“กทม.” จับมือ “บช.น.” หารือ 8 เรื่องสำคัญ ด้าน “ชัชชาติ” ชี้ พนง.ทำความสะอาดกทม. เป็นหูเป็นตาให้ได้ ชี้ไม่มีงบประมาณเพิ่มเติม เอาประโยชน์ปชช. เป็นที่ตั้ง
1 ส.ค.2565 – ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมหารือร่วมกับคณะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีพล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารกทม. พร้อมด้วย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และทีมงาน เข้าร่วมการประชุม
โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ (1 ส.ค.) ถือเป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้มาหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งในการให้บริการประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานแบบไร้รอยต่อคือหัวใจที่ทำให้สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องต่าง ๆ 8 เรื่อง ได้แก่
เรื่องที่ 1. ด้านการจราจร หารือในเรื่องการลดอุบัติเหตุการเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง การบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งการทำงานของ กทม. จะดูแลพื้นที่บนทางเท้า (footpath) และกล้อง CCTV
ส่วนการทำงานของตำรวจจะดูแลพื้นที่บนถนน และการควบคุมสัญญาณไฟ จึงต้องมีการทำงานร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งนี้ ทางตำรวจได้มีการรวบรวมจุดเสี่ยงต่าง ๆ เช่น จุดที่มีรถติดขัด จุดที่มีน้ำท่วมขัง จุดที่มีความเสี่ยงอันตราย
ซึ่งต่อไป กทม. จะนำมาซ้อนกับแผนที่จุดเสี่ยง เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ที่ประชุมได้เห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยร่วมกันระหว่าง กทม. และ ตำรวจ เพื่อดูแลเรื่องการจราจรโดยตรง
เรื่องที่ 2. ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และร่างกายของประชาชน หารือในเรื่องการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น โดยได้มีการพูดถึงการสำรวจปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ พบปัญหาเรื่องแสงสว่าง 172 จุด ไม่มีกล้อง CCTV 129 จุด ปัญหาจุดอับ/จุดอันตรายตามตรอก ซอก ซอย 18 จุด
และมีการพูดถึงโครงการ Smart Safety Zone 4.0 ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการผสมผสานแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เข้ากับแนวคิดที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือSafety Zone ให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกคน ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ ภาคประชาชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภายในชุมชน และสื่อมวลชนทุกแขนง
ในการวิเคราะห์สภาพพื้นที่และคัดเลือกพื้นที่ร่วมโครงการ และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการนำร่องในระยะแรกกับสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 แห่ง ได้แก่ สน.ห้วยขวาง สน.ลุมพินี สน.ภาษีเจริญ และในอนาคตจะเพิ่มอีก 9 แห่ง เช่นสน.มักกะสัน สน.สายไหม สน.มีนบุรี สน.โชคชัย สน.ทองหล่อ เป็นต้น
เรื่องที่ 3. ด้านยาเสพติด หารือในเรื่องการลดการแพร่กระจายของยาเสพติดอื่น ๆ ในพื้นที่ การป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการยกเว้นให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ โดยได้มีการรายงานสถิติการจับกุมที่ผ่านมา (1 ต.ค. 64 – 30 ก.ค. 65) ดังนี้
ยาบ้า กว่า 21 ล้านเม็ด ยาไอซ์ กว่า 1,300 กก. กัญชา กว่า 8,000 กก. เฮโรอีน กว่า 91 กก. เคตามีนกว่า 553 กก. ยึดทรัพย์ กว่า 692 ล้านบาท ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์คัดกรอง 20 แห่ง ซึ่งเปิดให้บริการเพื่อรองรับการนำส่งผู้ต้องสงสัยว่าเสพยาเสพติดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โดยศูนย์คัดกรองจะดำเนินการคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต ตรวจหาสารเสพติดในร่างกายเพื่อประกอบการประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด พิจารณาส่งต่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยเปิดให้บริการระหว่างเวลา 08.00 – 12.00 น. แต่ปัญหาที่พบคือศูนย์ฯ ส่วนใหญ่เปิดทำการเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์ มีเพียง 8 แห่ง ที่เปิดในวันเสาร์-อาทิตย์
เรื่องที่ 4. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หารือในเรื่องการพัฒนา software การใช้ AI เพื่อให้การใช้กล้อง CCTV มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับผู้กระทำการผิดกฎหมาย/ผู้ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงการนำกล้องของเอกชนมาเป็นแนวร่วมด้วย
นอกจากนี้ได้มีการรายงานผลสำรวจจำนวนกล้อง CCTV และเสนอติดตั้งเพิ่มเติมตามจุดต่าง ๆ ได้แก่ ตามแผนการรับเสด็จ เขตพระราชฐาน โรงพยาบาล/สถานศึกษา/สถานที่ราชการ พื้นที่ชุมชน สถานีขนส่ง จุดเสี่ยงอาชญากรรมเส้นทางจราจร
เรื่องที่ 5. ด้านการชุมนุมเรียกร้อง และความมั่นคง หารือในเรื่องการจัดสถานที่ชุมนุมให้มีความเหมาะสม และการควบคุมการชุมนุมให้สามารถแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพภายใด้กรอบกฎหมายกำหนด โดยการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป
ยังคงมีการห้ามการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่อาจเกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสและสามารถแพร่โรค เว้นแต่การจัดกิจกรรมนั้นได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ นายชัชชาติ กล่าวว่า “การจัดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะที่ผ่านมาช่วยลดความวุ่นวายลงได้ทั้งการจราจรและทางกฎหมาย ในส่วนของความมั่นคง ที่ประชุมเห็นควรให้มีการประชุม กอร.มน.กทม. เพื่อประสานความร่วมมือกันต่อไป”
เรื่องที่ 6. ด้านเศรษฐกิจ หารือในเรื่องการอำนวยความสะดวกสถานบริการ ธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องพื้นที่ zoning ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งสถานบริการตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 zoning ได้แก่ ย่านพัฒน์พงษ์ รัชดาภิเษก และเพชรบุรีตัดใหม่
ตำรวจรายงานว่า ภาพรวมผู้ขอต่อใบอนุญาตมีจำนวนลดลง เพราะผู้อยู่นอก zoning จะไม่ได้รับอนุญาต ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการพิจารณากำหนด zoning และขยายระยะเวลา เพื่อให้สถานบริการสามารถขออนุญาตได้ กลับเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าควบคุมดูแลได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
เรื่องที่ 7. ด้านการประชุม APEC ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 – 19 พ.ย. 2565 กทม.เป็นเจ้าภาพร่วมกับอีกหลายหน่วยงานทั้งนี้ จากการข่าวที่คาดว่าน่าจะมีความไม่สงบเรียบร้อย ทางตำรวจจึงมีการเตรียมความพร้อมและเสนอแนะให้มีการตั้งอาสาสมัครพิทักษ์เมือง โดยจัดอบรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พนักงานรักษาความสะอาด วินมอเตอร์ไซค์ รปภ. เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตา และ
เรื่องที่ 8. ด้านการใช้ Traffy Fondue สำหรับแจ้งเหตุต่าง ๆ ทางตำรวจจะเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ไร้รอยต่อ ซึ่งในกรุงเทพมหานครมี สน. จำนวน 88 แห่ง
นายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ทางตำรวจขอมาเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะกทม.มีพนักงานรักษาความสะอาดเป็นหมื่นคนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นหูเป็นตาที่ดีมากในการช่วยเหลือด้านความปลอดภัย โดยทางตำรวจได้กรุณาอบรมพนักงานกลุ่มนี้ให้ทราบว่าควรสังเกตอะไร ระวังอะไร สิ่งน่าสงสัยมีอะไรบ้าง และการแจ้งเหตุต้องทำอย่างไร เพื่อช่วยดูแลอาคันตุกะผู้มาเยือนจากทั้ง 21 ประเทศ (เขตเศรษฐกิจ)
ขณะที่พล.ต.ท.สำราญ กล่าวว่า หลังจากการอบรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 2 หมื่นคน ให้แจ้งข่าว APEC จะสานต่อให้เป็นการแจ้งข่าวอาชญากรรมให้กับพี่น้องประชาชนด้วย และทุกเรื่องจะมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานย่อยและจะมีการติดตามความคืบหน้ากันเป็นระยะต่อไป
“ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ต้องขอขอบคุณท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่กรุณายกทีมมาหารือกันและเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ทำไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว แต่การร่วมมือกันจะทำให้การไหลของข้อมูลสะดวกขึ้น กทม.จะสนับสนุนในส่วนที่สามารถทำได้ และขยายผลให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
—————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยโพสต์ / วันที่เผยแพร่ 1 ส.ค.65
Link : https://www.thaipost.net/general-news/191784/