ประเมินขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือมีอยู่น่ากลัวแค่ไหน? ท่ามกลางรายงานว่าขีปนาวุธข้ามทวีปฮวาซอง-17 สามารถยิงได้ไกลเกือบครึ่งโลก
ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จัดการซ้อมรบร่วมกัน โดยอ้างว่าเพื่อฝึกปรือการป้องกันประเทศ ขณะที่เกาหลีเหนือกลับมองว่า นี่คือความพยายามในการเตรียมตัวรุกรานเกาหลีเหนือ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2022 เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่นตอนเหนือ บริเวณเกาะฮอกไกโดและจังหวัดอาโอโมริ ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้หลบอยู่ในที่ปลอดภัย
นักวิเคราะห์ประเมินว่า การยิงขีปนาวุธครั้งล่าสุดนี้ อาจเป็นแค่จุดตั้งต้นในการทดสอบขีปนาวุธที่ใหญ่กว่านี้ และอาจเป็นการประกาศการยั่วยุที่รุนแรงขึ้นของเกาหลีเหนือ
ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือภายใต้การปกครองของ คิม จองอึน มีการพัฒนาศักยภาพทางทหารอย่างต่อเนื่อง ในระดับที่เรียกได้ว่า ทุ่มกำลังและงบประมาณส่วนใหญ่ของประเทศไปกับการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ จนโครงสร้างด้านอื่น ๆ เช่น สาธารณสุข ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ประเมินว่า การพัฒนาประเทศอย่างไม่สมดุลเช่นนี้เพื่อแลกกับอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง เกาหลีเหนือลงทุนอย่างมากในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อยับยั้งภัยคุกคามจากภายนอกต่อระบอบการปกครองของตระกูลคิม
ในช่วงแรก เกาหลีเหนือเน้นการพัฒนาระบบขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM) และระยะกลาง (MRBM) จากนั้นก็ก้าวไปสู่ขีปนาวุธพิสัยไกล (IRBM) จนท้ายที่สุดก็มุ่งพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามในทางสากล
เกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปตัวแรก คือ ฮวาซอง-14 (Hwasong-14) เป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. 2017 ตามมาด้วยการทดสอบฮวาซอง-15 ในเดือน พ.ย. 2017
จากข้อมูลของ CSIS เกาหลีเหนือขณะนี้มีระบบอาวุธอยู่ 8 ประเภท ประกอบด้วย
– กองปืนใหญ่
– ระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ (ASCM)
– ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ (SAM)
– ระบบขีปนาวุธเรือดำน้ำ (SLBM)
– ระบบขีปนาวุธหลายลำกล้อง (MLRS)
– ระบบขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM) ระยะยิง 300-1,000 กม.
– ระบบขีปนาวุธพิสัยกลาง (MRBM) ระยะยิง 1,000-3,500 กม.
– ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล (IRBM) ระยะยิง 3,500-5,500 กม.
– ระบบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ระยะยิงมากกว่า 5,500 กม.
ซึ่งในแต่ละประเภทก็อาจจจะมีอยู่หลายตัว โดยปัจจุบัน มี 14 ตัวอยู่ในสถานะ “พร้อมปฏิบัติการ” และมีอยู่ 7 ตัวที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
14 ตัวที่พร้อมปฏิบัติการ เช่น
– ปืนใหญ่ Koksan M1978 ระยะยิง 40-60 กม.
– ขีปนาวุธพิสัยใกล้ Hwasong-6 ระยะยิง 500 กม.
– ขีปนาวุธพิสัยกลาง Pukguksong-2 ระยะยิง 1,200-2,000 กม.
– ขีปนาวุธข้ามทวีป Hwasong-14 ระยะยิง 10,400 กม.
7 ตัวที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น
– ขีปนาวุธระยะไกล Hwasong-12 ระยะยิง 4,500 กม.
– ขีปนาวุธข้ามทวีป Hwasong-15 ระยะยิง 8,500-13,000 กม.
โดยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่มีระยะยิงมากกว่า 10,000 กม. เป็นต้นไป สามารถเล็งเป้ายิงไปยังนิวยอร์กหรือวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ ได้
แต่หากคิดว่านั่นน่ากลัวแล้ว นี่ยังไม่ใช่ที่สุด เพราะเกาหลีเหนือยังมีขีปนาวุธข้ามทวีป Hwasong-17 ที่เกาหลีเหนือเผยโฉมให้เห็นครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2020 ไม่มีรายงานชัดเจนว่า ขณะนี้สถานะของมันอยู่ในขั้นตอนใด แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า มัน
มีระยะยิงที่ไกลมากกว่า 15,000 กม. ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งไม่ว่าจะต่อประเทศใดก็ตาม เพราะมันสามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปยังที่ใดก็ได้ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ Hwasong-17 สามารถบรรทุกหัวรบได้ 3-4 หัว แทนที่จะเป็นหัวรบเดียว ทำให้ยากสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่จะปกป้องตนเอง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเปิดเผยขีปนาวุธใหม่นี้ดูเหมือนจะเป็นข้อความที่ส่งถึงสหรัฐฯ ถึงความสามารถทางทหารที่เพิ่มขึ้นของเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ ในปีนี้ เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธไปแล้วมากกว่า 20 ครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือยิงข้ามญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็น Hwasong-12 ซึ่งมีระยะยิง 4,500 กม. ยังไม่ใช่ขีปนาวุธข้ามทวีปที่ฤทธิ์เดชน่ากลัวกว่า
อย่างไรก็ตาม นี่คือการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารที่น่าพรั่นพรึงของเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีขณะนี้ตึงเครียดอย่างยิ่ง และหลายฝ่ายกังวลว่า หากความขัดแย้งบานปลาย เกาหลีเหนืออาจใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปเหล่านี้ในการโจมตีประเทศอื่น
เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สภาเกาหลีเหนือได้เห็นชอบผ่านกฎหมายที่ระบุสถานะของประเทศเกาหลีเหนือให้เป็น “รัฐติดอาวุธนิวเคลียร์” อย่างเป็นทางการ
คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กล่าวว่า ประเทศของเขาจะไม่มีวันละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่จำเป็นต่อการต่อต้านการคุกคามจากสหรัฐฯ ซึ่งเขาบอกว่า ขณะนี้กำลังพยายามกดดันและมุ่งเป้าลดการป้องกันของเกาหลีเหนือ และทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือล่มสลาย
กฎหมายฉบับใหม่นี้ ยังอนุญาตให้ “ทหารเกาหลีเหนือสามารถโจมตีศัตรูด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ทุกเมื่อหากถูกโจมตี” เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองโดยชอบธรรม
สถานะการเป็นรัฐติดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นการประกาศชัดว่า เกาหลีเหนือจะไม่มีวันยอมเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เรียกร้องมาโดยตลอด
เรียบเรียงจาก BBC / CSIS
ภาพจาก AFP
————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTVHD36 / วันที่เผยแพร่ 4 ต.ค. 2565
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/181865