“โศกนาฏกรรมเกือบทุกเรื่องในสังคมไทย ยาเสพติดคือหนึ่งในเงื่อนไขจริงๆ”
เป็นคำกล่าวของ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ชี้เปรี้ยงให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังในบ้านเรา ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรืองานรูทีน แต่วันนี้สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว
ประเทศไทยมีโอกาสเผชิญกับเหตุการณ์ “สังหารหมู่” ได้ทุกเมื่อ ดังเช่นที่เกิดล่าสุดที่ จ.หนองบัวลำภู หรือเมื่อปี 63 ที่ จ.นครราชสีมา
ข่าวแบบนี้ไม่ใช่ข่าวที่เกิดเฉพาะในต่างประเทศตามความรู้สึกของคนไทยอีกต่อไป!
ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ เขียนบทความตอกย้ำให้เห็นปัญหาในเรื่องนี้ และต้องยกเครื่องเพื่อวางมาตรการป้องกัน ไม่ใช่แค่เตรียมแผนเผชิญเหตุ หรือซ้อมรับมือ แต่ต้องปรับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติกันขนานใหญ่เลยทีเดียว
———————————
ยาเสพติดและโศกนาฎกรรมซ้ำซ้อน: นัยต่อการปรับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
“โศกนาฏกรรมซ้ำซ้อน” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์การกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ในท้ายที่สุดแล้วจะพบว่าเงื่อนไขหรือการได้รับผลกระทบจากยาเสพติด กลายเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การสร้างอาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัว
แม้ว่าการกราดยิงจะถูกอธิบายหลากหลายมิติในสังคมไทย แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดที่จังหวัดหนองบัวลำภู หากเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับการกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา และโศกนาฎกรรมที่จังหวัดกระบี่ จะพบว่ามีเงื่อนไขและความแตกต่างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมูลเหตุจูงใจและความกดดันที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติดและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันต่อสภาพจิตใจ กล่าวคือ
การกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นการเกิดขึ้นจากความคับข้องใจจากการถูกกดขี่และการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของผู้ก่อเหตุ แรงกดดันดังกล่าวก่อให้เกิดการใช้อาวุธสงครามกราดยิงเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ ทั้งบริเวณตัวห้างสรรพสินค้าและสถานที่สาธารณะที่หลากหลาย ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแรงกดดันและความยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งการควบคุมกำลังคนภายในกองทัพ การให้การดูแลเรื่องราวต่างๆ อาจจะกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานต้นสังกัดอาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาย้อนดูในกรณีของพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีการสังหารเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 3 ศพ จะพบว่ากรณีดังกล่าวนี่เป็นกรณีของการคลั่งที่เกิดจากการใช้สารเสพติดจนส่งผลต่อสุขภาพจิต และเกิด “การสังหารหมู่เยาวชน”
การเปรียบเทียบสองสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้จะพบว่าการกราดยิงในสังคมไทยมักจะมีมูลเหตุมาจากสองมิติ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตจากแรงกดดัน และปัญหาการใช้สารเสพติดจนส่งผลกระทบต่อจิตและประสาท
หากเปรียบเทียบความรุนแรงทั้งสองกรณีต่อวิถีการสร้าง “โศกนาฏกรรมการกราดยิง” จะพบว่า ทั้งสองส่วนสามารถที่จะเป็นอันตรายต่อสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่มูลเหตุที่เกิดขึ้นจากการกดดันจากสุขภาพจิตนั้น จะพบว่าการดูแลของหน่วยงานต้นสังกัดหรือแม้แต่กระทั่งบุคคลรอบข้างอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถป้องกันปัญหาได้อย่างชัดเจนกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงมูลเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดจากการใช้สารเสพติดแล้ว จะพบว่ากลายเป็นเหตุที่หน่วยงานต้นสังกัดเองหรือแม้แต่กระทั่งการควบคุม โดยเฉพาะสังคมรอบข้าง อาจจะไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงได้ ในกรณีการแสวงยาเสพติดมาเสพอย่างต่อเนื่องจนเกิดกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต
และเมื่อกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วจะพบว่าในสังคมไทยเอง ในอดีตที่ผ่านมาเคยพบกับประสบการณ์ที่เลวร้ายจากผู้ที่ติดสารเสพติดและเกิดอาการคลุ้มคลั่งในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจับกุมตัวประกันหรือแม้แต่กระทั่งการใช้อาวุธมีดปกติธรรมดาเข้าไปทำร้ายผู้คน แม้กระทั่งบุคคลในครอบครัว จนกลายเป็นข่าวอาชญากรรมที่สังคมรู้สึกว่ากลายเป็นเรื่องปกติ
“แต่ความปกติต่อข้อมูลที่ปกติในชีวิตประจำวันเหล่านั้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ” เมื่อวิถีการก่อเหตุอาชญากรรมสามารถที่จะสร้างเครื่องมือแบบใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้วิธีการเลียนแบบจากวิธีการจากข่าวหรือข้อมูลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการกราดยิง
“การกราดยิง” ในสังคมไทยจึงมีวิธีการและโครงสร้างไม่ได้เหมือนกับการกราดยิงในต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันการกราดยิงในต่างประเทศมักจะกลายเป็นข่าวในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน แต่แรงจูงใจมักจะเกิดจากการถูกข่มเหง โดยเฉพาะภายในเขตของรั้วมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่กระทั่งในปัจจุบันจะพบว่าการกราดยิงกลายเป็นกลไกวิธีการหนึ่งในการก่อการร้าย โดยเฉพาะการเหยียดทางด้านเชื้อชาติ
กล่าวได้ว่าการกราดยิงคือวิธีการที่ถูกซ้อนทับกัน “ระหว่างการก่อการร้ายกับการก่อเหตุอาชญากรรม”
กรณีของไทย การให้ความสนใจต่อการยกระดับการก่อเหตุอาชญากรรมที่มาจากแรงจูงใจหรือการเสพสารเสพติดจนส่งผลต่อสุขภาพจิตในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันของผู้คนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การกราดยิงที่เกิดจากสารเสพติดกำลังยกระดับส่งผลต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศโดยรวม ตราบใดก็ตามที่กรณีของการลดความสามารถในการเข้าถึงยาเสพติดและการแก้ไขปัญหาแหล่งผลิตจากต่างประเทศเป็นไปได้อย่างล่าช้า
ในมิตินี้แม้ว่าจะมีความพยายามนำเสนอถึงการประสบความสำเร็จในการยึดทรัพย์ จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองของสาธารณชนแล้วเป็นการยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเชื่อว่านโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวประสบความสำเร็จ
ฉะนั้นการปรับยุทธศาสตร์ยาเสพติดที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของไทย จึงอาจกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะการทำให้ยาเสพติดกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ และสามารถบรรจุอยู่ในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม
หากพิจารณาจากร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 จะพบว่าหมวดประเด็นความมั่นคงมีทั้งหมด 13 ประเด็น การป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดกลายเป็นประเด็นที่ 8 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นภัยคุกคามที่เร่งป้องกันและแก้ไขเร่งด่วน 5 ปี
แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่จะต้องสนใจนั่นก็คือ เมื่อรูปแบบอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเปลี่ยนแปลงไป นโยบายความมั่นคงของไทยต่อปัญหายาเสพติดมีความจำเป็นที่จะต้องถูกออกแบบใหม่ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการให้ความสนใจต่อการสร้างกลไกเพิ่มเติม 2 ระดับ นั่นคือ
ระดับแรก การพัฒนาระบบติดตามการฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้ยาเสพติดเป็นทุนสร้างธุรกิจต่อเนื่อง การใช้ยาเสพติดเพื่อเป็นทุนสนับสนุนทางด้านการเมือง การใช้ยาเสพติดเป็นทุนสนับสนุนหรือกลายเป็นแหล่งทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งการพัฒนาระบบการฟอกเงินดังกล่าวนี้ยังสามารถทำให้ระบบการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด สามารถสร้างภาระและความรับผิดชอบร่วม ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับองค์กรอิสระด้านอื่น โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือกลไกตรวจสอบทางด้านการเมืองอื่นๆ เพราะยาเสพติดในปัจจุบันสั่นคลอนสังคมไทยในทุกรูปแบบ การเป็นเจ้าภาพร่วมในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติจากทุกกองค์กรจึงเป็นกุศโลบายที่มีนัยสำคัญ
ระดับที่สอง การให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด อาจจะกลายเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ความมั่นคงไทยจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการกราดยิง หรือแม้แต่กระทั่งการสร้างความไม่มั่นคงและปลอดภัยในชีวิตประจำวันให้กับผู้คน
การเผยแพร่องค์ความรู้หรือการทำให้ผู้คนตระหนักถึงการเอาตัวรอดจากเหตุของการกราดยิง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยปฏิบัติที่ต่อเนื่องนับตั้งแต่การเกิดเหตุกราดยิงที่โคราช แต่ในอีกระยะ 5 ปี ต่อไป การป้องกันเหตุจากการกราดยิงที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด หรือแม้แต่กระทั่งแรงจูงใจที่อาจจะเกิดมาจากการก่อการร้าย อาจจะกลายเป็นอีกมิติหนึ่งของนโยบายความมั่นคงไทย ที่จะต้องสร้างมาตรการรองรับรูปแบบอื่นๆ หรือแม้แต่กระทั่งการสร้างหรือออกแบบมาตรการให้กระทรวงหรือหน่วยงานราชการสร้างมาตรการรองรับต่อการก่อเหตุอาชญากรรมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ต่อไปในอนาคต
————————————————————————————————————————-
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 7 ต.ค. 65
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/112648-thitiwut.html