ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ‘ข้อมูล’ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับองค์กรธุรกิจเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาแอปพลิชัน เพื่อให้บริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าและประชาชน
แต่เมื่อเกิดกระแสบ่อยครั้งว่าข้อมูลที่ได้จากลูกค้าหรือประชาชนเกิดการ ‘หลุด’ ไปอยู่ในกลุ่มคนไม่หวังดีที่หวังผลทางธุรกิจหรือไม่ใช่ธุรกิจก็ตาม ทำให้ลูกค้าหรือประชาชนเริ่มไม่ค่อยมั่นใจเวลาจะต้องให้ข้อมูลส่วนตัวกับองค์กรธุรกิจหรือภาครัฐ ซึ่งเป็นที่มาทำให้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน
ทว่า ทันทีที่ PDPA มีผลบังคับใช้ กลับเกิดกระแสความเข้าใจผิด ด้วยบทลงโทษที่รุนแรง เช่น โทษทางอาญา จำคุกสูงสุด 1 ปี หรือโทษทางปกครองที่ปรับได้ถึง 5 ล้านบาท จึงเกิดดรามาต่างๆ ขึ้นจากความไม่รู้ เช่น ห้ามถ่ายภาพติดคนอื่นในโซเชียล ห้ามติดกล้องวงจรปิด มีการนำ PDPA กล่าวอ้างเพื่อจะฟ้องร้องกันหลายกรณี ในขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต่างก็ตื่นกลัวว่าจะสามารถทำตามกฎหมาย PDPA ได้หรือไม่ เพราะการเก็บข้อมูลไม่ให้รั่วไหลต้องใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดงานเสวนาจิบน้ำชา ‘ไขข้อข้องใจ PDPA ในทุกมิติ’ เพื่อสร้างความกระจ่างชัดให้สังคมที่กำลังสับสน
***เน้นอุดข้อมูลรั่ว-ดูเจตนาเป็นหลัก
‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า PDPA ต้องการบังคับใช้กับองค์กร หน่วยงานรัฐที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เลขที่บัญชีเพื่อไม่ให้รั่วไหล ดังนั้นจึงมีการกำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ในส่วนของประชาชนเองไม่ต้องกังวล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการถ่ายรูปตนเองและติดผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วนำมาโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย ทำได้ไม่ต้องเบลอหน้าคนอื่น
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
การทำกิจกรรมกับคนหมู่มากแล้วต้องมีการบันทึกภาพ ต้องแจ้งให้คนในพื้นที่นั้นๆ ทราบ กล้องวงจรปิดในบ้านติดได้เพื่อความปลอดภัย แต่หากมีการติดตามอาคารทั่วไปควรมีป้ายแจ้งว่ามีกล้องวงจรปิด การถ่ายคลิปต่างๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางอาชญากรรม สามารถทำได้ แต่ห้ามเผยแพร่ในโลกโซเชียล หรือแม้แต่กรณีนำคลิปมาตัดต่อทำให้เกิดความเสียหายที่สับสนกัน ถือว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้ แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
เพราะหลักการของกฎหมายดูที่เจตนา หากประชาชนไม่ได้มีเจตนา ผู้เสียหายมาขอให้ลบโพสต์ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ไม่ใช่ว่าใครก็จะมาฟ้องร้องได้ ต้องดูก่อนว่าเขามีเจตนาไม่ดีหรือไม่ ขอให้ลบแล้ว ทำตามหรือไม่ หรือความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะเน้นการไกล่เกลี่ยก่อนเสมอ ผู้คิดแสวงหาประโยชน์จาก PDPA ในการนำเรื่องไปฟ้องร้องต้องระวังการถูกฟ้องกลับ เพราะการตัดสินโทษทางแพ่งและอาญาเป็นกระบวนการของศาล เป็นไปตามการตัดสินและดุลพินิจของศาล ซึ่งมีการพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ พยานหลักฐานและเจตนา
‘เรื่องของบทลงโทษ กฎหมายลูกระบุว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ.2565 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง โดยคำสั่งลงโทษตามระดับความร้ายแรงของการทำความผิด กรณีไม่ร้ายแรง ให้ตักเตือนหรือสั่งให้แก้ไข สั่งห้าม หรือสั่งจำกัดการกระทำได้ สำหรับกรณีร้ายแรง (ที่อาจหมายรวมถึงกรณีที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง) หรือสั่งตักเตือนไม่เป็นผล จึงให้ลงโทษทางปกครองโดยการปรับ’
ส่วนความกังวลของเอสเอ็มอีนั้น PDPA มีการออกกฎหมายลูกมาแล้วเพื่อผ่อนปรนให้เอสเอ็มอี ยกเว้นการบันทึกรายการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก พ.ศ.2565 ให้เอสเอ็มอี คือ โรงงานผลิตที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน หรือรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือร้านค้าปลีกหรือบริษัทที่มีพนักงานไม่เกิน 100 คน หรือรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกลุ่มกิจการเพื่อสังคม สหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม องค์กรศาสนา หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และกิจการในครัวเรือนหรือกิจการอื่นในลักษณะเดียวกัน
แต่การรักษาข้อมูลยังต้องระวังไม่ให้รั่วไหล ด้วยวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี เช่น การเก็บในที่ปลอดภัย การตั้งรหัสเข้าถึงที่คาดเดายาก และกำหนดคนเข้าถึงข้อมูลเพื่อสามารถหาเส้นทางของข้อมูลได้ เพราะหากข้อมูลรั่วยังมีความผิดทางกฎหมายหากมีเจตนาขายข้อมูล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคาดหวังว่า PDPA จะสามารถช่วยลดปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ชื่อ ได้เบอร์ไปจากร้านค้าหรือกิจกรรมที่ประชาชนไปติดต่อ เช่น ส่งของออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วข้อมูลเหล่านี้ต้องจัดเก็บให้ดี องค์กรธุรกิจต่างๆ จะไปถ่ายโอนหรือส่งต่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ มีความผิด เพราะถือเป็นข้อมูลส่วนตัว
ด้าน ‘เธียรชัย ณ นคร’ ประธานกรรมการ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า หลักของกฎหมายฉบับนี้ คือ การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใด จะต้องมีการขอจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือตามที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ จะต้องมีการบอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลไปใช้และใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุ
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการให้สิทธิแก่ ‘เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล’ ที่สามารถขอให้เปลี่ยนแปลง แก้ไข ขอสำเนา ขอให้ลบได้ หากไม่ขัดกับหลักการหรือข้อกฎหมายใดๆ และองค์กรที่ได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาจะต้องมีมาตรการ และมาตรฐานในการบริหารจัดการดูแลข้อมูลเหล่านี้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
หากข้อมูลรั่ว องค์กรต้องรู้เส้นทางของข้อมูลว่ารั่วไหลไปทางไหนบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อคือการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการรวบรวมเบอร์โทร.ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มาตรวจสอบและหาเส้นทางว่าข้อมูลรั่วมาจากไหน ซึ่งจะสามารถทำได้กับเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์ภายในประเทศ
***ตระหนักแบบไม่ตระหนก
พล.ต.ต.ปภัชเดช เกตุพันธ์ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) ชี้ว่าภาคประชาชนเองควรตระหนักรู้ว่า เราคือเจ้าของข้อมูล แต่ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องสิทธิจนเกินกว่าเหตุ หากการใช้ข้อมูลเหล่านั้นของบุคคลที่สามเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
ดังนั้น ประชาชนควรศึกษาการนำข้อมูลไปใช้หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามโดยตรง และเมื่อเกิดความไม่ต้องการให้มีการนำไปใช้สามารถแจ้งให้กลุ่ม บุคคล หรือองค์กรเหล่านั้นลบข้อมูลที่ไม่อนุญาตออกจากระบบได้
สำหรับองค์กรธุรกิจเองจะต้องมีความชัดเจนในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้เกิดความรอบคอบ หากมีการส่งต่อข้อมูลแล้วถูกนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อหาที่มาของข้อมูลและการอนุญาตว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังการใช้ข้อมูลเช่นนี้ให้ดีซึ่งหากขั้นตอนการเก็บรักษาข้อมูลมีความโปร่งใส จะเป็นการแสดงเจตนาของความพยายามรักษาข้อมูลให้ดีที่สุดได้แล้ว
พ.ต.อ.ณัฐพันธ์ เศรษฐบุตร ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบ (บก.สสท.) ย้ำว่า วันนี้เราอย่าตื่นตะหนกกับการเริ่มต้นบังคับใช้สิ่งใหม่ๆ อย่าเรียกหาสิทธิพึงมีจนเกินกว่าเหตุ จนทำให้การดำเนินชีวิตมีความปั่นป่วน ควรพิจารณาเคารพสิทธิของผู้อื่น เมื่อเกิดความผิดพลาดของการละเมิดแล้วผู้เสียหายได้แจ้งหรือร้องขอกับเราโดยตรงก็ทำการแก้ไข เพียงเท่านี้ก็แสดงเจตนาของการเคารพสิทธิของกันและกันตามวัตถุประสงค์ของข้อกฎหมายนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 ก.ค.65
Link : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9650000062838