ลืมเด็กในรถ หรือ โรคลืมลูก คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้พ่อแม่ทิ้งเด็กไว้ในรถ
หลายคนคงเห็นข่าวที่ผู้ใหญ่ ลืมเด็กในรถ จนเกิดเป็นเหตุสลด เนื่องจากเด็กเสียชีวิตกันมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่เอง และล่าสุด คนขับรถโรงเรียน ลืมเด็กหญิงวัย 7 ปี ไว้ในรถตู้รับส่งจนเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว
แน่นอนว่าหลายคนย่อมสงสัย ว่าทำไมขนาดมีอุทาหรณ์มากมายขนาดนี้ ก็ยังมีข่าวผู้ใหญ่ลืมเด็กในรถจนเด็กเสียชีวิตมาให้เห็นเรื่อย ๆ แทบจะทุกปี ผู้เขียนเองก็สงสัยเช่นกัน จนกระทั่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนที่รู้จัก
จากประสบการณ์คุณแม่ลืมลูก
เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของคนรู้จักของผู้เขียนเอง โดยขอสงวนชื่อและนามสกุล เธอเป็นคุณแม่ของลูกสาววัย 2 ขวบครึ่ง ยังไม่เข้าโรงเรียน เธอจึงนำลูกสาวไปฝากไว้กับคุณยาย หรือแม่ของเธอ ส่วนตัวเองก็ทำงานในเมือง อาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง
แล้ววันหนึ่งช่วงสุดสัปดาห์ เธอเกิดคิดถึงลูกขึ้นมา จึงขับรถไปหาลูกที่บ้านของแม่ และตัดสินใจพาลูกกลับมาค้างด้วยที่คอนโดฯ ของเธอ เรื่องก็เริ่มจากตรงนี้ เธอให้ลูกนั่งคาร์ซีตที่เบาะหลัง แล้วก็ขับรถมาจนถึงคอนโดฯ บนลานจอดรถชั้นประจำ เมื่อรถจอดสนิท สิ่งที่เธอทำคือคว้ากระเป๋า กุญแจรถ แล้วออกจากรถปิดประตู เดินขึ้นคอนโดฯไปเลย โดยลืมลูกสาวของเธอเอาไว้ในรถ
แต่โชคยังดี ที่จุดจอดรถของเธอนั้นอยู่ในตัวอาคาร และใกล้กับทางเข้าคอนโดฯ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งสังเกตเห็นเด็ก จึงนำทะเบียนรถของเธอไปเช็กกับนิติบุคคลประจำอาคาร แล้วโทรแจ้งเธอให้ลงมารับลูก
ภาพประกอบจาก : pexels.com
มันเป็นเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที และรถอยู่ในตัวอาคาร ไม่ร้อนมาก ลูกของเธอจึงปลอดภัยดี แต่มันก็กลายเป็นอุทาหรณ์ของเธอมาจวบจนทุกวันนี้ ซึ่งอีกหลายครอบครัวไม่โชคดีเช่นนี้ เพราะหากจอดรถกลางแจ้ง ในบริเวณที่ไม่มีใครสังเกตเห็นเด็ก หลังดับเครื่องยนต์ อุณหภูมิภายในรถจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นอันตรายต่อเด็กจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย
หลังจากได้พูดคุยกับเธอ เธอเล่าให้ฟังว่า เหมือนเธอเคยชินกับการที่ขับรถมาจอดที่คอนโดฯ แล้วก็หยิบข้าวของลงจากรถ เข้าตึกไปอย่างทุก ๆ วัน ในวันนั้นสมองและร่างกายเธอก็สั่งให้เธอทำไปแบบนั้น จนลืมไปว่ามีลูกสาวอยู่ที่เบาะหลัง ตอนนี้เธอจึงติดนิสัยหันไปมองเบาะหลังทุกครั้งก่อนลงจากรถ แม้ไม่ได้มีใครมาด้วยก็ตาม
จากเหตุการณ์นี้พอจะบอกได้ว่า อุบัติเหตุเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิดทีเดียว เราจึงลองมาศึกษาในแง่ของวิทยาศาสตร์กันบ้าง
สิ่งที่เรียกว่า ‘ โรคลืมลูก ‘
อันที่จริง เราจะใช้คำว่า ‘ โรค ‘ กับสิ่งนี้ไม่ถูกนัก เพราะทางวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า ‘ Forgotten Baby Syndrome ‘ จัดเป็นกลุ่มอาการมากกว่า โดย David Diamond (เดวิด ไดมอนด์) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก University of South Florida ได้อธิบายเกี่ยวกับกลุ่มอาการนี้ ว่าเป็นกลุ่มอาการที่ทำให้แม้แต่ในพ่อแม่ที่ใส่ใจลูกมาก ๆ ก็ยังมีโอกาสลืมลูกในรถได้
ภาพประกอบจาก : unsplash.com
จากการวิจัยสามารถสรุปได้ว่า สาเหตุเกิดจากความล้มเหลวของระบบความจำ โดยเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง 2 ระบบ ได้แก่
Habit Memory (ความจำกิจวัตร) คือ การที่เราทำอะไรเป็นกิจวัตร เราจะทำสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ เช่น ปิดไฟ ล็อกประตูบ้านทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน สิ่งนี้อาจเรียกได้อีกชื่อว่า ออโต้ไพลอต ที่เรารู้จักกันดี เวลาที่สมองสั่งให้เราทำอะไรโดยอัตโนมัติ แม้ว่าเราจะไม่ได้พุ่งเป้าความสนใจไปกับสิ่งที่ทำอยู่เลยก็ตาม
Prospective Memory (ความจำคาดการณ์) คือ การวางแผนที่จะทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่กิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน เช่น แวะร้านขายยาเพื่อซื้อยาให้แม่ หรือแวะร้านสะดวกซื้อเพื่อจ่ายบิลค่าไฟฟ้า
แล้วอะไร ทำให้พ่อแม่ลืมลูก
บางครั้งความจำแบบคาดการณ์อาจถูกครอบงำโดยความจำกิจวัตร จนลืมสิ่งที่วางแผนไว้ไปชั่วขณะ แล้วทำในสิ่งที่เคยชินแทน เช่นเดียวกับพ่อแม่ ที่ถ้าในชีวิตประจำวันปกติไม่ได้พาลูกขึ้นรถไปไหนมาไหน แล้ววันนั้นเกิดพาลูกติดไปที่ทำงานด้วย ก็มีสิทธิ์จะลืมลูกไว้ในรถได้ เพราะสมองสั่งให้ลงจากรถ หยิบกระเป๋า ปิดประตูขึ้นตึกตามความเคยชิน
ซึ่งตรงนี้คือสาเหตุเดียวกันกับเวลาที่เราลืมแก้วกาแฟไว้บนหลังคารถ นั่นก็คือ เราถือแก้วกาแฟมา แต่วางไว้บนหลังคารถเพื่อจัดเก็บของที่ถือมา พอเก็บของอย่างอื่นเสร็จก็เผลอขึ้นรถ ปิดประตูแล้วขับออกไปเลย จะเห็นได้ว่า ก็เป็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับคนรู้จักของผู้เขียนที่เล่าไปข้างต้น
เพราะเหตุนี้เอง เหตุการณ์ที่พ่อแม่ลืมลูกไว้ในรถ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แม้แต่กับพ่อแม่ที่เอาใจใส่สุด ๆ จนเกิดเป็นอุบัติเหตุ ความสูญเสีย และอุทาหรณ์กับพ่อแม่ทั้งหลาย
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนไม่อยากให้มองปัญหานี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากเราไม่ประมาท ตรวจเช็กสิ่งของบนรถทั้งเบาะหน้าเบาะหลังทุกครั้งก่อนลงจากรถให้เป็นนิสัย ก็จะช่วยป้องกันเหตุไม่คาดคิดได้อย่างแน่นอน คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าวันหนึ่ง มันอาจจะเกิดขึ้นกับคุณและลูกของคุณก็ได้
อ้างอิง :
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส
ที่มา : beartai / วันที่เผยแพร่ 31 ส.ค.65
Link : https://www.beartai.com/article/tech-article/1144486