นักวิจัยไมโครซอฟท์กำลังทำงานก้บคอมพิวเตอร์ควอนตัม
NIST ประกาศผลการคัดเลือกอัลกอริทึมเข้ารหัสที่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยชุดแรกมี 4 อัลกอริทึมที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำมาตรฐานต่อไป แบ่งเป็นกระบวนการเข้ารหัสแบบกุญแจลับ/กุญแจสาธารณะ 1 รายการ และกระบวนการสร้างลายเซ็นดิจิทัล 3 รายการ
กระบวนการคัดเลือกอัลกอรึทึมเข้ารหัสที่ทนทานต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 ก่อนหน้ากูเกิลจะประกาศว่าผ่านเส้นชัย Quantum Supremacy ไปเมื่อปี 2019 และทีมวิจัยจีนประกาศผ่านหลักชัยเดียวกันในปี 2020 แม้ว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะก้าวหน้าไปเร็วมาก แต่ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เห็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมใหญ่กว่า 100 คิวบิต ขณะที่คอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับที่เป็นภัยต่อกระบวนการเข้ารหัสนั้นต้องใช้เครื่องระดับหลายพันคิวบิต ซึ่งน่าจะพัฒนาสำเร็จหลังจากปี 2030 ไปแล้ว
กระบวนการเข้ารหัสที่ได้รับเลือก ทั้ง 4 รายได้แก่ CRYSTALS-KYBER , CRYSTALS-Dilithium , Falcon , และ SPHINCS+ ขณะที่ซอฟต์แวร์เข้ารหัสยอดนิยมอย่าง OpenSSH นั้นเลือกใช้ Streamlined NTRU Prime ก็อาจจะต้องปรับให้รองรับกระบวนการอื่นๆ เมื่อมาตรฐานเรียบร้อย
อัลกอรึทึมทั้งสี่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว 3 รอบ กระบวนการทำให้เป็นมาตรฐานยังมีงานต้องทำเพิ่มเติม เช่น การทำข้อตกลงไม่บังคับใช้สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่พัฒนาตามมาตรฐาน นอกจากนี้ NIST ยังเปิดคัดเลือกกระบวนการเข้ารหัสแบบกุญแจลับ/กุญแจสาธารณะเพิ่มเติมอีก 4 ตัว โดยผู้พัฒนาต้องปรับแต่งตามความเห็นจาก NIST ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
ที่มา – NIST: pqc-forum
ที่มา : blognone / วันที่เผยแพร่ 6 ก.ค.65
Link : https://www.blognone.com/node/129240