พม่ามีพรมแดนที่ติดกับบังกลาเทศยาว 271 กิโลเมตร แม้จะเป็นพรมแดนที่สั้น เมื่อเทียบกับเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าที่ยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร แต่บังกลาเทศก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพม่า โดยเฉพาะในทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะบังกลาเทศมีชายแดนทางตอนเหนือใกล้กับเนปาล ภูฏาน และอินเดีย และทั้งสองประเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งอ่าวเบงกอล หรือ The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC)
เรียกได้ว่าบังกลาเทศเป็นตัวเชื่อมระหว่างอาเซียนทั้งภูมิภาคกับเอเชียใต้ทั้งหมด และที่ผ่านมาบังกลาเทศก็พยายามเข้าหาพม่า อาเซียน และจีนมากขึ้น เพราะต้องการลดการพึ่งพาอินเดียลง เรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับบังกลาเทศเรียบง่าย ไม่หวือหวา ในส่วนของพม่า ต้องยอมรับว่าพม่าไม่ได้มองว่าบังกลาเทศมีความสำคัญสำหรับตนมากนัก ด้วยบังกลาเทศเป็นเพียงประเทศที่มีขนาดเล็ก เป็นประเทศกำลังพัฒนา และไม่ได้มีทรัพยากรที่พม่าต้องการเป็นพิเศษ และที่สำคัญเป็นประเทศของคน “เบงกาลี” (Bengali) ที่ถูกมองโดยสังคมพม่าพุทธว่าเป็นทั้งคนต่างชาติต่างศาสนา และยังเป็นแหล่งส่งออกประชากรชาวโรฮีนจา (คนพม่าจำนวนมากยังเรียกชาวโรฮีนจาว่า “เบงกาลี” เพราะเชื่อว่าเป็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศ ไม่ใช่ประชากรที่อยู่ในรัฐยะไข่มาแต่เดิม) ทำให้ทัศนคติของพม่าที่มีต่อบังกลาเทศไม่ค่อยดีนัก
ในวันที่ 4 กันยายน รัฐบาลบังกลาเทศเรียก อ่อง จ่อ โม (Aung Kyaw Moe) เอกอัครทูตพม่าประจำกรุงดาการ์ ไปตำหนิ เนื่องจากมีกระสุนปืนครกตกเข้าไปในเขตบังกลาเทศ และยังมีเครื่องบินรบของกองทัพอากาศพม่าที่ละเมิดน่านฟ้าของบังกลาเทศ ในการหารือระหว่างเอกอัครทูตพม่ากับตัวแทนของกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศ ซึ่งตามรายงานข่าวคือผู้อำนวยการฝ่ายพม่า (Director of Myanmar Wing)
การเรียกตัวแทนของพม่าเข้าไปตำหนิถึงกระทรวงต่างประเทศในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบ 15 วัน (ครั้งแรกในวันที่ 21 สิงหาคม และครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 สิงหาคม) รัฐบาลบังกลาเทศแจ้งกับเอกอัครทูตพม่าว่าตนมีความกังวลอย่างที่สุดที่การสู้รบในรัฐยะไข่ฝั่งพม่าก่อให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนในฝั่งบังกลาเทศ และยังเกิดกรณีที่พม่าละเมิดบูรณภาพทางดินแดนของบังกลาเทศบ่อยครั้ง รัฐบาลบังกลาเทศยังแจ้งอีกว่าการกระทำของพม่ามีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างบังกลาเทศกับพม่าโดยตรง
การสู้รบในรัฐยะไข่สะเทือนไปถึงดาการ์ ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม กองทัพพม่าปูพรมโจมตีกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) อย่างหนัก โดยกระหน่ำยิงกองกำลังของ AA จากเฮลิคอปเตอร์ เป็นเหตุให้มีกระสุนและสะเก็ดระเบิดบางส่วนที่เข้าไปตกในเขตของบังกลาเทศ ความตึงเครียดจากกรณีการละเมิดน่านฟ้าของบังกลาเทศเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017-2018 เมื่อกองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีหมู่บ้านชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ตอนเหนือ เป็นเหตุให้ชาวโรฮีนจานับล้านคนต้องหนีตายเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ และเฮลิคอปเตอร์ของพม่าก็บินวนอยู่ในเขตรอยต่อทั้งสองประเทศ เชื่อกันว่าเพื่อข่มขู่ชาวโรฮีนจาและเพื่อสำรวจว่าชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ได้หนีเข้าไปในเขตบังกลาเทศแล้ว ในครั้งนั้น รัฐบาลบังกลาเทศก็ใช้วิธีทางการทูตประท้วงพม่าเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีแถลงการณ์ขอโทษบังกลาเทศออกมาจากรัฐบาลพม่า ที่ในขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารงานของพรรค NLD แต่อย่างใด
จนถึงปัจจุบัน ยังประเมินไม่ได้ว่ารัฐบาลบังกลาเทศมองว่าสถานการณ์นี้รุนแรงขนาดไหน แต่ที่แน่นอนที่สุดคือบังกลาเทศแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจที่พม่ารุกร้ำเข้าไปในดินแดนของตน แม้จะเป็นเวลาเพียงเสี้ยวนาที ต่างจากไทยที่แม้จะเจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน แต่รัฐบาลไทยไม่เคยเรียกทูตของพม่าเข้ามาตำหนิแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนหนึ่ง เราก็อาจตีความได้ว่าไทยพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพพม่าไว้ เพราะประเมินว่ากองทัพและคณะรัฐประหารจะอยู่ในอำนาจอีกนาน ในสายตาของรัฐบาลไทย ไทยจะทำเป็นก้าวร้าวหรือประณามการกระทำของพม่าอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้ จำเป็นต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน เพราะสถานการณ์ในพม่าล้วนมีผลกระทบกับไทยทั้งสิ้น แต่ผู้เขียนกลับมองว่ารัฐบาลไทยควรมีท่าทีกับพม่าที่แข็งกร้าวกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็ดูตัวอย่างที่บังกลาเทศทำ การเรียกทูตพม่าเข้ามาตำหนิ ไม่ได้เป็นการตัดความสัมพันธ์ทางทูต แต่เป็นการกระทำตามกระบวนการที่ทุกประเทศพึงทำเมื่อถูกรุกล้ำอำนาจอธิปไตย
ด้วยการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับ AA ที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ โอกาสที่การสู้รบตามแนวชายแดนพม่า-บังกลาเทศจะสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้คงเป็นเรื่องยาก ในปัจจุบัน ชาวบ้านทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ในเมืองโบราณมรัค-อู (Mrauk-U) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสู้รบ มี 6 หมู่บ้านที่ประชาชนต้องหนีตายและอพยพออกจากพื้นที่ เพราะกองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่าปูพรมทิ้งระเบิดเพื่อหวังเผด็จศึก AA
เมื่อกล่าวถึงรัฐยะไข่ทางตอนเหนือ และความตึงเครียดระหว่างพม่ากับบังกลาเทศที่เพิ่มมากขึ้น อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึงคือกระบวนการนำชาวโรฮีนจากลับเข้าไปในพม่า ปัจจุบันมีชาวโรฮีนจาเกือบล้านคน ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ ที่ปัจจุบันมีอยู่หลายสิบแห่งเฉพาะในเมืองค๊อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazaar) เพียงแห่งเดียว ที่ผ่านมาคณะรัฐประหารพม่าไม่เคยให้ความร่วมมือในกระบวนการนำผู้อพยพโรฮีนจากลับสู่ถิ่นฐานเดิมในรัฐยะไข่ตอนเหนือ มีเพียงรัฐบาลคู่ขนาน NUG ที่พยายามพูดคุยกับแอ๊กทิวิสต์โรฮีนจา และยังแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเมืองชาวโรฮีนจาอีกคนหนึ่งประจำ NUG ด้วย
การแก้ไขปัญหาโรฮีนจาไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลคณะรัฐประหาร แม้ในปัจจุบันจะมี NGO และองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพเหล่านี้ก็ไม่ได้ดีขึ้น มีเพียงหนทางเดียวที่ปัญหาว่าด้วยโรฮีนจาจะจบลง คือพวกเขาต้องกลับไปตั้งรกรากในรัฐยะไข่เท่านั้น ผู้เขียนมองว่ามีเพียงกองทัพและคณะรัฐประหารพม่าเท่านั้นที่จะเป็นคนให้ไฟเขียว ว่าจะยินยอมให้ชาวโรฮีนจากลับไปพม่าหรือไม่ อย่างไร และเมื่อไหร่
แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงในพม่าที่รุนแรงในแทบจะทุกพื้นที่ กองทัพคงจะไม่ยอมให้ความร่วมมือเพื่อนำชาวโรฮีนจากลับรัฐยะไข่อย่างแน่นอน ในความเป็นจริง รัฐบาลบังกลาเทศ (เช่นเดียวกับอาเซียน) ก็คงเบื่อหน่ายพม่าเต็มที ที่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้อะไรจากการเจรจากับกองทัพและคณะรัฐประหารพม่า
ที่มา คอลัมน์ : ไทยพบพม่า
ผู้เขียน ลลิตา หาญวงษ์
——————————————————————————————————————————-
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 ก.ย.65
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_3549801