เมื่อวันจันทร์ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ เข้าค้นรีสอร์ทมาร์อะลาโกในเมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของเขา ในขณะที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้มีความเห็นโดยทันทีต่อคำกล่าวอ้างของทรัมป์ และยังไม่ชัดเจนว่า เป้าหมายของการสืบสวนครั้งนี้คืออะไร
รอยเตอร์สรุปคดีและการไต่สวนที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ กำลังเผชิญก่อนเหตุค้นบ้านในครั้งนี้
พบเอกสารรัฐบาลซุกในบ้านทรัมป์
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ “หอจดหมายเหตุแห่งชาต”” ของสหรัฐฯ แจ้งแก่รัฐสภาอเมริกันว่า พบเอกสารทำเนียบขาวจำนวนราว 15 กล่อง ที่บ้านของทรัมป์ในรัฐฟลอริดา โดยเอกสารบางส่วนมีข้อมูลลับ
คณะกรรมการตรวจสอบดูแลของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น ระบุว่า ได้ขยายการสืบสวนการกระทำของทรัมป์ และขอให้หอจดหมายเหตุมอบข้อมูลเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ โดยก่อนหน้านั้น ทรัมป์ยืนยันว่าได้ตกลงคืนบันทึกส่วนหนึ่งให้ทางหอจดหมายเหตุแล้ว โดยระบุว่า ขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา”
เหตุโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021
คณะกรรมการสืบสวนเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ กำลังเก็บข้อมูลการผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น จากความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020
ลิซ เชนีย์ รองประธานคณะกรรมการ ระบุว่า ทางคณะกรรมการสามารถทำเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อตั้งข้อหาตามคดีอาญาต่อทรัมป์ได้ ในขณะที่ทรัมป์กล่าวหาว่า คณะกรรมการดังกล่าวทำการสืบสวนแบบ “ลวงโลก”
คณะกรรมการระบุในเอกสารที่ยื่นให้ศาลเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ว่า ทรัมป์พยายามโน้มน้าวให้อดีตรอง ปธน. ไมค์ เพนซ์ ไม่รับการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งที่ลงคะแนนให้โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ที่ชนะการเลือกตั้ง หรือชะลอการนับคะแนนของรัฐสภาออกไป
เดวิด คาร์เตอร์ ผู้พิพากษารัฐบาลกลางของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ดูแลคดีดังกล่าว ระบุว่า ความพยายามของทรัมป์อาจเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ห้ามการขัดขวางหรือความพยายามขัดขวางกระบวนการใด ๆ ของรัฐ
ในเอกสารที่ยื่นเมื่อวันที่ 2 มี.ค. คณะกรรมการระบุว่า ทรัมป์และบุคคลอื่น ๆ อาจสมรู้ร่วมคิดกัน “ฉ้อโกง” ประเทศ โดยกฎหมายกำหนดโทษสำหรับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ที่พยายามแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลด้วยการ “หลอกลวง ใช้เล่ห์เหลี่ยม หรือใช้กลอุบาย”
ทางคณะกรรมการยังระบุว่า นอกจากความพยายามกดดันอดีตรอง ปธน.เพนซ์ แล้ว ทรัมป์ยังพยายามโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่เลือกตั้งของรัฐ สาธารณชน และสมาชิกรัฐสหาสหรัฐฯ เชื่อว่าเขาถูกขโมยชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้พันธมิตรของเขาจะบอกเขาว่าไม่มีหลักฐานการโกงเลือกตั้งก็ตาม
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการไม่สามารถจับกุมทรัมป์ด้วยข้อหาคดีอาญาตามกฎหมายรัฐบาลกลางได้ โดยผู้ที่จะตัดสินใจได้คือกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากกระทรวงยุติธรรมตั้งข้อหาต่อทรัมป์ ความท้าทายของเหล่าอัยการก็คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทรัมป์กระทำการดังกล่าวด้วยเจตนาทุจริต
ทั้งนี้ ทรัมป์สามารถแก้ต่างได้ว่า เขาเชื่ออย่างแท้จริงว่าเขาชนะเลือกตั้ง และการที่เขาพยายามกดดันอดีตรอง ปธน.เพนซ์ และเจ้าหน้าที่เลือกตั้งระดับรัฐ ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางรัฐสภาสหรัฐฯ หรือหลอกลวงประเทศ แต่เขาทำไปเพื่อปกป้องความถูกต้องเที่ยงตรงของการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ทรัมป์อาจถูกตั้งข้อหา “สมรู้ร่วมคิดเพื่อปลุกปั่น” ซึ่งเป็นข้อหาที่พบไม่บ่อยนัก โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลอเมริกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยบาร์บารา แม็คเควด ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยมิชิแกน และอดีตอัยการรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่า อัยการต้องแสดงให้เห็นว่าทรัมป์สมรู้ร่วมคิดกับผู้อื่นเพื่อใช้กำลัง เพื่อพิสูจน์ว่าทรัมป์มีความผิดตามข้อหาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ผู้มีส่วนร่วมกับเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.หลายคน ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดเพื่อปลุกปั่นแล้ว
การฉ้อโกงเงิน
ระหว่างการไต่สวนโดยคณะกรรมการสืบสวนเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือน มิ.ย. สมาชิกพรรคเดโมแครตระบุว่า ทรัมป์ระดมเงินราว 250 ล้านดอลลาร์จากผู้สนับสนุนของเขาเพื่อเป็นทุนทำคดีในศาลว่าเขาชนะเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กลับนำเงินส่วนใหญ่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่า ทรัมป์อาจถูกตั้งข้อหา Wire Fraud หรือการได้เงินมาด้วยการหลอกลวงเสแสร้งผ่านทางอินเตอร์เน็ต
การสอบสวนเหตุแทรกแซงผลเลือกตั้งรัฐจอร์เจีย
เมื่อเดือน พ.ค. มีการแต่งตั้งคณะลูกขุนใหญ่คณะพิเศษเพื่อพิจารณาหลักฐานของกรณีที่ยื่นโดยอัยการรัฐจอร์เจีย เกี่ยวกับความพยายามของทรัมป์ที่อาจใช้อิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งของรัฐเมื่อปี 2020
การสืบสวนมุ่งเน้นไปที่บทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัปม์และแบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ เลขานุการรัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ปีที่แล้ว
ในบทสนทนาดังกล่าวตามไฟล์เสียงที่หนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ได้รับ ทรัมป์ขอให้ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ “หา” คะแนนเลือกตั้งเพื่อพลิกผลการเลือกตั้งที่เขาแพ้
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า ทรัมป์อาจละเมิดกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจียอย่างน้อยสามกฎหมาย ได้แก่ การสมรู้ร่วมคิดเพื่อโกงการเลือกตั้ง การจูงใจให้ผู้ใดกระทำการโกงเลือกตั้ง และการจงใจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เลือกตั้ง
ทั้งนี้ ทรัมป์อาจแย้งได้ว่าเขาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและไม่ได้มีเจตนาใช้อิทธิพลต่อการเลือกตั้ง
FILE PHOTO: Former U.S. President Donald Trump hosts a rally in Ohio
การสอบสวนคดีอาญาในรัฐนิวยอร์ก
อัลวิน แบรกก์ อัยการเขตแมนแฮตตัน รัฐนิวยอร์ก สืบสวนว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลทรัมป์ สำแดงมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เป็นเท็จเพื่อกู้เงินจากธนาคารและเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง
เมื่อเดือน ก.พ. เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่นำการสืบสวนดังกล่าวลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของแบรกก์ระบุว่า การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป
นอกจากนี้ เลติเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก ยังสืบสวนด้วยว่าบริษัท เดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน แจ้งมูลค่าอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ โดยทรัมป์และลูกสองคน คือ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ และอิวานกา ทรัมป์ ตกลงเข้ารับการไต่สวนที่เริ่มไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค.
ทางด้านทรัมป์ปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำผิด และระบุว่าการสืบสวนทั้งสองกรณีมีเหตุจูงใจทางการเมือง โดยทั้งแบรกก์และเจมส์เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต
คดีหมิ่นประมาท
เมื่อปี 2019 อี จีน แคร์โรล อดีตนักเขียนของนิตยสารแอล ฟ้องร้องทรัมป์คดีหมิ่นประมาท หลังทรัมป์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ปธน.ในขณะนั้น ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่เธอระบุว่าทรัมป์ข่มขืนเธอที่ห้างสรรพสินค้าในมหานครนิวยอร์ก เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยทรัมป์กล่าวหาว่า เธอโกหกเพื่อเพิ่มยอดขายหนังสือของตน
ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในเขตแมนแฮตตัน มีกำหนดตัดสินว่าคดีของแคร์โรลควรถูกยกฟ้องหรือไม่ โดยทนายความของทรัมป์แย้งว่า ทรัมป์ได้รับการคุ้มครอบโดยกฎหมายรัฐบาลกลาง ที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทได้
ทรัมป์จะไม่ถูกดำเนินคดีหากเป็นผู้ชิงตำแหน่ง ปธน. หรือไม่?
แม้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะมีนโยบายไม่ฟ้องร้องผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่สำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ไบรอัน คัลท์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท ระบุว่า การดำเนินคดีผู้ลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อาจมีนัยทางการเมืองได้
– ที่มา: รอยเตอร์
ที่มา : voathai / วันที่เผยแพร่ 10 ส.ค.65
Link : https://www.voathai.com/a/6695410.html