ปภ.แนะนำวิธีการป้องกันและข้อปฏิบัติเพื่อใช้ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG อย่างถูกวิธี ป้องกันภัยใกล้ตัวก๊าซรั่วจนเกิดไฟไหม้หรือระเบิด
ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงที่บ้านและร้านอาหารนิยมใช้ประกอบอาหาร เนื่องจากใช้งานง่ายและสะดวกสบาย แต่มีคุณสมบัติไวไฟจะติดไฟอย่างรวดเร็ว หากอุปกรณ์ถังก๊าซอยู่ในสภาชำรุด ผู้ใช้งานประมาทและขาดความระมัดระวัง จะเสี่ยงต่อการระเบิดและเพลิงไหม้ได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะนำวิธีการป้องกันและข้อปฏิบัติเพื่อใช้ก๊าซหุงต้มอย่างถูกวิธีและปลอดภัยไว้ ดังนี้
การเลือกใช้ถังก๊าซ
ถังก๊าซ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพมีซีลปิดผนึกที่หัวถังในสภาพสมบูรณ์ พร้อมหมายเลขถังกำกับ และมีข้อความระบุชื่อบริษัท เดือน ปี ที่ตรวจสอบถังครั้งสุดท้าย น้ำหนักถัง และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิท
สายนำก๊าซ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม ไม่ทำจากยางหรือพลาสติก เพราะเมื่อถูกก๊าซหุงต้มจะละลาย ทำให้เกิดการรั่วไหลได้ ที่สำคัญ ต้องไม่หักงอง่ายทนต่อแรงดันและการขูดขีด สามารถต่อกับลิ้นเปิด – ปิดได้สนิทและแน่นหนา
เหล็กรัดสายยางส่งก๊าซ ต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน และควรเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ 2 ปี
วิธีป้องกันเหตุรั่วไหล
-หมั่นตรวจสอบเตาแก๊สและถังก๊าซให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ห้ามเปลี่ยนอุปกรณ์หรือแก้ไขด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้
-ใช้งานก๊าซหุงต้มอย่างถูกวิธี ไม่เปิดเตาแก๊สติดต่อกันหลายครั้ง ปิดวาล์วถังก๊าซทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันก๊าซสะสมจำนวนมาก หากมีประกายไฟในบริเวณดังกล่าว จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
-ไม่เปิดเตาแก๊สอุ่นอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีผู้ดูแล เพราะหากเกิดการลุกไหม้จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที
วิธีแก้ไขเมื่อเกิดก๊าซรั่ว
-รีบหยุดการรั่วของก๊าซ โดยปิดวาล์วถังก๊าซและเตาแก๊ส เปิดประตู หน้าต่างทุกบาน พร้อมใช้ไม้กวาดหรือกระดาษพัดเหนือระดับพื้นเพื่อระบายก๊าซออกสู่ภายนอก จากนั้นยกถังก๊าซไปไว้ในที่โล่ง ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก
-ตรวจสอบรอยรั่วของถังก๊าซ โดยใช้น้ำสบู่ลูบวาล์วถังก๊าซ หัวปรับความดัน ข้อต่อ แกนลูกบิด สายอ่อนนำก๊าซ หากมีก๊าซรั่ว จะเกิดฟองอากาศ
-กรณีเพลิงไหม้ถังก๊าซ ให้รีบปิดวาล์วถังก๊าซ หากไม่สามารถปิดได้ ให้ใช้ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งฉีดพ่นตรงจุดที่ไฟลุกไหม้จนกว่าไฟจะดับสนิท
ข้อควรระวัง
-ห้ามเปิด-ปิด อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด หรือประกอบกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟบริเวณที่ก๊าซรั่ว เช่น เปิดพัดลม สูบบุหรี่ จุดไม้ขีดไฟ สตาร์ทเครื่องยนต์ เป็นต้น
-ห้ามใช้พัดลมในการระบายก๊าซออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดระเบิดหรือเพลิงไหม้ได้
ที่มา : thaipbs / วันที่เผยแพร่ 30 ส.ค.65
Link : https://news.thaipbs.or.th/content/318924