เหตุการณ์ นางประทุม นักทอง อายุ 55 ปี ชาวบ้านโคกโก ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เข้าไปกรีดยางในสวนยางพาราแล้วเหยียบกับระเบิดที่คนร้ายลอบวางไว้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาดทั้งสองข้าง
และต่อมาทางเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ เหยียบกับระเบิดซ้ำอีกลูก ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.65 นั้น
การก่อเหตุด้วยการลอบวางระเบิดแบบ “กับระเบิด” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ของเหตุการณ์ไฟใต้ โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะเน้นใช้การลอบวางระเบิดรูปแบบนี้ เพื่อมุ่งเน้นสังหารเจ้าหน้าที่ในลักษณะระเบิดซ้ำ (second bomb) คือก่อเหตุระเบิดโจมตีเป้าหมายแล้ว เช่น เสาไฟฟ้า ก็นำ “กับระเบิด” มาวางไว้บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ เพื่อลวงเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบที่เกิดเหตุพลาดไปเหยียบ
อย่างเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 เม.ย.50 ซึ่งหลังเกิดเหตุ พ.ต.อ.นพดล เผือกโสมณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ และเหยียบ “กับระเบิด” ที่คนร้ายลอบวางเอาไว้จนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาด
แต่ พ.ต.อ.นพดล ใจสู้ ไม่ยอมแพ้ เอาชนะอาการบาดเจ็บ จนใส่ขาเทียมและกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ กระทั่งได้รับฉายาว่า “นายตำรวจกระดูกเหล็ก – วีรบุรุษพิทักษ์ชายแดนใต้” และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพล
@@ ชายแดนใต้…ดินแดนขาขาด
เหตุลอบวางกับระเบิดในช่วงต้นของสถานการณ์ความไม่สงบ เป้าหมายของผู้ก่อเหตุจะมุ่งไปที่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่ทำงานให้ทางการเป็นส่วนใหญ่
กระทั่งในปี 2552 การลอบวาง “กับระเบิด” ของผู้ก่อความไม่สงบ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อมุ่งเป้าก่อเหตุกับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ อย่างชาวบ้านที่ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ในพื้นที่ต่างๆ
โดยเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นคือ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 นางหมายมูเนาะ หะเลาะ ชาวสวนยางยะลา ได้เหยียบกับระเบิดที่คนร้ายนำไปฝังเอาไว้จนได้รับบาดเจ็บ ขณะกำลังเข้าไปในสวนยางพารา พื้นที่หมู่ 5 ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา
หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เกิดเหตุลอบวางกับระเบิดในสวนยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้านอีกหลายๆ ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ พิการจำนวนมาก และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รวบรวมเหตุลอบวาง “กับระเบิด” ที่เกิดขึ้นภายในสวนยางพารา สวนผลไม้ เพื่อทำร้ายชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ และสร้างความเสียหายแก่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2552 – 2565 (ไม่นับรวมระเบิดซ้ำหลังจากเหตุเดียวกันที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่) พบว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นทั้งหมด 42 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย บาดเจ็บรวม 34 ราย แยกตามรายจังหวัด ได้ดังนี้
จ.นราธิวาส พบเหตุลอบวาง “กับระเบิด” ทั้งหมด 22 ครั้ง แยกเป็น อ.สุไหงปาดี 3 ครั้ง อ.ตากใบ 3 ครั้ง อ.ระแงะ 5 ครั้ง อ.รือเสาะ 3 ครั้ง อ.ศรีสาคร 3 ครั้ง อ.บาเจาะ 1 ครั้ง อ.แว้ง 1 ครั้ง อ.สุคิริน 1 ครั้ง อ.ยี่งอ 1 ครั้ง และ อ.เมืองนราธิวาส 1 ครั้ง โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ 18 ราย
จ.ยะลา พบเหตุลอบวาง “กับระเบิด” ทั้งหมด 16 ครั้ง แยกเป็น อ.รามัน 6 ครั้ง อ.ธารโต 5 ครั้ง อ.ยะหา 2 ครั้ง อ.กรงปินัง 1 ครั้ง อ.บันนังสตา 1 ครั้ง และ อ.เมืองยะลา 1 ครั้ง โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ 13 ราย
จ. ปัตตานี พบเหตุลอบวาง “กับระเบิด” ทั้งหมด 4 ครั้ง แยกเป็น อ.กะพ้อ 2 ครั้ง อ.สายบุรี 1 ครั้ง และ อ.ปะนาเระ 1 ครั้ง โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 3 ราย
หากแยกตามรายปี พบว่า
ปี 2552 เกิดเหตุ 2 ครั้ง
ปี 2553 เกิดเหตุ 19 ครั้ง
ปี 2554 เกิดเหตุ 8 ครั้ง
ปี 2555 เกิดเหตุ 4 ครั้ง
ปี 2557 เกิดเหตุ 1 ครั้ง
ปี 2558 เกิดเหตุ 1 ครั้ง
ปี 2561 เกิดเหตุ 4 ครั้ง
ปี 2564 เกิดเหตุ 2 ครั้ง
ปี 2565 เกิดเหตุ 1 ครั้ง
@@ วันเดียวเคยเกิดเหตุสูงสุด 9 เหตุการณ์ เจ็บ 13
โดยในวันที่ 25 ต.ค.53 ถือว่าเป็นวันที่มีเหตุลอบวาง “กับระเบิด” ในสวนยางพารามากที่สุด วันเดียวถึง 9 เหตุการณ์ ในพื้นที่ 7 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งหมด 13 ราย ประกอบด้วย
1.ในสวนยางพารา บ้านร่อน หมู่ 2 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นางเอื้อม จันลำภู เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ
2. ในสวนยางพาราบ้านบากง หมู่ 6 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะจ.นราธิวาส นางอารีย์ ไชยสงคราม เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า
3.ในสวนยางพาราบ้านสาวอ หมู่ 2 ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ทำให้ นางอุไรวรรณ ธัมสาโร และ นางวาแม สามัน เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ
4.ในสวนยางพาราบ้านปูต๊ะ หมู่ 3 ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ชาวบ้านเหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
5.ในสวนยางพารา หมู่ 1 ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ชาวบ้านเหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
6.ในสวนยางพารา หมู่ 3 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นางกัญจนี หน่อแดง เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ
7.ในสวนยางพารา หมู่ 2 บ้านบากาลูวะ ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา นายสำลี ฤกษ์งาน เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ
8.สวนยางพาราบ้านเจาะกะพ้อ หมู่ 2 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี นางรอพียะห์ อาแว เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ
9.ในสวนยางพาราบ้านเจาะกะพ้อ หมู่ 2 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี นายพันธ์ ขุนพรหม เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บ
@@ สุดโหด! ผูกระเบิดกับถ้วยน้ำยาง
รูปแบบระเบิดในสวนยางพารา และสวนผลไม้ มี 2 รูปแบบหลักๆ โดยเป็น “กับระเบิด” ทั้งคู่ ได้แก่
1.ระเบิดแสวงเครื่อง ประกอบเป็น “กับระเบิดแบบเหยียบ” คนร้ายนำไปฝังดินในสวนเพื่อให้เป้าหมายเดินมาเหยียบ ส่วนใหญ่ที่พบ คนร้ายใช้ “กับระเบิด” รูปแบบนี้
2.ระเบิดแสวงเครื่อง ใช้กลไก “ดึง-ยก” วิธีการคือผูกระเบิดไว้กับถ้วยน้ำยางพารา เมื่อยกถ้วยน้ำยางระเบิดจะทำงาน
เหตุการณ์ที่คนร้ายใช้ “กับระเบิด” รูปแบบนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.61 ผู้บาดเจ็บ คือ นายชุติพนธ์ นามวงค์ เหตุเกิดภายในสวนยางพารา หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา
และวันที่ 4 ก.ค.61 ผู้บาดเจ็บคือ นายสุโข คำแก้ว เหตุเกิดภายในสวนยางพาราบ้านกาสังใน หมู่ 6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ทั้งสองเหตุการณ์นี้ คนร้ายได้วางกับระเบิดแบบสั่งทำงานด้วยวิธีการผูกโยงกับระเบิดไว้กับถ้วยน้ำยางพารา เมื่อชาวสวนยางยกถ้วยน้ำยางพาราขึ้น กับระเบิดที่วางเอาไว้จะทำงานทันที
@@ เป้าหมายไล่ไทยพุทธ-สร้างหวาดระแวงคนต่างศาสนา
สำหรับเป้าหมายของผู้ก่อเหตุ มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1.ต้องการทำร้ายชาวบ้านไทยพุทธ ทำให้เกิดความหวาดกลัว ย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของกลุ่มก่อความไม่สงบมาตั้งแต่เริ่มต้นโหมไฟใต้เมื่อปี 2547
2.ต้องการทำให้สวนยาง สวนผลไม้ร้าง จะได้เข้าไปเก็บผลประโยชน์แทน เรื่องนี้ถือเป็นวิธีการหารายได้แบบหนึ่งของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งถูกแฉโดยชาวบ้านที่โดนคุกคาม ลอบยิง ลอบวางระเบิดจนอาศัยอยู่ที่บ้านไม่ได้ เมื่ออพยพออกมา ก็มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี เข้าไปเก็บผลประโยชน์แทน
จริงๆ แล้ววิธีการหาเงินเข้ากลุ่มก่อความไม่สงบ มี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
-เรี่ยไรสวนยางแนวร่วมพวกเดียวกัน วันละ 1 บาท หรือขอกรีดยางเดือนละ 1 ครั้ง (เอารายได้วันนั้นไป)
-วางระเบิดไล่เจ้าของสวนไทยพุทธ ถ้ามีการย้ายหนี ก็เข้าไปกรีดยาง เก็บผลไม้ขายแทน
3.ทำลายความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างพี่น้องต่างศาสนาในพื้นที่ ทำให้เกิดความหวาดระแวง
ที่ผ่านมา การก่อเหตุทำร้ายชาวบ้านไทยพุทธ เคยทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ ไม่กล้าอยู่บ้าน อยู่สวนเป็นจำนวนมาก จนต้องมีโครงการพระราชดำริ และโครงการของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ
วิธีการแบบนี้ถือว่าเลวร้าย โดยสวนยางพาราบางแห่งของชาวบ้านไทยพุทธ เคยโดนวางระเบิดมากกว่า 1 ครั้งก็ยังมี เช่น สวนยางพาราที่บ้านลีเซ็ง หมู่ 5 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเป็นสวนของ นายถาวร พุฒนิล และครอบครัว เคยถูกลอบวางกับระเบิดมาแล้วรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 6 ก.ย.53 กับวันที่ 27 ก.ย.55 ครั้งแรกลูกชายของนายถาวรขาขาด สุนัขตาย ครั้งที่ 2 โดนวัวของชาวบ้านตาย
ชัดเจนว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อให้เจ้าของสวนย้ายออกจากพื้นที่ สอดคล้องกับอีกหลายเหตุการณ์ที่เป้าหมายเป็นชาวบ้านไทยพุทธ ส่วนชาวบ้านมุสลิมก็มีตกเป็นเหยื่อด้วยเหมือนกัน ถือเป็นความจงใจสร้างความหวาดระแวงอย่างชัดเจน
การลอบวางกับระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านโคกโก จนทำให้ชาวสวนยางได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และย้อนไปยังเหตุการณ์ยิงชาวบ้านหาของป่าไทยพุทธเสียชีวิต 2 รายเมื่อต้นเดือน ส.ค.65 ก็เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไงหปาดี จ.นราธิวาส เช่นเดียวกัน ย่อมสร้างความรู้สึกขวัญเสียและหวาดกลัวให้กับชาวบ้านในไทยพุทธในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราที่อาจจะหวาดกลัวจนถึงขั้นไม่กล้าออกไปกรีดยาง
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 15 ส.ค.65
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/111223-bombtrapsouth.html