อีเมลไม่ใช่เซฟโซน! จะรับมืออย่างไร เมื่อ 1 ใน 4 “อีเมลอันตราย” จากทั่วโลกมุ่งสู่ “เอเชียแปซิฟิก” ในปี 2022 แถม “อีเมล” ยังคงเป็นช่องทางหลักในการโจมตีด้านความปลอดภัย เพราะโอกาสสำเร็จสูง และต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่นๆ
แม้ปัจจุบันจะมี “สมาร์ทโฟน” และแอปพลิเคชันที่ทำให้ติดต่อกันได้แบบสุดแสนจะง่ายดาย แต่ “อีเมล” ก็ยังถือเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารโดยเฉพาะในเชิงธุรกิจ การทำงาน เพราะถูกมองว่าเป็นทางการกว่าและเหมาะกับการส่งข้อมูลในปริมาณมาก
ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มี “สแปมอีเมล” ฉบับแรกช่วงปี 1978 ก็มีเหล่าสแกมเมอร์พยายามใช้อีเมลเป็นช่องทางในการโจมตีด้านความปลอดภัยเสมอมา เนื่องจากอีเมลสามารถกระจายได้ง่ายกว่า ประหยัดกว่า แถมมีโอกาสทำสำเร็จสูงเสียด้วย
ข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่า 1 ใน 4 “อีเมลอันตราย” จากทั่วโลกมุ่งสู่ “เอเชียแปซิฟิก” หรือ “APAC” โดย Noushin Shabab หนึ่งในนักวิจัยของ “Kaspersky” อัปเดตข้อมูลในงาน Kaspersky’s 8th APAC Cyber Security Weekend เกี่ยวกับอีเมลอันตรายเหล่านี้ว่า ปี 2022 (ม.ค. – ส.ค.) พบ
61.1% ของสแปมที่เป็นอันตรายใน APAC กำหนดเป้าหมายไปยังผู้ใช้ Kaspersky 5 อันดับแรก คือ
เวียดนาม 17.9%
มาเลเซีย 13.6%
ญี่ปุ่น 10.8%
อินโดนีเซีย 10.4%
ไต้หวัน 8.4%
ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 8 ที่พบราว 5%
โดยสแปมที่เป็นอันตรายไม่ใช่การโจมตีที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี แต่เมื่อใช้กับเทคนิควิศวกรรมโซเชียลที่ซับซ้อน จะเป็น “ภัยคุกคามร้ายแรงต่อบุคคลและองค์กร” อีเมลขยะเหล่านี้ถูกส่งออกไปในปริมาณมากโดยนักส่งสแปมและอาชญากรไซเบอร์ที่ต้องการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อาทิ
– สร้างรายได้จากผู้รับเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ตอบกลับข้อความ
– เรียกใช้ฟิชชิ่งสแกม เพื่อรับรหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต รายละเอียดบัญชีธนาคาร และอื่นๆ
– กระจายโค้ดที่เป็นอันตรายไปยังคอมพิวเตอร์ของผู้รับ
ทำไมสแปมอีเมลมากมายกำหนดเป้าหมายมาที่ APAC
ปัจจัยหลัก 3 อย่างที่ทำให้สแปมอีเมลกำหนดเป้าหมายมายัง APAC คือ ประชากร การใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสูง และการล็อกดาวน์จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ประกอบกับภูมิภาค APAC มีประชากรเกือบ 60% ของโลก ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นที่นี่มากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก เพราะมีการใช้บริการออนไลน์ในวงกว้าง เช่น การซื้อของในแพลตฟอร์มออนไลน์ การทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ในแต่ละวัน ทำให้บุคคลมีความอ่อนไหวต่อการตกเป็นเหยื่อของกลโกงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีผลพวงจากการระบาดใหญ่ที่ต่อเนื่องซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์และการตั้งค่าการทำงานจากที่บ้านทำให้ผู้คนนำคอมพิวเตอร์ที่ทำงานกลับบ้าน ซึ่งเครือข่ายในบ้านมักจะได้รับการปกป้องจากการโจมตีทางไซเบอร์น้อยกว่า
ทำไมอีเมลถึงเป็นเป้าหมายในการโจมตี
Shabab ให้ข้อมูลว่า อีเมลเป็นการสื่อสารหลักและเป็นวิธีที่อาชญากรไซเบอร์ใช้ในการโจมตีมากที่สุด เนื่องจากสามารถโจมตีง่าย และประหยัด ลงทุนน้อย แถมได้ผลดี ซึ่งนอกจากอีเมลแล้ว ปัจจุบันยังมีการเข้า “โจมตีซัพพลายเชน” โดยโจมตีผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้แอปฯ ติดเชื้อ เมื่อคนไปดาวน์โหลด อุปกรณ์ที่ใช้ดาวน์โหลดแอปฯ นี้ก็จะติดโปรแกรมที่ติดไว้ด้วย
อีกวิธีหนึ่งที่นิยม คือการ “โจมตีผ่านเว็บไซต์” ที่มักจะจ้องโจมตีเว็บไซต์ที่มีคนใช้งานเยอะ โดยวางกับดักไว้ข้างในระบบ พอเราเข้าไปใช้งานก็จะติดเชื้อนั้นกลับมาด้วย
นอกจากนี้ ยังพบเทรนด์การโจมตีอื่นๆ เช่น ไฟล์แนบในแอปพลิเคชันที่ใช้ส่งข้อความทั้งหลาย ส่งข้อความบอกว่ามีสิทธิกู้เงิน ตรวจโควิดฟรี หรือใช้ข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ ทำให้คนที่สนใจเข้ามาติดกับได้ง่าย
ป้องกันตัวจากอีเมลอันตรายอย่างไร ?
สแปมอีเมล ที่สามารถโจมตีได้สำเร็จ แฝงตัวมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ Microsoft Office , ข้อความในอีเมล , PDF, JS, RAR รวมถึง ISO
สแปมอีเมลเหล่านี้ มักจะหลอกล่อให้เชื่อ ด้วยชื่อเรื่องอีเมลที่ดูมีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับการทำงาน ชีวิต หรือทรัพย์สิน เช่น Agenda Points.doc , Invitation.doc , Issuing of Visa.docx , Statement Concerning Crisis in Ukraine.docx เป็นต้น
นอกจากนี้ Shabab ยังได้กล่าวถึงอันตรายที่สำคัญของการโจมตี “APT” (Advanced Persistent Threat) โดยแฮกเกอร์อาจเปิดแบ็คดอร์ไว้หลายบานที่ทำให้สามารถทำมาโจมตีได้อีกครั้ง ทำให้การปกป้องกล่องจดหมายสำคัญมาก
ดังนั้น พนักงานในทุกระดับจำเป็นต้องตระหนักถึงภัยคุกคาม เช่น อีเมลปลอม นอกจากต้องศึกษาเพื่อระมัดระวังแล้ว ยังควรมีเทคโนโลยีที่เน้นการรักษาความปลอดภัยอีเมลเข้ามาช่วยอีกแรง
ทั้งนี้ Kaspersky ยังได้แนะนำให้บริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนติดตั้งการป้องกันฟิชชิ่งบนเซิร์ฟเวอร์อีเมลของพนักงาน โดยองค์กรควรใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยขั้นสูงที่สามารถตรวจจับการโจมตี APT ที่ซับซ้อนได้ด้วย
—————————————-
อ้างอิง: Kaspersky’s 8th APAC Cyber Security Weekend
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 30 ส.ค.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/tech_gadget/1023617