สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า การรั่วไหลของท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่จากรัสเซียสู่ยุโรป มีสาเหตุจากการก่อวินาศกรรม แต่ไม่ถึงขั้นกล่าวหามอสโกว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ยืนยันในวันพุธที่ 28 ก.ย. 2565 ว่า การรั่วไหลถึง 3 จุดที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ นอร์ด สตรีม 1 และ 2 ซึ่งตรวจพบเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นการก่อวินาศกรรม โดยนางเออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน ประธาน EC กล่าวว่าการจงใจทำให้เกิดการหยุดชะงัก จะต้องเผชิญการการตอบสนองอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อว่าการรั่วไหลที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความยืดหยุ่นทางพลังงาน (energy resilience) ของยุโรป เพราะตอนนี้ท่อทั้งสองไม่ได้กำลังขนส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ยุโรป แม้ว่าภายในท่อจะมีก๊าซอยู่ก็ตาม
นายบลิงเคนไม่ได้กล่าวหารัสเซียว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรั่วไหลที่เกิดขึ้น แต่กล่าวว่า หากเรื่องนี้เกิดจากความจงใจ มันจะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย
ทั้งนี้ หน่วยงานเดินทะเลของสวีเดนออกคำเตือนเกี่ยวกับการรั่วไหล 2 จุดที่ท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 1 ในวันอังคาร หลังจากวันก่อนหน้านั้นเพิ่งพบการรั่วไหล 1 จุดที่ท่อ นอร์ด สตรีม 2 ซึ่งอยู่ใกล้กัน ส่วนเดนมาร์กต้องจำกัดการเดินเรือ เนื่องจากก๊าซที่รั่วออกมาทำให้ผิวน้ำปั่นป่วนกินพื้นที่เส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 1 กม. และบังคับใช้เขตห้ามบินขนาดเล็ก
นักแผ่นดินไหววิทยาในเดนมาร์กและสวีเดนตรวจพบการระเบิดรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดก๊าซรั่วเมื่อวันจันทร์ ขณะที่ GFZ ศูนย์วิจัยธรณีวิทยาของเยอรมนี ก็ระบุว่าพบการระเบิด 2 ครั้งใกล้เกาะบอร์นโฮล์ม ของเดนมาร์กในวันเดียวกัน
นายไมค์ ฟูลวู้ด นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการศึกษาพลังงาน อ็อกฟอร์ด ก็บอกกับ บีบีซี ว่า การรั่วไหลน่าจะเกิดจากการก่อวินาศกรรม “การหยุดชะงักของท่อส่งก๊าซนอกชายฝั่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นการพบการรั่วไหลถึง 3 จุดภายในเวลา 18 ชั่วโมง จึงไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญ”
อย่างไรก็ตาม นายฟูลวู้ดระบุว่า หากรัสเซียอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้จริง จะถือเป็นการตัดสินใจที่แปลกประหลาดมาก เพราะรัสเซียหยุดการสั่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรปไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ท่อเสียหาย
นายแดน ยอร์เกนเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของเดนมาร์กคาดว่า การรั่วไหลอาจดำเนินต่อไปนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนที่ก๊าซจะออกจากท่อจนหมด ขณะที่นายฟูลวู้ดประเมินว่า การซ่อมแซมอาจต้องใช้เวลานาน 3-6 เดือน เพราะจำเป็นต้องเปลี่ยนท่อส่วนที่เสียหายซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ทะเลบอลติกถึง 1,200 กม.
————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 29 ก.ย.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2512781