ผู้ผลิตชิปเซตชั้นนำของโลกทั้งอินวิเดียและเอเอ็มดี กล่าวถึงการจำกัดการขายชิปเซตที่มีความสลับซับซ้อนให้กับรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ
ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับการขายชิปเซตที่มีความสลับซับซ้อนทางเทคโนโลยีบางรุ่นให้กับรัสเซียและจีน
คำสั่งบริหารของปธน.ไบเดน ส่งผลให้ชิปเซตกราฟิกระดับไฮเอนด์ ที่ผลิตและจำหน่ายโดยเอเอ็มดี (AMD) และอินวิเดีย (Nvidia) จะไม่ถูกปล่อยไปยังคู่ขัดแย้งทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยง่าย ผู้ขายจำเป็นต้องขอใบอนุญาตส่งออกสำหรับการขายชิปเซต ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีความตั้งใจที่จะให้ชิปเซตระดับสูงเหล่านี้ ไม่ถูกนำไปใช้ทางการทหารของประเทศรัสเซีย และจีน
ในอดีตผลิตภัณฑ์ในส่วนชิปเซตกราฟิกระดับไฮเอนด์ มักถูกนำไปใช้สำหรับการพัฒนาวิดีโอเกม เพื่อให้ภาพที่ได้มีความสมจริงมากที่สุด แต่ในช่วง 10 ปีหลังสุด ชิปเซตกราฟิกระดับสูงหลายรุ่น ได้ถูกนำไปใช้กับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ และการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
ในเวลาเดียวกัน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในหลายประเทศก็ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาอาวุธทางการทหาร หรือในประเทศจีน ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สอดส่องพลเมืองของตัวเอง ด้วยการระบุใบหน้าในภาพวิดีโอ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ อินวิเดีย มีลูกค้าจำนวนมากทั้งในประเทศจีน และรัสเซีย แต่จากการที่ รัสเซีย เข้าบุกรุกยูเครน จึงทำให้อินวิเดีย ไม่ได้ขายชิปเซตให้กับรัสเซียอีกแล้ว ซึ่งส่งผลให้อินวิเดียสูญเสียรายได้ราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสล่าสุด
ทางด้านเอเอ็มดี ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวของฝ่ายบริหารประธานาธิบดี น่าจะส่งผลยอดขายชิปเซตกราฟิกระดับสูงในรัสเซียและจีนอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท
จากมาตรการนี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ของอินวิเดียในตอนนี้จะได้รับผลกระทบ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีแผนวางจำหน่ายช่วงปลายปีนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
จากประเด็นข้างต้น ส่งผลให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของการพยายามครอบงำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม การจำกัดการเข้าถึงชิปเซตกราฟิกระดับสูงจากมือของรัสเซียและจีน อาจเป็นมาตรการขั้นต้นเท่านั้น เพราะมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ อาจวางแผนเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทสัญชาติจีน เข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูงและมีความสลับซับซ้อนนี้ ผ่านการซื้อกิจการ
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ถูกส่งไปยังประเทศจีน โดยอ้างว่า เป็นห่วงโซ่อุปทานของพลเรือน แต่ในท้ายที่สุดก็ถูกนำไปใช้ทางการทหาร เช่น อาวุธ, อากาศยาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง เป็นต้น
ที่มา : NYTimes
—————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 ก.ย.65
Link : https://www.thairath.co.th/news/tech/2489526