เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสร่วมงานสัมมนาครบรอบ 25 ปี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “Metaverse เชื่อมโยงพื้นที่ใหม่กับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา : กฎหมายสำหรับโลกอนาคตในโลกคู่ขนาน” จึงถือโอกาสนำบางส่วนมาเล่าให้ฟังในบทความฉบับนี้
ระบบเศรษฐกิจใน Metaverse
Metaverse คือความพยายามของบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะสร้างโลกเสมือนเพื่อให้คนในโลกกายภาพสามารถเข้าถึงและมีกิจกรรมต่างๆ ในโลกเสมือนดังกล่าวได้ ผ่านการเชื่อมโยงของระบบอินเทอร์เน็ต
ดังนั้น กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน Metaverse คือ การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการใช้คริปโทเคอร์เรนซี หรือ NFT โดยเงินดิจิทัลหรือคริปโทจะถูกใช้เพื่อถ่ายโอนมูลค่า และ NFT จะนำมาใช้เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือเป็นตัวแทนของทรัพย์สินเสมือน
ดังนั้น โดยสภาพ NFT จะทำหน้าที่คล้ายตราสารในโลกปัจจุบัน (เช่น โฉนด ใบหุ้น) ที่มีหน้าที่จดบันทึกสิทธิต่าง ๆ ของเจ้าของทรัพย์ และถูกยึดโยงไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ในทางปฏิบัติการสร้าง Virtual Asset เช่น เสื้อผ้า สิ่งของ รูปภาพ และที่ดินในโลกเสมือน จึงเป็นทรัพย์สินในโลกออนไลน์ที่ถูกบันทึกไว้ใน NFT แต่ละเหรียญ
ด้วยสภาพข้อเท็จจริงข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตจะมี Decentralized Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีในปัจจุบันเกิดขึ้นอีกมากมาย
หรืออาจกล่าวได้กว่า Metaverse จะสร้าง “Marketplace” ขนาดใหญ่และไร้พรมแดน ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือการลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลาย อันเป็นการท้าทายกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ความท้าทายทางกฎหมายใน Metaverse มีหลายประเด็น เช่น
1.ความสัมพันธ์ที่ผูกติดกับสัญญาที่ซับซ้อน กล่าวคือ ธุรกรรมต่าง ๆ ที่อยู่บน Metaverse มักอยู่ในรูปแบบสัญญาหรือข้อตกลงออนไลน์ที่ใช้ Smart Contract เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน
ซึ่งสิ่งที่ท้าทาย คือ ธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นจะต้องสามารถรองรับการทำกิจกรรมแบบ Real time interaction ของผู้ใช้งานและการทำสัญญาผ่านระบบข้อมูลอัตโนมัติเป็นหลักได้
อย่างไรก็ดี ข้อดีของการใช้ Blockchain และ Smart Contract จะช่วยให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถจัดเก็บและติดตามข้อมูลของคู่สัญญา และอาจเพิ่มช่วยความโปร่งใสในการตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา และการติตตามการโอนสิทธิหรือทรัพย์สินใน Metaverse ได้
2.ประเด็นสภาพบุคคล สิทธิ ความรับผิดของ Avatar ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์และข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้งาน (User interactions)
ซึ่งท้าทายขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมายแพ่งและอาญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการสืบค้นพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ก็เป็นอีกประเด็นที่ท้าทายภาครัฐในการสืบหาข้อเท็จจริงในคดี
กรณีตัวอย่างที่ยากต่อการหาต้นตอและบุคคลที่แท้จริงในการกระทำความผิด เช่น กรณีของเว็บไซต์ Silk Road ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มค้าของผิดกฎหมาย ซึ่งผู้สร้างต้องการซ่อนตัวตนผู้ซื้อขายโดยการกำหนดการเข้าใช้งานแบบนิรนาม (Anonymous) เพื่อสร้างตลาดมืดที่ไม่ต้องการให้ใครติดตามการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มได้
3.เกิดเซทข้อมูลแบบใหม่ กล่าวคือ เมื่อการทำกิจกรรมเป็นแบบ Real time interaction ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นใน Metaverse คือ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มักมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลชีวภาพ หรือ ข้อมูลBiometrics data ที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหว ท่าทาง และอาจรวมไปถึงการแสดงสีหน้า
เหล่านี้ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) ที่ผู้พัฒนาระบบต้องขอความยินยอมโดยชัดแจ้ง (Explicit Consent) จากผู้ใช้งานก่อนจัดเก็บและประมวลผล รวมถึงต้องยกระดับความปลอดภัยในการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันข้อมูลของผู้ใช้งานรั่วไหล
4.กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน กล่าวคือ ในโลกปัจจุบันการซื้อทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะหรือ ที่ดิน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “กรรมสิทธิ์” ของทรัพย์อาจแบ่งได้ในสองลักษณะ
ลักษณะแรก คือ ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะขอกล่าวในหัวข้อถัดไป และ ลักษณะที่สอง คือ ลักษณะของทรัพย์ในเชิงกายภาพที่อาจมีประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ดิน กฎหมายแพ่ง และกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกัน
เช่น เรื่องการเป็นเจ้าของ การบุกรุก การใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ของทรัพย์ใน Metaverse จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใด และจะปรับใช้อย่างไร รวมถึง Digital Asset เหล่านั้นสามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้หรือไม่
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งให้ความคุ้มครองงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์ของมนุษย์ผ่านสิ่งที่จับต้องได้ เช่น งานประดิษฐ์ งานที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม และสิ่งที่จับต้องไม่ได้
เช่น software และกรรมวิธีการผลิต ซึ่งในกรณีของ Metaverse กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินในพื้นที่ดิจิทัล ในหลายแง่มุม กล่าวคือ
4.1) กฎหมายลิขสิทธิ์ จะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครอง Software computer งานศิลปะที่สร้างในแบบดิจิทัลแขนงต่าง ๆ ซึ่งอาจถูกสร้างในรูปแบบ NFT ที่จะถูกใช้เป็นสื่อกลางในการเก็บข้อมูลงานสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ในอนาคตจะมีประเด็นเชื่อมโยงกับกฎหมายสิทธิบัตรมากขึ้น
4.2) กฎหมายสิทธิบัตร จะให้ความคุ้มครองความคิดในการประดิษฐ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เป็นการประดิษฐ์ใหม่ มีการประดิษฐ์ขั้นสูง และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้
ดังนั้น ในโลก Metaverse สิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองความคิดของผู้ประดิษฐ์ผ่านการสร้าง “ฮาร์ดแวร์” (Hardware Component) หรืออุปกรณ์ในแบบต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ AR และ VR รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกาย ลูกตา และการสีหน้าได้
นอกจากนี้ กฎหมายสิทธิบัตร ยังสามารถให้ความคุ้มครองไปถึง Software process หรือ Software related patent ซึ่งผู้ขอสิทธิบัตรต้องพิสูจน์ว่างานดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพียง Software ธรรมดาตามกฎหมายลิขสิทธิ์
แต่เป็นกระบวนการทางเทคนิคที่มีการประดิษฐสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งในโลก Metaverse การขอสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ตามที่กล่าวมาจะมีให้เห็นมากขึ้น
4.3 กฎหมายเครื่องหมายการค้า ประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้ามีให้เห็นอยู่มากในการสร้างเครื่องหมายการค้าในโลกเสมือนให้เกิดความสับสนกับผลิตภัณฑ์ในโลกทางกายภาพ
เช่น กรณีศิลปินชาวอเมริกัน ได้ทำ NFT โดยตั้งชื่อว่า Hermès MetaBirkin โดยใช้รูปที่ออกแบบและมีลักษณะคล้ายกระเป๋ารุ่น Birkin ของ Hermès ที่มีผู้เข้าใจผิดและหลงซื้อ NFT ดังกล่าวในราคาสูง (บางเหรียญราคาสูงถึงราว 5 ล้านบาท) ด้วยเข้าใจว่าเป็นเหรียญที่ออกโดย Hermès เอง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการฟ้องร้องในประเด็นการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าในวันนี้เราเห็นเพียงส่วนหนึ่งของ Metaverse แต่ในอนาคตเมื่อ Metaverse ถูกพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ จะมีประเด็นอีกมากมายที่ท้าทายนักกฎมายในโลกปัจุบัน.
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 13 ก.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1026355