นต้นว่า AT&T ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท วอร์นเนอร์มีเดีย (WarnerMedia) บริษัทแม่ของ CNN แต่พบว่ามีบริษัทมือถือรายเล็กในสหรัฐฯ ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเลือกใช้เทคโนโลยีจีนที่มีราคาต่ำกว่าเพื่อติดตั้งบนเสาสัญญาณของตัว และมีบางส่วนตั้งอยู่ใกล้ฐานที่ตั้งกองทัพสหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญต่างวิตกว่าบริษัทหัวเว่ยที่ผู้ก่อตั้งและซีอีโอใหญ่ เหริน เจิ้งเฟย ที่ทำงานให้กองทัพจีน PLA อาจถูกใช้โดยปักกิ่งเพื่อสอดแนมสหรัฐฯ
รัฐบาลประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กำลังสอบสวนในเรื่องนี้ โดย FBI ค้นพบหลักฐานว่า อุปกรณ์การสื่อสารบนเสาสัญญาณมือถือเหล่านี้อาจส่งผลกระทบถึงขั้นตรวจจับและขัดขวางการสื่อสารระดับสูงของเพนตากอน ซึ่งรวมไปถึงการสื่อสารโดยศูนย์ USSTRATCOM
แต่ในเวลานี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชุมชนข่าวกรองสหรัฐฯ ค้นพบว่าปักกิ่งสามารถใช้เสาเหล่านี้สอดแนมความลับใดๆ กลับออกไปได้หรือไม่แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า จากในแง่ของเทคโนโลยีนั้น “มันเป็นการยากมาก” ที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าดาต้าข้อมูลนั้นถูกขโมยและส่งออกไปต่างแดน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อหาการใช้เทคโนโลยีหัวเว่ยเพื่อสอดแนม
บริษัทหัวเว่ยยังออกมาปฏิเสธผ่านแถลงการณ์ต่อ CNN ว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ของบริษัทไม่มีความสามารถปฏิบัติการในขอบเขตการสื่อสารใดๆ ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
แต่แหล่งข่าวหลายปากที่ใกล้ชิดในการสอบสวนยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีของหัวเว่ยมีความสามารถในการอินเตอร์เซฟ (Intercept) ไม่เพียงแต่การจราจรสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเอกชน แต่ยังรวมไปถึงคลื่นสัญญาณในอากาศต้องห้ามที่ใช้โดยกองทัพสหรัฐฯ และขัดขวางการสื่อสารของ USSTRATCOM เพื่อเปิดโอกาสให้ปักกิ่งเข้าถึงไซโลหัวรบนิวเคลียร์สหรัฐฯ
อดีตเจ้าหน้าที่ FBI ที่ใกล้ชิดการสอบสวนเปิดเผยกับ CNN ว่า “สิ่งนี้เข้าถึงบางส่วนของเรื่องอ่อนไหวมากที่สุดที่พวกเราทำ” และเสริมต่อว่า “มันจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของเราต่อการบัญชาการสำคัญและการควบคุมกองกำลังนิวเคลียร์ ที่จะถูกจัดอยู่ในชั้น BFD”
เขากล่าวต่อว่า “ซึ่งหากว่ามันมีความเป็นไปได้ต่อการทำให้เกิดการติดขัดขึ้นนั้นจะกลายเป็นวันที่โชคร้ายมาก”
CNN รายงานว่าในปี 2020 สภาคองเกรสสหรัฐฯ อนุมัติ 1.9 พันล้านดอลลาร์ เพื่อกำจัดอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารของหัวเว่ยและบริษัท ZTE ออกไปจากพื้นที่ห่างไกลสหรัฐฯ ทั้งหมด แต่ทว่าอีก 2 ปีต่อมากลับพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้ยังคงไม่ถูกนำออกไปและบริษัทผู้ให้บริการมือถือเจ้าเล็กของสหรัฐฯ ยังคงรอเงินจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
ซึ่งทางผู้กำกับการสื่อสารสหรัฐฯ FCC ได้รับคำร้องสำหรับการเพิกถอนอุปกรณ์โทรคมนาคมจีนจำนวน 24,000 ชิ้น แต่ทว่ามาจนถึงวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าทาง FCC ยังขาดเงินอยู่อีกกว่า 3 พันล้านในการให้เงินต่อบริษัทรายย่อยเหล่านี้
ย้อนไปไกลถึงรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา FBI ตรวจสอบ “แพทเทิร์นการติดขัด” ทางการสื่อสารเกิดขึ้นตลอดทั้งถนนไฮเวย์ I-25 ในรัฐโคโลราโดและรัฐมอนแทนา และเส้นทางเข้าสู่รัฐเนแบรสกา ซึ่งต่างเป็นถนนที่เชื่อมที่ตั้งทางทหารสหรัฐฯ ลับสุดยอด รวมไปถึงไซโลเก็บหัวรบนิวเคลียร์ภายใต้การสอบสวนชื่อ “I-25” ที่ถูกส่งเข้าทำเนียบขาวในปี 2019 สมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้ชื่อโครงการ “rip and replace” ให้กำจัดและแทนที่อุปกรณ์สื่อสารหัวเว่ยและ ZTE
และเมื่อบริษัทผู้ให้บริการมือถือประจำภูมิภาค Viaero ลงนามสัญญากับบริษัทหัวเว่ยในปี 2011 สำหรับอุปกรณ์เครือข่าย 3G และในอีก 10 ปีต่อมา พบว่า อุปกรณ์การสื่อสารหัวเว่ยตั้งครอบคลุมทั่วรัฐภาคตะวันตก 5 รัฐ และทำให้การสอบสวนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นทันทีเมื่อมีอุปกรณ์สื่อสารหัวเว่ยมาติดตั้งใกล้เขตฐานทัพ
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 ก.ค.65
Link : https://mgronline.com/around/detail/9650000070885