รัสเซียส่งดาวเทียมดวงหนึ่งของอิหร่าน ทะยานขึ้นจากคาซัคสถานในวันอังคาร (9 ส.ค.) และพุ่งสู่วงโคจร ท่ามกลางประเด็นถกเถียงว่ามอสโกอาจใช้ดาวเทียมดวงนี้สอดแนมเป้าหมายทางทหารต่างๆ ในยูเครน
หลังจากถูกนานาชาติโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามหลังตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน ทางรัสเซียกำลังหาทางปักหมุดเข้าหาตะวันออกกลาง เอเชียและแอฟริกา รวมถึงเสาะหาลูกค้าใหม่ในโครงการอวกาศของพวกเขา
ยูริ โบริซอฟ หัวหน้าขององค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) กล่าวที่ศูนย์ปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์ คอสโมโดรม ในทุ่งหญ้าสเตปป์ ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งบริหารงานโดยมอสโก ยกย่องมันในฐานะ “หลักชัยแห่งประวัติศาสตร์ในความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน เปิดทางสู่การเกิดโครงการใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งโครงการที่ใหญ่กว่านี้”
อิสซา ซาเรปูร์ รัฐมนตรีคมนาคมของอิหร่าน ซึ่งร่วมเป็นสักขีพยานการปล่อยดาวเทียม Khayyam เรียกมันว่า เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และจุดเปลี่ยนสำหรับการเริ่มต้นการปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ในขอบเขตทางอวกาศระหว่าง 2 ประเทศ
ส่วน นาสเซอร์ คานานิ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน เขียนบนทวิตเตอร์ว่า “มันคือเส้นทางอันน่าอัศจรรย์แห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตรและแรงกดดันขั้นสูงสุดของศัตรู”
อิหร่าน ซึ่งคงความสัมพันธ์กับมอสโก และละเว้นวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน พยายามกลบความสงสัยต่างๆ หลังจากมีหลายฝ่ายกังวลว่ามอสโกอาจใช้ Khayyam สอดแนมยูเครน
วอชิงตัน พูดถึงการปล่อยจรวดครั้งนี้ว่า ความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน สามารถถูกมองในฐานะเป็นภัยคุกคาม “เราทราบรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่รัสเซียปล่อยดาวเทียมลูกหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพอันสำคัญในการสอดแนมในนามของอิหร่าน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายหนึ่งบอกว่า “ความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน เป็นสิ่งที่ทั่วทั้งโลกต้องจับตามองและมองมันในฐานะภัยคุกคาม”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างบรรดาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองตะวันตกที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่า รัสเซียมีแผนใช้ดาวเทียมดวงนี้เป็นเวลานานหลายเดือนหรือนานกว่านั้น เพื่อช่วยทำสงครามในยูเครน ก่อนส่งมอบการควบคุมให้แก่อิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ไม่ถึง 2 ชั่วโมง หลังดาวเทียมถูกส่งขึ้นสู่อากวศด้วยจรวด Soyuz-2.1b ทางหน่วยงานอวกาศของอิหร่าน (ไอเอสเอ) ระบุว่าทางสถานีภาคพื้นของหน่วยงานอวกาศอิหร่านได้รับข้อมูลเทเลเมติกส์ชุดแรกมาแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันอาทิตย์ (7 ส.ค.) พวกเขาเน้นย้ำว่าอิหร่านจะเป็นผู้ควบคุมดาวเทียม “ตั้งแต่วันแรก” ความเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนเป็นการตอบโต้รายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์
“ไม่มีประเทศที่ 3 ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ส่งมาโดยดาวเทียม สืบเนื่องจากใช้อัลกอริทึมในการเข้ารหัส” หน่วยงานอวกาศของอิหร่านกล่าว พร้อมระบุว่าจุดประสงค์ของ Khayyam คือเฝ้าระวังชายแดนของประเทศ เพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร สังเกตการณ์ทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
Khayyam ไม่ใช่ดาวเทียมดวงแรกของอิหร่านที่รัสเซียเป็นผู้ดำเนินการส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยในปี 2005 ดาวเทียม Sina-1 ของอิหร่าน ถูกส่งขึ้นวงโคจรจากศูนย์ปล่อยอวกาศยานเพลเซ็ตสก์ คอสโมโดรม ของรัสเซีย
ปัจจุบัน อิหร่านอยู่ระหว่างเจรจากับเหล่ามหาอำนาจโลก ในนั้นรวมถึงรัสเซีย ในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งมีเป้าหมายควบคุมความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของเตหะราน
สหรัฐฯ ซึ่งถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2018 ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหา อิหร่านให้การสนับสนุนสงครามในยูเครนของรัสเซีย ภายใต้ฉากหน้าที่อ้างวางตัวเป็นกลาง
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย พบปะกับ อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านและอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ในกรุงเตหะรานเมื่อเดือนที่แล้ว หนึ่งในการเดินทางเยือนต่างประเทศไม่กี่ทริปของเขา นับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์
คาเมเนอี เรียกร้องให้อิหร่านกับรัสเซียมีความร่วมมือกันในระยะยาวระหว่างที่ทั้งคู่พบปะกัน และเตหะรานปฏิเสธเข้าร่วมนานาชาติ ในการประณามการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย
อิหร่าน ยืนยันว่าโครงการอวกาศของพวกเขา มีจุดประสงค์เพียงด้านพลเรือนและป้องกันตนเอง และไม่ละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 หรือข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใด
บรรดารัฐบาลตะวันตกกังวลว่าระบบปล่อยดาวเทียม ได้รวบรวมเทคเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถสับเปลี่ยนไปใช้กับขีปนาวุธที่มีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ บางอย่างที่ทางอิหร่านปฏิเสธมาตลอด
(ที่มา : เอเอฟพี)
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 ส.ค.65
Link : https://mgronline.com/around/detail/9650000076161