TikTok สำหรับหลายคนเป็นแหล่งรวมวิดีโอสนุก ๆ ไว้ดูคั่นเวลาว่าง เป็นเหมือนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจเอาไว้สำหรับความบันเทิง ซึ่งตัวแพลตฟอร์มมีอัลกอริทึมที่เรียนรู้ความชอบของผู้ใช้งานแต่ละคนและนำเอาวิดีโอที่คิดว่าเราน่าจะสนใจมาป้อนให้ดูอย่างไม่มีวันหมด (ซึ่งบางทีก็ติดพันดูไปเป็นชั่วโมงได้เหมือนกัน)
แต่อย่างที่เราทราบกันดีครับว่า TikTok ไม่ใช่แหล่งรวมวิดีโอเพื่อความบันเทิงเพียงเท่านั้น มันยังเป็นพื้นที่ของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากที่ต่าง ๆ ทั้งเชื่อถือได้และเชื่อถือไม่ได้รวมกันไว้ในนี้ด้วย รายงานล่าสุดของนักวิจัยจาก NewsGuard (เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว) บอกว่า 1 ใน 5 (หรือ 20%) ของวิดีโอบน TikTok นั้นแสดงข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมหรือมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ยกตัวอย่างถ้าค้นหาเรื่อง ‘mRNA Vaccine’ จะมีวิดีโอที่มีข้อมูลผิด ๆ ขึ้นมาถึง 5 คลิปใน 10 คลิปแรก อย่างเช่นวิดีโอหนึ่งบอกว่าวัคซีน Covid-19 นั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายกับอวัยวะสำคัญของเด็กแบบที่รักษาไม่หาย ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานใด ๆ มาอ้างอิงเลย
แถม TikTok ยังแสดงคำค้นหาที่ส่อถึงอคติอันเอนเอียงด้วยอย่างเช่น ถ้าเราคนหา “Covid Vaccine” อัลกอริทึมของ TikTok ก็จะแนะนำขึ้นมาเพิ่มว่า “Covid Vaccine Truths” (ความจริงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด), “Covid Vaccine Exposed” (เปิดโปงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด) หรือ “Covid Vaccine Injury” (อาการบาดเจ็บจากวัคซีนโควิด) ซึ่งจะนำเราไปสู่วิดีโออีกหลายคลิปที่เต็มไปด้วยข้อมูลผิด ๆ
ถ้าลองไปค้นหาใน Google เราจะไม่เห็นการแนะนำคีย์เวิร์ดแบบนี้เลย (ซึ่งก็ต้องเข้าใจด้วยว่าอัลกอริทึมของ TikTok นั้นอาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานเพื่อค้นหาข้อมูลโดยเฉพาะเหมือนอย่าง Google ด้วย)
ประเด็นอย่าง Covid-19 ไม่ใช่เรื่องเดียวที่มีข้อมูลผิด ๆ แพร่กระจายอยู่ทั่ว TikTok เรื่องภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สงครามรัสเซีย-ยูเครน การทำแท้ง การเลือกตั้ง หรืออย่างเหตุจลาจลรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021 ก็จะมีวิดีโอที่ให้ข้อมูลผิด ๆ จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือไม่ได้กระจายอยู่เต็มไปหมด มีการรายงานจาก The New York Times บอกว่าตอนนี้ Gen Z เริ่มใช้ TikTok เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้
เหตุผลหลักที่ทำให้คนเริ่มหันมาหาข้อมูลบน TikTok มากขึ้นก็เพราะวิธีการรับรู้ข้อมูลด้วยการดูวิดีโอนั้นเข้าถึงได้ง่ายกว่า เห็นปฏิกิริยาของคนในวิดีโอว่ารู้สึกยังไง สภาพแวดล้อมเป็นยังไง ไม่ต้องมานั่งอ่านข้อมูลเหมือนอย่างเว็บไซต์ที่ค้นหาเจอบน Google หรือที่อื่น ๆ
ทาง Google เองก็รับรู้ถึงผลกระทบที่ TikTok เริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งแล้ว แม้จะไม่ได้บอกว่าจะมีการจัดการหรือแก้ไขรับมือยังไง แต่ พราบาการ์ รากาวาน (Prabhakar Raghavan) รองประธานอาวุโสของ Google กล่าวในงานประชุมเทคโนโลยีในเดือนกรกฎาคมว่า
“จากการศึกษาของเรามีประมาณ 40% ของเด็กรุ่นใหม่เวลาค้นหาระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน พวกเขาไม่ได้เข้าไปที่ Google Maps หรือ Google Search พวกเขาไปที่ TikTok และ Instagram”
นี่ยังไม่นับพวก Challenge ที่สนับสนุนคนที่ทำอะไรแผลง ๆ ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น บางกรณีน่าสลดใจเด็กหลายคนทำตามการท้าทายที่อันตรายจนเสียชีวิตก็มี หรือข้อมูลผิด ๆ ช่วงที่นมผงขาดตลาดและมีวิดีโอที่บอกวิธีการทำนมผงเองได้ที่บ้าน ซึ่งกุมารแพทย์ก็ออกมาบอกเลยว่ามันเป็นสิ่งที่ ‘อันตราย’ มาก ๆ หรืออย่างวิดีโอสอนทำยาสมุนไพรสำหรับทำแท้งที่กลายเป็นกระแส หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายทำแท้งในหลายรัฐที่อเมริกา หลายวิดีโอมียอดวิวหลักล้านซึ่งข้อมูลก็ไม่ได้มีหลักฐานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับด้วย
จำนวนคลิปวิดีโอที่มีข้อมูลผิด ๆ และความง่ายในการค้นหานั้นน่ากังวลตรงที่กลุ่มผู้ใช้งานของ TikTok ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ยังไม่มีความสามารถในการคัดกรองหรือแยกแยะเนื้อหาได้อย่างมีเหตุผลเท่าใดนัก ซึ่งตอนนี้ TikTok ก็เป็นโดเมนที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองแค่ Google เท่านั้นตามข้อมูลของเว็บไซต์ Cloudflare
โดยหลังจากที่รายงานของ NewsGuard ออกมา TikTok ก็ออกมาโต้ว่า
“เราไม่อนุญาตให้มีข้อมูลผิด ๆ ที่เป็นอันตราย รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ที่ผิด ๆ ด้วย และเราก็จะทำการลบข้อมูลเหล่านั้นออกจากแพลตฟอร์มของเรา”
ในไตรมาสล่าสุดของปี 2022 TikTok รายงานว่าได้ลบวิดีโอที่ไม่เป็นไปตามกฎที่พวกเขาตั้งเอาไว้แล้วกว่า 100 ล้านวิดีโอ (ซึ่งในนี้ก็รวมถึงวิดีโอที่มีข้อมูลผิด ๆ และวิดีโอที่นำเสนอความรุนแรง ยาเสพติด และเรื่องเพศด้วย)
เราไม่มีทางทราบได้ว่าหลังบ้านของแอปพลิเคชันมีความพยายามกีดกันและป้องกันวิดีโอเหล่านี้ให้ขึ้นสู่หน้าฟีดมากน้อยขนาดไหน แต่ที่แน่ ๆ จากที่ดูรายงานของ NewsGuard แล้วพวกเขายังต้องพยายามมากกว่านี้อีกหลายเท่าเลยทีเดียว
Business Insider , The New York Times 1 , AP News
The New York Times 2 , Fortune , NewsGuard
AP News 2 , News Week
——————————————————————————————————————————
ที่มา : Beartai / วันที่เผยแพร่ 23 ก.ย.65
Link : https://www.beartai.com/article/tech-article/1154227