ภาพที่แสดงคนงานกำลังกำจัดก๊าซพิษที่โรงงานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นบนเกาะโอคุโนะชิมะ ฮิโรชิมา ทางตะวันตกของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1946 (ภาพเกียวโด)
เกียวโดนิวส์ (2 ก.ย.) – เมื่อเร็วๆ นี้ ญี่ปุ่นและจีนได้ฉลองครบรอบ 50 ปีของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ร่องรอยของอาวุธก๊าซพิษประมาณ 7.46 ล้านชิ้น ที่ผลิตขึ้นระหว่างสงครามระหว่างปี 1937 ถึง 1945 ยังคงอยู่ทิ้งแผลเป็นในผู้คนทั้ง 2 ประเทศ
อาวุธบางชิ้นที่ถูกทิ้ง หรือกำจัดทิ้งเมื่อสิ้นสุดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่
“ผมป่วยเพราะน้ำปนเปื้อน ผมอยากตาย” ริวจิ โอทสึกะ อายุ 21 ปี ชาวคามิสึซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันออกราว 100 กิโลเมตร กรีดร้องขณะถือมีด เดินไปมาในบ้านเมื่อเดือนกันยายน 2564
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรีบรุดมาถึงบ้านหลังจากได้รับโทรศัพท์จากมิยูกิ แม่ของริวจิ
คุณแม่วัย 45 ปี รายนี้กล่าวว่า อาการคลุ้มดีร้ายนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากสภาพความเป็นจริงที่เขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ริวจิ โอทสึกะ เกิดในเดือนกันยายน 2001 ครอบครัวพ่อแม่ลูก 3 คน (ชินอิจิ – มิยูกิ และริวจิ) ย้ายไปอยู่บ้านเช่าในเขตคิซากิ ในจังหวัดอิบารากิ
ทันทีหลังจากย้ายไปบ้านใหม่ ประมาณ 30 นาทีโดยรถยนต์จากสนามฟุตบอลคาชิมะ ครอบครัวเริ่มตรวจพบความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย
สารพิษปนเปื้อนในบ่อน้ำบาดาล
ในเดือนมีนาคม 2003 ริวจิ กับมิยูกิ รวมทั้งชินอิจิ ตรวจพบสารหนูสูงกว่าระดับที่ยอมรับได้ 450 เท่าในน้ำบาดาลที่พวกเขาดื่มทุกวัน
เมื่อวิเคราะห์ภายหลังพบว่า สารดังกล่าวเป็นกรดไดฟีนิลลาซินิก ซึ่งไม่มีอยู่ในธรรมชาติ
คณะกรรมการประสานงานข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม ได้วินิจฉัยว่า สารที่อาจทำให้อาเจียนซึ่งปนเปื้อนในน้ำบาดาลนี้ ต้องมาจากอาวุธก๊าซพิษของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการผลิตสารดังกล่าวอีก
จากการสำรวจในพื้นที่โดยรอบ ประชาชนบ่นเรื่องสุขภาพที่แย่ลงตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เนื่องจากสารพิษนี้ไม่ได้เปลี่ยนรสชาติหรือกลิ่นของน้ำในบ่อ การสอบสวนในเวลานั้นจึงไม่คืบหน้าเร็วเท่าที่ควร ส่งผลให้ประชาชนประมาณ 150 คนในและรอบย่านที่พักอาศัยได้รับผลกระทบ
สารนี้ถูกฝังใต้หลุมปูนคอนกรีตบริเวณที่รกร้างห่างจากบ้านของ อาโอสึกะ ประมาณ 90 เมตร และอาจรั่วไหลลงสู่น้ำบาดาลและเข้าไปในบ่อน้ำ
ริวจิ โอทสึกะ เคยพูดตอนที่เขายังเด็ก ว่าเขาอาจจะเดินไม่ได้อีกหลังจากที่เขาเกิด เขาดื่มนมที่เจือจางด้วยน้ำจากบ่อ แล้วมีอาการชักอย่างรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่ออายุได้ 6 เดือน แพทย์เชื่อว่าโอกาสที่เขาจะเดินได้นั้นน้อยยิ่งและเป็นไปด้วยความยากลำบาก
หลังจากพบสาเหตุของอาการป่วย ครอบครัวหยุดใช้น้ำจากบ่อบาดาลทันที แม้เขาจะกลับมาสามารถเดินได้ แต่พบความทุพพลภาพอย่างร้ายแรงอื่นๆ ในเวลาต่อมา
ในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ริวจิ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่นสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการการดูแลพิเศษ ภายหลังตรวจพบว่าเขาเป็นโรคกระดูกสันหลังคด ความโค้งผิดปกติของกระดูกสันหลัง และใบหน้าอัมพาตทำให้เขาไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อปากรับประทานอาหารได้
ตอนนั้นเองที่เขาหยิบมีดขึ้นมาแล้วร้องว่า “อยากตาย”
มิยูกิ โอทสึกะ กล่าวว่า “เขาพังประตูม่านที่ชั้น 2 แล้วกระโดดลงจากระเบียง” “ฉันเองก็เคยคิดที่จะฆ่าตัวตายในทะเลนอกเมืองคาชิมะหลายครั้ง”
ในเดือนตุลาคม 2021 ริวจิ โอทสึกะได้รับการผ่าตัดเสริมกระดูกสันหลังด้วยอุปกรณ์พิเศษและอาการของเขาดีขึ้น แต่เขายังมีอาการตื่นตระหนกที่ไม่สามารถควบคุมได้
มิยูกิ กล่าวว่า “ถ้าไม่มีสงคราม ชีวิตเราก็คงไม่ต้องพบเจอเรื่องเลวร้ายนี้”
ด้าน มาซาโตะ ยูคุทาเกะ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล่าวเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วว่า “ก๊าซพิษที่ฝังกลบในเขตคามิสุ อาจมาจากเกาะโอคุโนะชิมะ”
“เกาะก๊าซพิษ”
ฐานผลิตอาวุธเคมี กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลเซโตะ ทาเคฮาระ เมืองฮิโรชิมา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่รู้จักกันว่าเป็นพื้นที่ของฝูงกระต่ายป่าหลายร้อยตัว แต่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “เกาะก๊าซพิษ” ซึ่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น แอบใช้เป็นฐานผลิตอาวุธเคมี ในปี ค.ศ.1930 จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม
ญี่ปุ่น ลักลอบเปิดโรงงานลับที่เกาะโอคุโนะชิมะ หลังจากกฎหมายระหว่างประเทศในปี ค.ศ.1925 ได้ห้ามการใช้อาวุธก๊าซพิษ ความพ่ายแพ้ในสงครามของญี่ปุ่นในปี 1945 นายทหารระดับสูงของกองทัพที่เกรงกลัวต่อข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงคราม ต่างปิดปากเงียบและเผาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังก๊าซพิษทั้งหมด
ประวัติศาสตร์ของเกาะนี้ก็เกือบถูกฝังกลบไปด้วย แต่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เอกสารความลับนี้ก็ถูกเปิดเผย
มีการคาดว่ามีการผลิตอาวุธก๊าซพิษ 2.66 ล้านชิ้นที่ใช้กรดไดฟีนิลลาซินิกขึ้นบนเกาะ และคนงานในโรงงานโอคุโนะชิมะ ประมาณ 6,800 คนต้องป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และเงื่อนไขอื่นๆ
บันทึกคำบอกเล่าของนายแพทย์
ยูคุทาเกะ ซึ่งเสียชีวิตในปี 2009 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทาดาโนมิและเป็นผู้ตรวจสุขภาพคนงานราว 4,000 คน เขาเคยเล่าว่า ในอดีตทางเดินในโรงพยาบาลนั้นเต็มไปด้วยคนงานเก่าที่มีผิวคล้ำดำไหม้ และไออย่างรุนแรง
โนริโกะ ลูกสาวคนโตของยูคุทาเกะ ซึ่งอาศัยอยู่ในมิฮาระ กล่าวว่า “เมื่อเห็นคนงานโรงงาน พ่อของฉันเคยเขียนบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพความป่วยไข้ของพวกเขาในเวชระเบียน”
เหตุใดสารเคมีจึงถูกฝังในคามิสุ ยังไม่เป็นที่ชัดแจ้งจากการสอบสวนของรัฐบาล บางคนเชื่อว่าในช่วงหลายปีที่วุ่นวายหลังสงคราม สารนี้ถูกขายและถูกส่งมาที่เมืองในที่สุด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกองทัพยังคงนิ่งเงียบ แพทย์ผู้ล่วงลับได้รวบรวมบันทึกของเขาจากเวชระเบียนลงในหนังสือบันทึกแพทย์
ลูกสาวซึ่งช่วยพ่อของเธอแก้ไขเรียบเรียงบันทึกเล่มนี้ กล่าวว่า “งานของเขาในการดูแลผู้ป่วยจากก๊าซพิษ กระตุ้นให้เขาเดินทางไปอิหร่านเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ แก่เหยื่อการโจมตีด้วยอาวุธเคมีของกองทัพอิรักในช่วงสงครามระหว่างประเทศต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 1980”
“เราต้องทำลายห่วงโซ่แห่งการทำลายล้างนี้” เธอกล่าว
มิยูกิ โอทสึกะ (ซ้าย) และริวจิ ลูกชายของเธอยืนอยู่บนที่ดินที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่ในคามิสึ อิบารากิ ทางตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2022 (ภาพเกียวโต)
โนริโกะ ลูกสาวคนโตของหมอมาซาโตะ ยูกุทาเกะ ยืนอยู่หน้าแผงภาพถ่ายของเขาที่บ้านของเธอในมิฮาระ ฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2022 (ภาพเกียวโด)
ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1997 แสดงให้เห็นเกาะโอคุโนะชิมะ ฮิโรชิมา (ภาพเกียวโด)
———————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ต.ค.65
Link : https://mgronline.com/japan/detail/9650000094798