– จากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในกรุงโซลและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 ศพ และยังมีผู้สูญหายอีก 4 ราย ประชาชนอย่างน้อย 163 ราย ต้องไร้ที่อยู่อาศัย
– นายกเทศมนตรีกรุงโซลประกาศทุ่มงบประมาณ 1.5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ในช่วงทศวรรษข้างหน้าเพื่อปรับปรุงระบบการระบายน้ำสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 6 เส้นทางเพื่อรองรับน้ำท่วมครั้งใหญ่ในอนาคต
– ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ฝนตกหนัก และสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงมากขึ้น โดยในปีนี้ฝนตกหนักผิดปกติและคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าทุกปี ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันคน และมีประชาชนต้องไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายล้านคน
ทางการเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ฝนตกหนักน้ำท่วมครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 14 ศพ ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงโซล 8 ศพ อยู่ในจังหวัดคยองกี 4 ศพ และอีก 2 ศพอยู่ที่จังหวัดกังวอน ทางภาคตะวันออก และยังมีผู้สูญหายอีก 4 ราย ทั้งในกรุงโซล จังหวัดคยองกี และกังวอน นอกจากนี้ยังมีประชาชนอพยพหนีน้ำเกือบ 7,200 ราย
กระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า บ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วมได้ทำให้มีประชาชนอย่างน้อย 163 ราย ต้องไร้ที่อยู่อาศัย อาคาร 751 แห่งถูกน้ำท่วม ขณะเดียวกันมีประชาชนยื่นเคลมประกันรถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม 4,791 คัน ทางสมาคมประกันภัยเกาหลีใต้คาดว่า มีมูลค่าความเสียหายของรถยนต์รวมกว่า 65,800 ล้านวอน ด้านรัฐบาลสั่งการ 11 กระทรวง มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น
ต้นตอปัญหาที่ทำให้เกิดความเสียหาย
สำหรับกรุงโซล นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดน้ำท่วมฉับพลันทำให้เกิดความเสียหาย ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน ปี 2553 และเดือนกรกฎาคม ปี 2554 ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ ในย่านกังนัม หลังมีฝนตกหนักมาแล้ว
ช่วงก่อนที่กรุงโซลจะกลายเป็นมหานครทันสมัยอย่างทุกวันนี้ บริเวณย่านกังนัม ที่มีขนาดใหญ่เป็น อันดับ 3 ในโซล มีพื้นที่ประมาณ 39.5 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ดินโคลนราบต่ำทางตอนใต้ของแม่น้ำฮัน มีหมู่บ้านกระจัดกระจายกันอยู่เพียงไม่กี่แห่งล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่กว่า 75% เป็นพื้นที่ต่ำกว่า 40 เมตร และมีระดับลาดเอียงอยู่ที่ 5% และปัจจุบันนี้จากดินโคลนก็กลายเป็นถนนลาดยางและปูนซีเมนต์
เมื่อกังนัมมีระดับต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบ ทำให้กลายเป็นแอ่งสะสมน้ำ ซึ่งหลายคนเปรียบเทียบว่าเป็น “ฮันการี” หรือไหดิน แห่งกรุงโซล
ประกอบกับการที่มีฝนตกปริมาณมาก โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ช่วงระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. ที่ผ่านมา มีเมฆฝนเคลื่อนตัวเข้าบริเวณตอนใต้ของกรุงโซล ทำให้มีฝนตกหนักวัดปริมาณได้ถึง 525 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่เมืองยางพยอง ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันออก 45 กิโลเมตร มีฝนตกในช่วงเวลาเดียวกันมากถึง 526.2 มิลลิเมตร
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานมหานครกรุงโซล เปิดเผยว่า กรุงโซลรองรับน้ำท่วมได้เพิ่มขึ้นเป็น 85 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จากเดิม 45 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แม้อุโมงค์ระบายน้ำสะพานพันโพ จะเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำฝนที่ตกลงอย่างหนัก 110 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาได้
จากวิกฤติสู่แผนรับมือในอนาคต
ที่ผ่านมา กรุงโซลขาดแผนมาตรการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากพอ หลังจากมหานครแห่งนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก ประชากรเพิ่มขึ้นจาก 2-3 ล้านคน ในช่วงปี 2503 มาอยู่ที่กว่า 10 ล้านคนในปัจจุบัน ขณะที่เกาหลีใต้มีการพัฒนาไม่หยุดยั้งล่าสุดเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย
นายโอ เซ ฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซลประกาศทุ่มงบประมาณ 1.5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ในช่วงทศวรรษข้างหน้าเพื่อปรับปรุงระบบการระบายน้ำ หลังจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าระบบระบายน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำแบบที่เจอครั้งล่าสุดนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างเขตกังนัม ได้รับความเสียหายมากที่สุด
นายกเทศมนตรีกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า มาตรการป้องกันน้ำท่วมแบบระยะสั้นของกรุงโซล ไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติที่เกิดจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวนเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อีก
สำหรับแผนพัฒนาระบบระบายน้ำได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาดยักษ์ 6 เส้นทาง เพื่อเก็บกักและปล่อยน้ำป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จากปัจจุบันรองรับได้ 95 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง รวมไปถึงการจัดสรรทางระบายน้ำบริเวณพื้นผิว เพื่อระบายน้ำฝนปริมาณมากกว่านี้ ในขณะที่พื้นผิวกว่า 50% ของที่ดินกรุงโซลเป็นพื้นที่แบบน้ำไหลซึมลงดินไม่ได้ โดยเฉพาะย่านกังนัมที่มีแต่ถนนและอาคารสำนักงาน
นายมุน ยอง อิล ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมพลเรือนแห่งมหาวิทยาลัยโซล มองว่า โครงการรับมือน้ำท่วมในอนาคตเป็นเรื่องที่ทางการจะต้องหาความลงตัวระหว่างต้นทุนดำเนินการกับความปลอดภัยของประชาชน โดยเชื่อว่าตัวเลข 100 มิลลิเมตร เป็นอะไรที่พอรับได้
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ทางการกรุงโซลเคยเสนอแผนก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้วครึ่งหนึ่ง เป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 37,000 ล้านบาท หลังเกิดฝนตกหนักและดินถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 ศพ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในย่านกังนัม แต่ต่อมาแผนนี้ก็ชะงักไปเพราะขาดการผลักดันและมีปัญหาด้านงบประมาณในปีต่อมา
อย่างไรก็ตามโครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระบบนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับน้ำท่วมใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 30 ปี แต่ถึงสร้างเสร็จก็ยังไม่สามารถรองรับมวลน้ำปริมาณมหาศาลที่สุดในรอบ 115 ปีอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการกรุงโซลประกาศว่า จะเตรียมหารือกับรัฐบาลเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติการก่อสร้าง ไม่อนุญาตให้สำนักงานเขตทั้ง 25 แห่ง ออกใบอนุญาตสร้างบ้านชั้นใต้ดิน หรือบ้านกึ่งใต้ดินแบบที่เรียกว่า “พันจีฮา” อีกต่อไป และจะค่อยๆ เลิกใช้บ้านที่มีอยู่เดิม โดยจะผ่อนผันให้เจ้าของบ้านชั้นใต้ดิน หรือกึ่งชั้นใต้ดิน เปลี่ยนที่อยู่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ที่อยู่ ภายใน 20 ปี โดยให้สิ่งจูงใจแก่เจ้าของบ้าน อาทิ เงินอุดหนุนสำหรับการปรับปรุงใหม่ หรือซื้อที่ดินที่อยู่ใต้ดินเพื่อเปลี่ยนให้เป็นโกดังส่วนกลาง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน
แผนดังกล่าวมีขึ้นหลังพบกรณีน่าสลดใจ มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ เป็นสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในห้องกึ่งใต้ดินแบบนี้ในเขตกวานัก เจ้าหน้าที่กู้ภัยไปพบศพหลังทำการสูบน้ำออกมาจากบ้าน
อพาร์ตเมนต์ชั้นกึ่งใต้ดินกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้ จากข้อมูลของทางการกรุงโซลระบุว่า ในปี 2563 มีบ้านที่อยู่ใต้ดิน หรือกึ่งใต้ดิน คิดเป็น 5% หรือกว่า 200,000 หลัง
ผลกระทบปัญหาโลกร้อน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล จัดประชุมรับมือน้ำท่วมหลายครั้ง เพื่อหาแนวทางเตรียมพร้อมกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นอีก
ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันโซลระบุว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นทำให้ระดับความชื้นในอากาศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนัก แม้กรุงโซลจะมีฝนตกหนักตามฤดูกาลมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่จากการจัดทำรายงานด้านสภาพอากาศทำให้พบว่า อัตราการเกิดฝนตกหนักมีความถี่และรุนแรงขึ้นประมาณ 27% นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เรียกได้ว่าเป็นภาวะอากาศแปรปรวนแบบสุดขั้ว มีการทำสถิติใหม่อยู่ตลอด ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฝนตกหนักตามฤดูกาลอีกต่อไป
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ระบุว่า ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ฝนตกหนักและสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงมากขึ้น โดยในปีนี้ฝนตกหนักผิดปกติและคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าทุกปี ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันคน และมีประชาชนต้องไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายล้านคน
นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญฝนตกหนักตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดดินโคลนถล่ม แม่น้ำหลายสายมีปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่ง มีรายงานการประกาศเตือนเกิดพายุซัดขึ้นฝั่ง (storm surge) ในหลายพื้นที่ ส่วนเพื่อนบ้านเกาหลีเหนือก็เจอสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ หลังจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กรณีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : Bloomberg Yonhap Korea Herald
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 ส.ค.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2472200