โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นย่านอิแทวอน แหล่งท่องเที่ยวยามราตรีชื่อดังใจกลางกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ในค่ำคืนวันเสาร์ (29 ต.ค.) หลังจากที่คนนับหมื่นไปรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองวันฮาโลวีน จนเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเสียด มีคนเป็นลมล้มพับทับกันจนขาดอากาศหายใจ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 153 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 82 ราย ทำให้บรรยากาศความสุขในเวลาแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปีกลายมาเป็นความเศร้าสลดไปทั่วโลก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิแทวอน เป็นโศกนาฏกรรมเหยียบกันตายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลักร้อยคนเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาแค่ 1 เดือน หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นที่สนามฟุตบอลในอินโดนีเซีย หลังจากที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนที่ก่อจลาจลหลังจบเกมการแข่งขัน ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมในสนามพากันแตกฮือหนีเอาตัวรอดจนเกิดการชุลมุน เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 120 ราย
โศกนาฏกรรมใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและเกิดขึ้นในแบบที่เรียกว่าแทบจะไล่เลี่ยกัน ในช่วงเวลาที่โลกเพิ่งจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังทุกอย่างแทบจะหยุดชะงักไปนานกว่า 2 ปีจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความอัดอั้นของผู้คนที่ต้องการความสุขความบันเทิงหลังจากห่างหายมาเป็นเวลานาน และดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวไปอีกต่อไป
หากวันใดวันหนึ่งต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร workpointTODAY จะพาไปเข้าใจสาเหตุ และวิธีการเอาตัวรอดถ้าต้องเจอกับสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้
คนตายเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ใช่ถูกเหยียบ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สาเหตุที่คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘เหยียบกันตาย’ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Stampede ไม่ได้เกิดจากการเหยียบกันด้วยเท้า แต่คือการขาดอากาศหายใจ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขณะที่เกิดสถานการณ์แตกตื่นบางอย่างในบริเวณที่มีคนรวมตัวกันอยู่หนาแน่น ทำให้ต่างคนต่างพยายามหนีเอาตัวรอด หรือในบางกรณีเกิดในบริเวณที่เป็นพื้นที่แคบ มีลักษณะเป็นคอขวด แต่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก
โดยเฟซบุ๊ก ‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจชื่อดังที่มักให้ความรู้ด้านการแพทย์อธิบายถึงสาเหตุการเสียชีวิตในเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า ถึงแม้ในบริเวณนั้นเป็นพื้นที่โล่งมีอากาศไหลผ่าน แต่เมื่อมีคนจำนวนมากรวมตัว ยืนหรือเดินอยู่ชิดๆ กัน มีระยะห่างระหว่างตัวคนแต่ละคนน้อยมาก ทำให้เกิดภาวะทรวงอกขยายไม่ได้ หรือที่ภาษาแพทย์เรียกว่า Compression Asphyxia ซึ่งก็คือการถูกกดทับจากภายนอกจนทำให้ขาดอากาศหายใจ เมื่อหน้าอกขยายไม่ได้ก็เท่ากับว่าหายใจเข้าไม่ได้ คนก็จะหมดสติ และหากขาดอากาศนานเกิน 3-5 นาที อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
นี่เป็นคำอธิบายที่สอดคล้องกับรายงานข่าวเหตุการณ์ในอิแทวอนเมื่อวันเสาร์ (29 ต.ค.) ที่มีการอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงว่า พวกเขาได้รับโทรศัพท์แจ้งจากประชาชนในอิแทวอนหลายสิบสายว่า มีผู้ป่วยหมดสติ หายใจลำบากจำนวนมาก ในขณะที่ผู้คนไปรวมตัวกันเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานเทศกาลฮาโลวีนในบริเวณดังกล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้นในอิแทวอน คืนฉลองฮาโลวีน
จากคำบอกเล่าของพยาน สถานการณ์ในอิแทวอนขณะเกิดเหตุ มีคนจำนวนมากมารวมตัวกันอย่างแออัดในจุดเกิดเหตุ ชนิดที่ว่ายืนเบียดกำแพงทั้งสองข้าง ตรงนี้หากจะให้เห็นภาพ เพจเฟซบุ๊กสายเกาหลีชื่อดังอย่าง ‘อาจุมม่าบ้าเกาหลี’ ได้อธิบายภาพสถานที่เกิดเหตุไว้ว่า โศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้นในซอยเล็ก ๆ ข้างโรงแรมแฮมิลตัน (Hamilton) ในย่านอิแทวอน ซอยดังกล่าวมีความยาว 40 เมตร และกว้างแค่ 4 เมตร เล็กแบบที่คน 4-5 คนเดินก็แทบจะชนกัน
ย่านอิแทวอนโดยปกติเป็นสถานที่ที่โด่งดังที่สุดในการจัดงานฮาโลวีนอยู่แล้ว และปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดงานแบบไร้ข้อบังคับเรื่องโควิดจึงมีประชาชนจำนวนมากพากันมาเฉลิมฉลอง ซึ่งซอยที่เกิดเหตุเป็นซอยที่อยู่หน้าสถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกเดินเข้ามาในซอยนี้ก่อน เพราะใกล้และเป็นเส้นทางไปร้านดัง ๆ หลายร้าน ประกอบกับพื้นทางเดินในซอยมีลักษณะเป็นทางลาด เมื่อคนเข้ามาแออัดกันเยอะขึ้น ๆ ในซอยแคบ ๆ จึงเกิดการเบียดเสียดกันขึ้น พอเริ่มมีการล้มลงจากด้านบน ทำให้ฝูงชนล้มลงเป็นโดมิโนทับกัน
จี. คีธ สติลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยฝูงชนจากมหาวิทยาลัยซัฟฟอล์กของอังกฤษบอกกับเดอะวอชิงตันโพสต์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นในอิแทวอนอาจเรียกได้ว่าคือ ‘การเบียดกันตาย’ หรือที่ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า crowd crush หรือ surge แต่ไม่ใช่ ‘การเหยียบกันตาย’ (stampede) เพราะ stampede จะเกิดในพื้นที่ที่ให้คนสามารถวิ่งหนีได้ แต่ crowd crush เป็นกรณีที่คนถูกบีบอัดรวมกันไว้ในพื้นที่จำกัดและมีการผลักดันกันไปมาจนทำให้มีผู้ล้มลง ก่อนจะล้มทับ ๆ กันเป็นโดมิโน
สติลล์เคยอธิบายเรื่องนี้กับสื่ออเมริกัน NPR ว่า ในขณะที่ผู้คนล้มลงและพยายามลุกขึ้น แขนและขาของพวกเขาจะถูกแรงบีบให้บิดเข้าหากัน ทำให้เลือดถูกส่งไปเลี้ยงสมองในปริมาณที่ลดลง หลังจากนั้น 30 วินาที ผู้ประสบเหตุจะหมดสติ และจะเข้าสู่ภาวะขาดอากาศหายใจในเวลาประมาณ 6 นาที ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต
หากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ จะเอาตัวรอดอย่างไร?
พอล เวอร์ไธเมอร์ (Paul Wertheimer) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยฝูงชนอีกท่านหนึ่งแนะนำว่า
– อันดับแรก เมื่อเข้าไปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่มีคนรวมกันอยู่จำนวนมากควรสังเกตทางเข้าออกของสถานที่นั้นๆ รวมถึงช่องทางอื่นๆ ที่อาจใช้เป็นทางออกได้ เช่น ทางออกฉุกเฉิน หรือทางเดินที่แยกออกจากทางเดินหลักซึ่งสามารถเดินทะลุไปยังเส้นทางอื่นได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเกิดเหตุคับขัน คนส่วนใหญ่จะพากันเดินกลับไปยังทางเข้าที่พวกเขาเดินเข้ามา การใช้เส้นทางเลี่ยงอาจช่วยให้สามารถออกจากที่เกิดเหตุให้ง่ายและเร็วกว่า
– ประเมินสถานการณ์ตรงหน้าว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิด crowd crush หรือไม่ หากสัมผัสได้ถึงความเสี่ยง เริ่มมีความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หายใจไม่สะดวก พยายามมองหาที่โล่ง และออกจากจุดที่เบียดเสียดให้เร็วที่สุด
– จุดนี้มักเป็นจุดพลาด เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อเริ่มมีความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว มักจะดันทุรังอยู่ในสถานที่นั้นต่อเพราะไม่อยากพลาดกิจกรรมหรือสิ่งที่พวกเขาสนใจ เมื่อรู้ตัวอีกทีกลายเป็นว่าต้องติดอยู่ในฝูงชนไม่สามารถออกได้ ซึ่งนั่นเป็นการตัดสินพลาดที่จะนำไปสู่เหตุการณ์อันน่าเศร้าในที่สุด
– หากติดอยู่ในฝูงชนไม่สามารถออกไปได้ ให้พยายามรักษาสมดุลของร่างกายเอาไว้ไม่ให้ล้มลง เพราะถ้าพลาดล้มลงไปแล้วโอกาสที่จะลุกขึ้นมายากมาก หากจำเป็นต้องเคลื่อนที่ให้เคลื่อนไปตามคลื่นฝูงชน อย่าพยายามต้านหรือเดินสวน
– ใช้วิธีการแบบหีบเพลง คือเลี่ยงการไหลตามฝูงชนไปในแนวตรง เพราะเสี่ยงที่จะถูกดันมากขึ้นจนหกล้ม แต่ให้ค่อยๆ ขยับเป็นแนวเส้นทแยงมุม หาจังหวะค่อยๆ แทรกตัวออกมาจากกึ่งกลางคลื่นฝูงชน
– ยกแขนขึ้นในลักษณะตั้งการ์ดระดับอกโดยเว้นระยะห่างเล็กน้อย เพื่อป้องกันอวัยวะภายในถูกบีบอัดหรือกดทับ และเว้นพื้นที่ให้ทรวงอกได้มีพื้นที่ขยายตัวสำหรับหายใจได้ พยายามควบคุมการหายใจให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด แม้วิธีการนี้จะสามารถช่วยให้คุณหายใจได้สะดวกเต็มที่ แต่ก็ยังพอที่จะถ่วงเวลาเพื่อที่จะเอาชีวิตรอดออกมาได้
– สำคัญคือต้องระวังอย่าปล่อยให้ตัวเองไหลไปติดแนวกำแพง ผนัง หรือรั้ว เพราะจะกลายเป็นทางตันที่คุณไม่สามารถไปต่อได้ และจะถูกคลื่นฝูงชนบีบอัดด้วยแรงมหาศาลจนหายใจไม่ออก
– อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก แออัด และคับแคบ เพื่อเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าสลด คือวิธีการที่ดีที่สุด
ที่มา
https://www.washingtonpost.com/world/2022/10/29/seoul-halloween-crowd-crush-surge/
https://www.worldnomads.com/travel-safety/worldwide/how-to-survive-a-stampede
————————————————————————————————————
ที่มา : workpointTODAY / วันที่เผยแพร่ 31 ต.ค.65
Link : https://workpointtoday.com/how-to-survive-a-stampede-crowd-crush/