วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิดมีการทำงานจากที่บ้าน ประชุมออนไลน์ และทำงานแบบลดการใช้กระดาษ จึงทำให้ใครก็ตามที่ขาดทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อีกต่อไปแล้ว
ในยุคก่อนการสรรหาพนักงานใหม่ เรามักพิจารณาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมสำนักงานต่างๆ เช่น โปรแกรมการทำเอกสาร โปรแกรมการนำเสนอ รวมถึงการใช้สเปรดชีต จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งทางราชการถึงกับต้องกำหนดเกณฑ์ให้ข้าราชการที่ต้องการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ผ่านการอบรมทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางอย่าง
แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิดมีการทำงานจากที่บ้าน ประชุมออนไลน์ และทำงานแบบลดการใช้กระดาษ จึงทำให้ใครก็ตามที่ขาดทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อีกต่อไปแล้ว
ดังนั้นทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมต่างๆ จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานในยุคปัจจุบัน แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้หยุดอยู่แค่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมในรูปแบบเดิม ปัจจุบันมีอุปกรณ์มากมาย ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อุปกรณ์สวมใส่ ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต พาเราเข้าสู่โลกดิจิทัลได้ในแทบทุกอุปกรณ์ อีกทั้งยังมีโปรแกรมใหม่ๆ ที่ต้องดาวน์โหลดมาใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเล่นโปรแกรมที่หลากหลายขึ้นด้วย
กลายเป็นว่า วันนี้ใครใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่คล่องนอกจากจะทำงานลำบากขึ้นแล้ว ก็จะเริ่มใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น ไล่มาตั้งแต่การชำระเงินซึ่งการใช้ QR code กลายเป็นเรื่องปกติ บางร้านค้าปฏิเสธที่จะรับเงินสดก็มีแล้ว การใช้โมบายแบงค์กิ้งในการทำธุรกรรมการเงิน การสั่งอาหาร สั่งสินค้าออนไลน์ การจองตั๋วเดินทาง ที่พัก หรือแม้แต่การเช็คอินเที่ยวบินก็กลายเป็นว่าต้องใช้สมาร์ทโฟนจัดการ รวมไปถึงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์บางอย่างที่ทำงานผ่านโปรแกรมบนมือถือ จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นทักษะด้านดิจิทัลปัจจุบัน กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานที่โลกกำลังเปลี่ยนไป จากการทำงานแบบเดิมๆ กลายเป็นโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจถึงขั้นว่าออฟฟิศย้ายไปอยู่ในโลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) ก็เป็นได้ ใครใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่คล่องก็จะไม่สามารถเข้าทำงานได้เลย
ทักษะทางด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตมีอยู่ 4 ด้าน คือ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) หมายถึง ทักษะการรู้จักนำเครื่องมือดิจิทัล และโปรแกรมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร ปฏิบัติงาน และทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถติดตามและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ที่เข้ามาได้ตลอดเวลา รวมถึงยังต้องเข้าใจถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เช่น เรื่องของ เอไอ คริปโทเคอร์เรนซี และเมตาเวิร์ส
ทักษะความเข้าใจในการใช้ข้อมูล (Data Literacy) หมายถึง ความสามารถเอาข้อมูลต่างๆ มาใช้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ คือ มีความสามารถอ่านข้อมูล เข้าใจความหมายและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ ทักษะด้านนี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องมาเป็นนักวิทยาการข้อมูลหรือนักวิเคราะห์ข้อมูล แต่หมายถึงการใช้ข้อมูลในชีวิตประจำวันและการทำงาน
ทักษะทางด้านเทคนิค หมายถึง ทักษะพัฒนาโปรแกรม เนื้อหาด้านดิจิทัล อาทิ การทำคลิป การทำแดชบอร์ด การพัฒนาแอปต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนอาจถูกมองว่าเป็นทักษะของคนไอทีหรือวิศวกรคอมพิวเตอร์ แต่ในวันนี้แอปหรือเนื้อหาดิจิทัลหลายอย่างสามารถที่จะพัฒนาได้โดยคนทั่วไป การเขียนโปรแกรมก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น และเริ่มมีการเรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา รวมถึงในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถจะพัฒนาระบบเอไอได้โดยง่าย
ทักษะการตระหนักถึงภัยคุกคามด้านดิจิทัล หมายถึง ความเข้าใจถึงความเสี่ยงทางด้านภัยคุกคามด้านดิจิทัลต่างๆ รวมถึงรู้วิธีการใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งนอกจากภัยที่อาจเกิดจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์แล้วยังรวมถึงภัยที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกออกไลน์ด้วย เช่น การถูกบูลลี่ในโลกดิจิทัล การแยกแยะข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ การจัดการพาสเวิร์ดที่ดี หรือเข้าใจความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลดิจิทัลต่างๆ
คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะเหล่านี้ โดยเฉพาะทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจึงจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันกับการเปลี่ยนแปลงของอนาคตที่กำลังเข้ามาเร็วๆ นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากจะต้องการทำงานในโลกอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพคงหนีไม่พ้นที่จะมีทักษะทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมาเป็นอย่างดี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 21 ส.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/tech_gadget/1022106