สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นแถลงในวันนี้ (15 ก.ย.) ว่า บริษัทของญี่ปุ่นได้ถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ทั้งสิ้น 114 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้รวมถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก 59 แห่ง และบริษัทขนาดใหญ่ 36 แห่ง โดยครอบคลุมถึงบริษัทผู้ผลิต 37 แห่ง บริษัทภาคบริการ 20 แห่ง และโรงพยาบาล 5 แห่ง
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ต้องระงับการปฏิบัติงานในโรงงานทั้งหมด 14 แห่งในญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 วัน หลังบริษัทโคจิมะ อินดัสทรีส์ คอร์ป ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ได้ถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์เมื่อวันที่ 28 ก.พ. โดยผู้ก่อเหตุโจมตีแรนซัมแวร์จะบีบบังคับให้เหยื่อจ่ายเงินแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงข้อมูลบริษัทได้อีกครั้งผ่านการเข้ารหัสลับ
นอกจากนี้ ตำรวจยังยืนยันเหตุโจมตีแรนซัมแวร์แบบสองชั้น (double-extortion) ได้ 53 คดีจากทั้งหมด 83 คดี โดยการโจมตีดังกล่าวนั้น ผู้ก่อเหตุจะเรียกร้องเงินเพื่อแลกกับการถอดรหัสข้อมูลที่ตกเป็นเป้าหมาย พร้อมขู่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณชนหากเหยื่อปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน
ผลสำรวจของบริษัทและองค์กรที่ตกเป็นเหยื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่จาก 49 คดี ยอมจ่ายเงินให้กับผู้ก่อเหตุ โดยเหยื่อต้องจ่ายเงิน 10 ล้านเยน (70,000 ดอลลาร์) ขึ้นไปในการตรวจสอบขอบเขตของความเสียหายและการกู้คืนข้อมูล
รายงานระบุว่า บริษัทอย่างน้อย 36 แห่งจากทั้งหมด 48 แห่งยังไม่สามารถกู้ข้อมูลกลับคืนมาได้ แม้ว่ามีการสำรองข้อมูลเอาไว้ก็ตาม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นเตือนว่า แม้แต่ข้อมูลที่สำรองไว้ก็ยังสามารถถูกเข้ารหัสได้ และความเสียหายอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้บริษัทต้องระงับการดำเนินงาน
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ / วันที่เผยแพร่ 15 ก.ย.65
Link : https://www.infoquest.co.th/2022/234581