“ดีอีเอส” เตือนภัย พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ระวังโดนหลอก ใช้สลิปบัญชีธนาคารปลอมแจ้งว่าชำระเงินแล้ว แนะวีธีตรวจสอบ หากตกเป็นเหยื่อโดนหลอกและช่องทางแจ้งความออนไลน์
น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวการแจ้งเตือนพ่อค้าแม่ค้าระวังภัยออนไลน์จากลูกค้าใช้สลิปบัญชีธนาคารปลอมแจ้งว่าชำระเงินแล้ว หลอกให้ส่งของโดยไม่ได้โอนเงินจริง และพบมีคนทำโปรแกรมสร้างสลิปปลอมมาขาย โดยสามารถกรอกชื่อผู้รับ ผู้โอนเป็นใครก็ได้ ตัวเลขเท่าใด โอนวันไหน เวลาไหน แล้ว สร้างภาพสลิปออกมา จึงขอแจ้งเตือนให้พ่อค้า แม่ค้า ระมัดระวัง ควรสังเกตสลิปก่อนที่จะส่งของให้ลูกค้า ตรวจสอบยอดเงินโอนในมือถือก่อนว่ามียอดเงินเข้ามาแล้วจริงๆ ก่อนส่งมอบสินค้า
ทั้งนี้โดยทั่วไป การทำธุรกรรมโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร ในแต่ละครั้งธนาคารจะมีการบันทึกสลิป การทำธุรกรรมที่มีระบุรายละเอียดในการโอนเงิน คือ ชื่อผู้รับ/ผู้ส่ง , วัน เดือน ปี เวลา ที่ทำรายการ , จำนวนเงิน ,QR Code เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดหรือมีปัญหาในการทำธุรกรรม
“ในกรณีสลิปปลอมมิจฉาชีพอาจจะใช้ช่องโหว่ของภาพสลิปมาดัดแปลง ทำซ้ำ เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่ได้ทันสังเกต เห็นภาพสลิปโอนเงินปลอม ที่มิจฉาชีพแสดงหรือส่งไลน์ไปเป็นหลักฐานให้กับร้านค้าต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมปลอมสลิป เพราะสามารถใช้แอพ แต่งรูปภาพบนสมาร์ทโฟนทำได้เลย”
สำหรับวิธีการตรวจสอบสลิปปลอม มีดังนี้
1. สังเกตภาพของสลิปโอนเงินว่าตัวหนังสือ และตัวเลขต่างๆ มีความสม่ำเสมอ อักษรเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ สลิปปลอมส่วนใหญ่ ตัวหนังสือบนสลิป เช่น เวลา วันที่ จำนวนเงิน ชื่อบัญชีผู้รับโอน ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าตัวหนังสือบนสลิปจะมีความหนา-บางไม่เท่ากัน หรืออาจจะเป็นตัวหนังสือคนละประเภทกัน และตรวจสอบยอดเงิน ชื่อบัญชีของผู้รับโอนด้วย ว่าเป็นบัญชีของเราหรือไม่ ยอดเงินถูกต้องหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายลักษณะนี้ โอกาสเป็นสลิปปลอมสูงมาก
2. สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินที่ต้องการตรวจสอบ ทั้งนี้สลิปโอนเงินจากแอพพลิเคชั่นของธนาคารต่าง ๆ จะมี QR Code ให้เราสามารถตรวจสอบสลิปปลอมได้ ทำได้โดยเข้าไปที่แอพของธนาคารที่เรารับโอน จากนั้นกด “สแกน QR Code” ใช้กล้องโทรศัพท์สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินของลูกค้า หรือถ้ามีรูปสลิปโอนเงินอยู่ในโทรศัพท์อยู่แล้ว สามารถเลือกรูปสลิปที่อยู่ในอัลบั้มภาพที่เรา save มาตรวจสอบได้เลย ระบบก็จะตรวจสอบให้เราได้เห็นว่ายอดเงินที่โอนเข้ามาตรงกับสลิปหรือไม่ หากยอดเงินไม่ตรง หรือว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ เป็นไปได้ว่าลูกค้าอาจส่งสลิปปลอมให้แทน
3. ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ใช่วิธีการตรวจสลิปปลอมได้โดยตรงก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์จากบริการแจ้งเตือนของธนาคาร ทำให้เราสามารถ รับการแจ้งเตือน ยอดเงินเข้า-ออกจากบัญชีของธนาคาร เพื่อตรวจสอบยอดโอนของลูกค้าว่าโอนเงินเข้ามาจริงหรือเปล่า ตรงตามยอดที่ตกลงกันไว้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับสลิปโอนเงินที่ลูกค้าส่งมา
4. ใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีฟังก์ชันตรวจสอบสลิปการโอนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ร้านค้าออนไลน์มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีการโอนเงินเข้าหลายรายการ สามารถเลือกใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีระบบตรวจสอบสลิป และยอดเงินเข้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ร้านค้าประหยัดเวลา และลดขั้นตอนการตรวจสอบ สลิปปลอม
“หากส่งสินค้าไปแล้ว พบว่าเป็นสลิปปลอม หากเกิดเหตุแล้วให้รีบแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทขนส่งต่างๆ เพื่ออายัดการส่งของให้เร็วที่สุดก่อนเพื่อบรรเทาความเสียหาย หากปล่อยเป็นระยะเวลานานจะทำให้ไม่สามารถติดตามเอาสินค้าคืนได้ สงสัยสอบถามข้อมูลและแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนของกระทรวงดีอีเอส 1212 (24 ชม.), บช.สอท. โทร.1441“ น.ส.นพวรรณ กล่าว
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 1 ส.ค.65
Link : https://www.dailynews.co.th/news/1308568/