26 ปีก่อน ประเทศไทยได้ใช้งานคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ Super Computer รุ่นแรก ๆ ภายใต้หน่วยงานวิจัยระดับประเทศอย่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยการนำของ ดร.รอยล จิตรดอน นักซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นแรกของประเทศไทย ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดหน่วยปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงขึ้น เพื่อรวมกลุ่มและสนับสนุนคนใช้งานด้าน “วิทยาการเชิงคอมพิวเตอร์” ในขณะที่หลายหน่วยงานมุ่งเน้นไปที่การสร้างศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้งาน
โจทย์แรกที่ศูนย์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงรับมาทำ คือการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จัดการกับข้อมูลน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ โดยร่วมกับศิษย์เก่าของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสซาชูเสต (MIT) ที่มีส่วนสร้างอินเทอร์เน็ตขึ้นมาในยุคเริ่มต้น หลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยจะต้องมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบไหน จึงจะเหมาะกับการใช้งาน
Super Computer รุ่นแรก
: จุดเริ่มต้นของทฤษฏีใหม่
ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 และปัญหาน้ำแล้งปี 2539 ทำให้ประเทศไทย โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มมองหาคำตอบใหม่ ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การแก้ไขในเชิงโครงสร้าง แต่เป็นการบริหารจัดการที่มากกว่า จนได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมี tools ทางด้านไอทีที่รองรับการทำงานร่วมกับแบบกระจายศูนย์ (Distributed collaborative work) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตระกูล ผู้อำนวยการเนคเทคในยุคนั้น
ดร.รอยล เล่าว่า ในขณะที่แก่นของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ คือ UNIX ที่คนมักจะให้ความสำคัญกับระบบรวมศูนย์ ส่วนระบบกระจายข้อมูลในแบบขนาน หรือ Distribuilted System ยังไม่มีใครทำ ซึ่งในตอนนั้นเรามองว่ามีความเป็นไปได้หากจะนำมาใช้เป็นฐานของเทคโนโลยี เพียงแค่เข้าใจแก่นของมัน และทำงานผ่านระบบที่จะซิงโครไนซ์ข้อมูลเข้าด้วยกัน
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อมูลเยอะมากๆ แต่ขาดการใช้ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล อาศัยให้คนอื่นวิเคราะห์ และบริหารความตามความเชื่อ”
แต่ตอนนี้ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากส่วนราชการ 50 กว่ากรม ฐานข้อมูล 400 กว่าฐานข้อมูลสามารถนำมารวมกันได้สำเร็จ สร้างเป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ โดยมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทำงานอยู่เบื้องหลัง เกิดเป็นระบบ Hydroinformatics ที่ช่วยตอบโจทย์วิกฤตของประเทศ ช่วยบริหารจัดการน้ำในเขื่อน แก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ดร.รอยล บอกว่า ประเทศไทยสามารถรวบรวมข้อมูลได้สำเร็จโดยไม่ต้องอาศัยทฤษฎีของต่างประเทศ ที่เน้นสร้างมาตรฐาน แต่เราเลือกที่จะสำเนาข้อมูลจากแต่ละหน่วยงานแล้วจับมารวมกันเพื่อบริหารใหม่ แล้วสำเนากลับไปหน่วยงานได้ใช้ประโยชน์ ทำให้เข้าถึงข้อมูลของกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ที่เคยเข้าถึงยากมาอยู่ร่วมกันที่จุดเดียว เมื่อเราเห็นข้อมูลจากฟ้าถึงทะเล มันก็ทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น
“งานนี้ไม่ใช่แค่ความสำเร็จ แต่มันทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ใหม่ๆ ที่โลกมาสนใจกัน แต่จริง ๆ ไทยเราทำผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี” เขากล่าว
จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 26 ปีก่อน ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจะเปลี่ยนมาใช้ระบบกระจายศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นคราวน์ซิสเต็ม ระบบคล็อคใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนจาก Globolization เป็น localization ซึ่งก็คือเทคโนโลยีและ tools ที่ประเทศไทยเคยทำเอาไว้ ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อรองรับโลกยุคใหม่
: จากนักทฤษฎีสู่นักปฏิบัติ
จากข้อมูลสู่การลงมือแก้ปัญหาในพื้นที่จริง ทำโจทย์ท้าทายที่ทุกคนวิ่งหนี อย่างพื้นที่ที่เจอปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก ดร.รอยล ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ช่วยให้ชุมชนบริการจัดการน้ำได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดทฤษฎีใหม่ขึ้นมากมาย
“ซูเปอร์คอมทำให้เรามีข้อมูล ซูเปอร์คอมช่วยวิเคราะห์ข้อมูล แต่โจทย์กับคำตอบใหม่ ๆ นำไปใช้จริงในพื้นที่ การมีซูเปอร์คอมคอมทำให้คิดแมคโครได้สำเร็จ เพราะห้องแล็ปไม่ได้อยู่ที่มหาวิทยาลัย แต่อยู่ในพื้นที่” เขากล่าวทิ้งท้าย
ผลจากการนำเทคโนโลยีมาใช้มาเพื่อจัดการน้ำระดับประเทศ ทำให้ ดร.รอยล จิตรดอน ได้รับยกย่องให้รับ “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” รางวัลเกียรติคุณสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำปี 2564
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Techhub / วันที่เผยแพร่ 25 ต.ค. 65
Link : https://www.techhub.in.th/super-computer-thai-water-management/