ประเด็นความวุ่นวายใน “เลบานอน” กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อธนาคารทุกแห่งทั่วประเทศปิดทำการไม่มีกำหนด เนื่องจากหวั่นความปลอดภัย หลังลูกค้าที่โกรธแค้นบุกปล้นธนาคารหลายแห่งเพื่อเอาเงินฝากตัวเองคืน ขณะที่ค่าเงินปอนด์เลบานอนอ่อนค่าลงถึง 90% นับตั้งแต่ปี 2562 เรามาย้อนรอยวิกฤติใหญ่ในเลบานอนกันว่า มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
สถานการณ์ในเลบานอนขณะนี้ อาจแทบเรียกได้ว่าเข้าสู่ “กลียุค” เพราะถูกรุมเร้าจากทั้งหนี้สาธารณะท่วม เหตุจลาจลทั่วประเทศ และเศรษฐกิจล้มละลายจนต้องขอกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่ประชาชนที่ฝากเงินกับธนาคารไม่สามารถถอนเงินตัวเองออกมาใช้ได้ จนเกิดเหตุการณ์ปล้นธนาคารทั่วทุกหัวระแหง
เมื่อวันพฤหัสบดี (22 ก.ย.) สมาคมธนาคารเลบานอน ประกาศว่า ธนาคารทุกแห่งจะยังปิดทำการต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากไม่ได้รับความมั่นใจจากทางการในการรักษาความปลอดภัย ยังคงมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องสำหรับพนักงานและลูกค้า และบรรยากาศของการปลุกระดมยังคงมีอยู่
– เหตุจลาจลในเลบานอนล่าสุด ก.ย. 2565 (เครดิจภาพ: REUTERS/Mohamed Azakir) –
ธนาคารหลายแห่งปิดประตูไม่ต้อนรับลูกค้า หลังจากเกิดเหตุการณ์ประชาชนที่โกรธแค้นบุกปล้นธนาคาร 7 แห่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่วิกฤติการเงินที่ยืดเยื้อนาน 3 ปีกลับเลวร้ายลงอีก และชีวิตชาวเลบานอนยากลำบากยิ่งขึ้น
ภาคธนาคารเลบานอน “อายัดเงินฝาก” มานานกว่า 2 ปี และจำกัดจำนวนเงินที่สามารถถอนได้แต่ละครั้ง ขณะที่ประชากรราว 3 ใน 4 อยู่ในภาวะยากจน ชาวเลบานอนส่วนใหญ่กล่าวโทษภาคธนาคารและธนาคารกลางสำหรับวิกฤติที่เกิดขึ้น
คำถามสำคัญที่หลายคนน่าจะอยากรู้คือ เลบานอนเข้ามาสู่จุดตกต่ำเช่นนี้ได้อย่างไร จากประเทศที่เคยมั่งคั่ง มีชื่อเสียงเป็นถึง “ปารีสตะวันออกกลาง” บทความนี้จะพาย้อนไปหาคำตอบกัน
ปารีสแห่งตะวันออกกลาง
เลบานอนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์มาก ด้านข้างติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นทำเลชั้นดีสำหรับปลูกต้นมะกอก องุ่นทำไวน์ ถั่ว ส้ม มัลเบอร์รี่ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงด้านอัญมณี เครื่องประดับที่สวยงามมาก ไม่ว่าจะเป็น Mouawad (โมอาวาด) แบรนด์จิวเวลรี่ที่เคยออกแบบมงกุฎ Miss Universe Thailand 2021, Tabbah, Chatila, ฯลฯ
นอกจากนั้น เลบานอนยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของอารยธรรมอันรุ่งเรืองอย่างอียิปต์ โรมัน และอาณาจักรออตโตมัน ดังนั้น หากเราไปเที่ยวจะพบสถาปัตยกรรมในฉบับอาหรับหลายแห่ง หลังจากที่อาณาจักรออตโตมันล่มสลายลง เลบานอนก็เป็นอิสระในช่วงสั้นๆ ก่อนตกเป็นของฝรั่งเศส จึงได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ และสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาด้วย
ความหลากหลายทางอารยธรรมอาหรับกับตะวันตกที่เข้ามา แม้จะเป็นสีสันทางวัฒนธรรม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งได้ ซึ่งถ้าหากบริหารไม่ดีก็จะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่!
สงครามกลางเมือง
ด้วยความที่เลบานอนเป็นรัฐที่ผสมทั้งอิทธิพลอาหรับและตะวันตกเข้ามา เลบานอนจึงประกอบด้วย 2 นิกายใหญ่ 2 ความเชื่อ ได้แก่ คริสเตียนนิกายมาโรไนท์กับมุสลิมนิกายดรูสส์ โดยที่เมืองหลวงอย่างกรุงเบรุต จะมีเส้นสีเขียวแบ่งระหว่างฝั่งตะวันออก ชุมชนชาวคริสต์ กับฝั่งตะวันตก ชุมชนชาวมุสลิม
– หอระฆังของโบสถ์คริสต์มาโรไนท์ กับมัสยิดอัลอามีนในย่านเบรุต (เครดิตภาพ: Reuters/Mohamed Azakir) –
– สงครามกลางเมืองเลบานอน ปี 2518 (เครดิตภาพ: AP Photo) –
อีกทั้งภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส กลุ่มชนชั้นสูงที่ครองอำนาจรัฐจะเป็นชาวคริสต์ โดยก่อนมอบเอกราชให้เลบานอน ฝรั่งเศสได้ช่วยชาวเลบานอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกด้วย แต่ในเนื้อหาค่อนข้างเอื้อให้ชาวคริสต์อยู่ไม่น้อย มีการกำหนดจำนวนเก้าอี้ผู้แทนสภาชาวคริสต์ให้มากกว่าชาวมุสลิม
ความขัดแย้งระหว่างนิกายได้เพิ่มสูงขึ้น เมื่อละแวกบ้านเลบานอนได้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมา นั่นคือ อิสราเอล ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ที่เคยอาศัยอยู่เดิม ต้องอพยพออกและย้ายมาอยู่เลบานอนจำนวนมาก สัดส่วนประชากรชาวมุสลิมจึงเพิ่มสูงขึ้น ความขุ่นเคืองระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิม ประกอบกับกระแสชาตินิยมชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการเอาดินแดนเดิมกลับมา กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เลบานอนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โดยฝ่ายคริสต์ได้รับการสนับสนุนโดยอิสราเอล ขณะที่ฝ่ายมุสลิมได้รับการสนับสนุนโดยปาเลสไตน์และซีเรีย สงครามนี้กินเวลายาวนานมากถึง 15 ปี (ปี 2518-2533) สร้างบาดแผลใหญ่ต่อเศรษฐกิจเลบานอนอย่างมาก
ปะทะกับอิสราเอล
เนื่องจากเลบานอนเป็นที่ตั้งของชาวปาเลสไตน์ที่อพยพเข้ามาจำนวนมาก และต่อมาได้เกิดกลุ่มพรรคการเมืองติดอาวุธขึ้นมาที่ชื่อว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีที่นั่งในสภา กลุ่มนี้กำเนิดขึ้นมาเพื่อปกป้องเลบานอนจากภัยคุกคามอย่างอิสราเอล โดยได้รับการยกย่องจากโลกอาหรับว่าสามารถขับไล่อิสราเอลให้ออกจากทางใต้ของเลบานอนได้สำเร็จ
– สงครามกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนกับอิสราเอล
(เครดิตภาพ: REUTERS/Bilal Jawish) –
ขณะที่อิสราเอลมองกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ว่า เป็นภัยคุกคามต่อประเทศตน และสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของอิสราเอลก็ขึ้นบัญชีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ส่งผลให้นักลงทุนตื่นตระหนกและถอนการลงทุนจากเลบานอนไปจำนวนมาก รวมถึงกระทบการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศด้วย
เหตุระเบิดใหญ่ท่าเรือเบรุต
เมื่อปี 2563 เกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือสำคัญในกรุงเบรุต เหตุระเบิดครั้งนี้สร้างความเสียหายไกลถึง 20 กม. มีผู้เสียชีวิตทันที 200 คน บาดเจ็บกว่า 7,000 คน อีกทั้งทำให้ประชาชนกว่า 3 แสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ทำลายไซโลเก็บธัญพืชสำรองไปกว่า 85% รวมมูลค่าความเสียหายสูงถึงกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.6 แสนล้านบาท
– ภาพก่อนเเละหลังระเบิดที่ท่าเรือเบรุตปี 2563 (เครดิต: Flickr.com/AP) –
ผลตรวจสอบทางการพบว่า เป็นการระเบิดจากคลังแอมโมเนียมไนเตรต จำนวน 2,750 ตัน ซึ่งความอันตรายของสารนี้คือ สามารถนำไปใช้ทำระเบิดได้ ทำให้ความเสียหายจากแรงระเบิดขยายวงกว้างในรัศมีหลายกิโลเมตร
คอร์รัปชันรุนแรงในระดับรัฐบาล
ปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศคือ มีการคอร์รัปชันกันจนเป็นโรคเรื้อรัง โดยเมื่อดูจากดัชนี Corruption Perceptions Index 2021 พบว่า เลบานอนรั้งอันดับท้าย ๆ ในด้านความโปร่งใส อยู่ที่ 154 จากทั้งหมด 180 ประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น พรรคการเมืองในสภาก็ไม่สมานสามัคคีกันจากความขัดแย้งทางนิกาย มีการกล่าวโทษกันไปมาจนปัญหาต่าง ๆ ในประเทศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
โควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้การขนส่ง และการท่องเที่ยวติดขัดไปทั่วโลก ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญเลบานอน ปัญหานี้ได้ถูกซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซียยูเครน จนเกิดวิกฤติพลังงานขึ้น
วิกฤติพลังงานเลบานอนหนักหนาระดับที่ประชาชนต้องทนเผชิญกับไฟดับเป็นประจำ การเข้าคิวเติมน้ำมันที่ยาวนานและไม่เพียงพอ จนกลายเป็นความโกลาหลปล้นชิงรถน้ำมัน
จุดเริ่มต้นมีขึ้นหลังเลบานอนสิ้นสุดสงครามกลางเมืองได้ไม่นาน ธนาคารกลางก็ดำเนินนโยบายตรึงค่าเงินเลบานอนที่อัตรา 1,507 ปอนด์เลบานอนให้เท่ากับ 1 ดอลลาร์ การตรึงค่าเงินเช่นนี้จะมีเสถียรภาพ หากเงินดอลลาร์เพียงพอ แต่ในปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินหลายประเทศที่ปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ เผชิญกับเงินไหลออก ค่าเงินอ่อนลงเรื่อย ๆ เงินปอนด์เลบานอนก็เช่นกัน จึงยิ่งทำให้ประเทศขาดดุลการค้าสูงขึ้น ไม่มีเงินดอลลาร์เพียงพอในการนำเข้าน้ำมัน
ยิ่งไปกว่านั้น เลบานอนนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนสูงถึง 80% และอีก 15% นำเข้าจากรัสเซีย การที่ยูเครนได้กลายเป็นสมรภูมิรบไปแล้ว เท่ากับซ้ำเติมวิกฤติอาหารเพิ่มมาอีก
บทเรียนจากวิกฤติเลบานอน
สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้คือ แม้ในอดีตจะเคยเป็นประเทศที่รุ่งเรืองอย่างปารีสแห่งตะวันออกกลาง แต่หากความสามัคคีของคนในชาติได้เสื่อมสลายหายไป ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมือง ยิ่งถ้ามีการแทรกแซงจากต่างชาติด้วยแล้ว ก็จะทำให้สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนและหนักหนาเข้าไปอีก ความรุ่งเรืองที่เคยมีมา ก็อาจกลายเป็นเพียงอดีตได้
ในอีกด้านหนึ่ง หากประชาชนในเลบานอนสามัคคีกัน เปลี่ยนจากการกล่าวโทษกันไปมาเป็นการหาทางแก้ปัญหา เชื่อได้ว่าต่อให้เลบานอนต้องประสบปัญหาพลังงานแพง เศรษฐกิจถดถอย ประเทศก็จะผ่านชนะไปได้ และไม่เข้าสู่ยุคตกต่ำเช่นนี้
อ้างอิง: The United States Institute of Peace, Ghazi.de, HAL Open Science, ReliefWeb
—————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 ก.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1028645