ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความคาดหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สหรัฐฯ จะปล่อยตัว วิคเตอร์ บูท ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธผิดกฎหมาย เจ้าของฉายา ‘พ่อค้าความตาย’ เพื่อแลกกับอิสรภาพของ บริตนีย์ ไกรเนอร์ นักบาสเกตบอลหญิงชาวอเมริกัน เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย และนาย พอล วีแลน อดีตนาวิกโยธิน ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในรัสเซียทั้งคู่
สำหรับฝ่ายรัสเซีย สื่อในประเทศรายงานหลายเดือนแล้วว่า น.ส.ไกรเนอร์ ผู้ถูกจับที่สนามบินในมอสโก เมื่อกุมภาพันธ์ ในข้อหานำเข้ายาเสพติด และนายวีแลน ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 16 ปี ฐานจารกรรมข้อมูล อาจถูกใช้เพื่อแลกตัวนายบูท ซึ่งรัฐบาลเครมลินเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปล่อยตัวมานาน แต่รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ปิดปากเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอด
จนกระทั่งในวันพุธที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกมาพูดถึงเรื่องความพยายามในการนำตัว น.ส.ไกรเนอร์กับนายวีแลน กลับบ้านเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอที่ใหญ่มากให้รัสเซียพิจารณา แต่ไม่เผยรายละเอียด อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า การปล่อยตัวนายบูทรวมอยู่ในข้อเสนอนั้นด้วย
นอกจากนั้น ทนายความชาวรัสเซียของนายวีแลนเคยออกมาพูดด้วยว่า เขาเชื่อว่ารัฐบาลเครมลินต้องการให้การปล่อยตัวนายบูท เป็นส่วนหนึ่งของดีลแลกตัวนักโทษ ขณะที่นาย สตีฟ ซิสโซ ทนายความในนิวยอร์กถึงขั้นออกมาเตือนว่า จะไม่มีการแลกตัวนักโทษอเมริกันใดๆ หาก วิคเตอร์ บูท ไม่ถูกส่งกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่า รัสเซียต้องการตัวพ่อค้าอาวุธรายนี้กลับไปอย่างมาก ชายคนนี้สำคัญอย่างไร เหตุใดมอสโกจึงต้องการตัวคืน?
วิคเตอร์ บูท เป็นใคร?
เชื่อกันว่า วิคเตอร์ บูท ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 55 ปี เกิดที่ทาจิกิสถาน เมื่อ พ.ศ.2510 มีบิดาเป็นช่างซ่อมรถยนต์ ขณะที่มารดาเป็นนักบัญชี เขามีพี่ชาย 1 คนด้วย แต่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยมากนัก
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ แดร์ ชปีเกล ของเยอรมนีเมื่อปี 2553 นายบูทในวัยเด็กเป็นคนชอบความท้าทาย ก๊อบปี้เพลงเถื่อนขายเพื่อหาเงินค่าขนมเข้ากระเป๋า และเรียนภาษาสเปนด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าสักวันจะมีประโยชน์ ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมสหภาพเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และได้เข้าเรียนภาษาที่สถาบันภาษาต่างประเทศแห่งโซเวียต ในกรุงมอสโก
ระหว่างที่อยู่ในกองทัพ วิคเตอร์ บูท ได้เรียนภาษาโปรตุเกสและถูกส่งไปเป็นล่ามที่ประเทศโมซัมบิกกับแองโกลา แต่หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี เขาก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่มองเห็นโอกาสทำกำไรท่ามกลางความวุ่นวาย จึงผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจ ใช้เงินที่สะสมไว้ซื้อเครื่องบินลำเลียง AN-8 จำนวนหนึ่ง เพื่อตั้งธุรกิจขนส่งทางอากาศ และทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกันคือ ยินดีเข้าไปในเขตสงครามและรัฐที่ล้มเหลว
วิคเตอร์ บูท
ฉายา “พ่อค้าความตาย”
จนถึงปี 2543 นายบูทกลายเป็นนักขนส่งอาวุธที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ที่สุด จนถูกเรียกด้วยฉายา ‘พ่อค้าความตาย’ ในรัฐสภาอังกฤษ แม้จะมีบางครั้งที่เขาทำธุรกิจถูกกฎหมายให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส, สหประชาชาติ และสหรัฐฯ แต่ตามการเปิดเผยขององค์กรนิรโทษกรรมสากล มีหลายครั้งเช่นกันที่เขาละเมิด หรือมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดคำสั่งของสหประชาชาติที่ห้ามค้าอาวุธในแองโกลา , เซียร์ราลีโอน , ไลบีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
นายบูทยังถูกสหประชาชาติระบุชื่อในรายงานว่า เป็นผู้จัดหาอาวุธหนักให้แก่กลุ่มกบฏที่เคลื่อนไหวในแองโกลา รวมถึงอดีตประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ แห่งไลบีเรีย ผู้ถูกตัดสินในปี 2555 ว่ามีความผิดฐาน สนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดอาชญากรรมสงครามระหว่างเหตุสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอน
พ่อค้าอาวุธรายนี้ยังยอมรับด้วยว่า เขาเคยไปอัฟกานิสถานในช่วงปี 1990 แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เขาจัดหาอาวุธให้แก่กลุ่มตาลีบัน ขณะที่เอกสารหลายฉบับชี้ว่า บริษัทของนายบูทเป็นหนึ่งในผู้ทำสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขนส่งเสบียงกองทัพเข้าสู่อิรัก หลังจากอเมริกันเข้ารุกรานในปี 2546
นาย ลี โวเลนสกี อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งริเริ่มความพยายามทำลายเครือขายของนายบูท ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของนายบูทเริ่มเตะตารัฐบาล เพราะการกระทำของเขาขัดขวางกระบวนการสันติภาพในแอฟริกาที่นายคลินตันพยายามผลักดัน “ในบางกรณี เขาติดอาวุธให้ทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างความขัดแย้ง”
บริตนีย์ ไกรเนอร์
ถูกจับในประเทศไทย
ด้วยชื่อเสียงของเขา นายบูทถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ ที่ต้องการตัวเขามาดำเนินคดี รวมถึงหมายจับของตำรวจสากลที่ออกในปี 2547 ทำให้เขาตัดสินใจกลับรัสเซีย และลดบทบาทในธุรกิจค้าอาวุธของตัวเองลง แล้วไปอาศัยอยู่ที่เมือง โกลิตซีโน เมืองเล็กๆ นอกกรุงมอสโก โดยเพื่อนคนหนึ่งซึ่งได้ไปเยี่ยมเขาในปี 2551 ระบุว่า ในบ้านเต็มไปด้วยหนังสือและดีวีดีภาพยนตร์เรื่อง ‘Lord of War’ ที่ว่ากันว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของเขา
แต่โชคไม่ดีสำหรับนายบูท เพื่อนคนนั้น ซึ่งก็คือนาย แอนดรูว์ สมูเลียน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของแอฟริกาใต้ ปัจจุบันทำงานให้กับ DEA หรือสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ ทำการล่อซื้ออาวุธมากมายจากนายบูท ทั้ง มิสไซล์ภาคพื้นสู่อากาศ 100 ลูก , ปืนไรเฟิล AK-47 จำนวน 20,000 กระบอก , ระเบิดมือ 20,000 ลูก , ปืนครก 740 กระบอก , ไรเฟิลซุ่มยิง 2350 กระบอก , ระเบิด ซีโฟร์ (C4) จำนวน 5 ตัน และเครื่องกระสุนอีก 10 ล้านลูก โดยหลอกว่าจะเอาไปให้กบฏ FARC ในโคลอมเบีย
หลังจากทั้งสองฝ่ายหารือกันเรื่องการขนส่งอาวุธได้ไม่นาน นายบูทได้เดินทางมายังประเทศไทย และถูกทางการไทยจับกุมตัว ก่อนจะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ตั้งข้อหาเขาได้แค่ ต้องสงสัยเชื่อมโยงกับการทำข้อตกลงค้าอาวุธ และตัดสินลงโทษจำคุกเขา 25 ปี ในปี 2555 ด้วยข้อหาก่อการร้าย ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำสุด เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่านายบูทกระทำความผิด นอกจากที่โดนปฏิบัติการล่อซื้อ
พอล วีแลน
ทำไมรัสเซียอยากได้ตัวคืน?
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียคัดค้านคำพิพากษาของนายบูทมาตลอด ระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สาเหตุที่มอสโกต้องการตัวนายบูทคืนอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องความไม่เป็นธรรมในการดำเนินคดี แต่เป็นเพราะเขามีความเกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองของกองทัพรัสเซีย
อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ระบุว่า ครึ่งหนึ่งนายบูทเคยทำงานให้กับ สำนักงานข่าวกรองรัสเซีย หรือ GRU ซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียงมากเท่ากับ KGB หรือ FSB ในอดีต นอกจากนั้นยังมีรายงานด้วยว่า นายบูทมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนาย อิกอร์ เซชิน อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัสเซียและพันธมิตรของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน โดยทั้งคู่เคยเป็นทหารของกองทัพโซเวียตในแอฟริกาช่วงยุค 80 แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธความสัมพันธ์กับ GRU และนายเซชินก็ตาม
ข้อมูลล้ำค่าที่เชื่อกันว่านายบูทครอบครองอยู่คือ ความรู้เรื่องชะตากรรมของคลังอาวุธขนาดใหญ่ของสหภาพโซเวียต โดยนาย ดักลาส ฟาราห์ ประธานบริษัทความมั่นคง IBI Consultants กล่าวว่า นายบูทขนส่งอาวุธมานานนับสิบปี จากสถานที่ต่างๆ อย่างเช่น ยูเครน
หรือ การระบุชื่อนายบูทในการแลกเปลี่ยนนักโทษ อาจเป็นการตอบแทนพ่อค้าอาวุธรายนี้ เพราะเขาไม่เคยปริปากหรือให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เลย แม้จะถูกคุมขัง และแยกเดี่ยวมานานกว่าทศวรรษ ในเรือนจำที่ห่างจากบ้านเกิดหลายพันไมล์ การปล่อยตัวนายบูทยังเป็นการส่งข้อความถึงคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาคล้ายกันว่า มาตุภูมิไม่เคยลืมพวกเขา
“ความสำเร็จของรัสเซียในการนำตัวเขากลับไป จะถูกยกย่องว่าเป็น ชัยชนะ” มาร์ก กาเลออตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงรัสเซียกล่าว “และปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังมองหาชัยชนะ”
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : washingtonpost , aljazeera , cbsnews
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 31 ก.ค.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2460106