คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้ญี่ปุ่นอยู่ในฤดูมรสุมต้องเผชิญพายุไต้ฝุ่นเป็นประจำทุกปี หลายครั้งสร้างความเสียหายอย่างหนักและมึผู้เสียชีวิตด้วย เราจะไปดูกันว่าญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากพายุและน้ำท่วมอย่างไร
เดือนกันยายนและตุลาคมเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเป็นประจำ หลายคนอาจคิดว่าเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวและสึนามิแล้ว ภัยจากพายุไม่ได้น่ากลัวมากนัก แต่ความจริงแล้วพายุก่อภัยพิบัติทั้งจากลมแรง ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินถล่ม สร้างความเสียหายต่อทั้งพืชผลการเกษตร บ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ หลายครั้งมีผู้เสียชีวิตด้วย และหลายครั้งความเสียหายก็เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
ตัวอย่างที่ชัดเจนครั้งหนึ่ง คือ เมื่อเดือนกันยายน 2561 พายุได้พัดเรือลำหนึ่งไปชนเข้ากับสะพานที่เชื่อมเมืองโอซากากับสนามบินคันไซจนสะพานหักลง สนามบินคันไซที่สร้างขึ้นบนเกาะเทียมบนทะเลต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอก นักเดินทางจำนวนมากติดค้างอยู่ภายในสนามบินที่ถูกน้ำท่วม ไม่มีน้ำ-อาหารเพียงพอ และไม่มีไฟฟ้าด้วย ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะอพยพคนที่อยู่ในสนามบินออกมาได้ การกู้สนามบินที่น้ำท่วมรันเวย์และชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสารใช้เวลานานถึง 17 วัน ส่วนสะพานต้องใช้เวลาซ่อนนานกว่า 7 เดือน จึงจะเปิดการจราจรเชื่อมโยงตัวเมืองกับสนามบินได้อย่างสมบูรณ์
รับมือพายุอย่างไรจึงจะปลอดภัย
ภัยที่เกิดจากพายุหลัก ๆ แล้วเกิดจากลม (วาตภัย) และฝน (อุทกภัย) ซึ่งทำให้น้ำท่วม แม่น้ำเอ่อล้น และดินโคลนถล่ม
หลายคนอาจนึกไม่ออกว่า ลมพายุมีพลังมากแค่ไหน เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะเจอกับลมที่พัดแรงเป็นร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวอย่างของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากลมที่มีความเร็วแตกต่างกันไปมีดังนี้
ความเร็วลม 144 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รุนแรงมากพอที่จะพัดเอาแผ่นป้ายต่าง ๆ หลุดปลิว รวมถึงทำให้รถบรรทุกที่วิ่งอยู่พลิกคว่ำได้
ความเร็วลม 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระดับเดียวกันกับความเร็วของรถไฟชิงกันเซ็น ความเร็วลมระดับนี้สามารถทำลายอาคารต่าง ๆ ได้
ไต้ฝุ่นบางลูกมีลมที่มีความเร็วสูงถึง 288 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ร่มและสิ่งของต่าง ๆ ที่ถูกลมแรงจะกลายเป็นเหมือนอาวุธ พุ่งทะลุกระจกหน้าต่างแตกได้
ญี่ปุ่นมีระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำมาก สามารถรู้ล่วงหน้าว่าพายุจะขึ้นฝั่งที่ไหนและเมื่อเวลาเท่าไหร่ และคาดการณ์ทิศทางของพายุได้ ประชาชนควรเตรียมรับมือก่อนพายุจะเคลื่อนเข้าใกล้เขตที่อยู่ของตน นอกจากนี้ แม้ว่าที่อยู่ของเราอยู่ไกลจากศูนย์กลางของไต้ฝุ่น แต่ก็ควรเตรียมพร้อมต่อเหตุลมกระโชกแรงซึ่งรวมถึงพายุหมุนด้วย
ก่อนที่พายุจะมาถึงให้เก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่นอกบ้าน เช่น ร่ม กระถางต้นไม้ ราวตากผ้า จักรยาน หลังจากนั้นให้ปิดหน้าต่างทั้งหมด และจะยิ่งปลอดภัยถ้าใช้กระดาษหรือแผ่นฟิล์มมาติดไว้ที่หน้าต่างกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกแตก หรือย้ายไปอยู่ห้องซึ่งมีหน้าต่างน้อย หรือห้องที่ไม่มีหน้าต่างเลย
ไต้ฝุ่นอาจทำให้ไฟฟ้าดับและน้ำประปาหยุดไหล จึงควรสำรองน้ำดื่มน้ำใช้ อาหาร และแบตเตอรีไว้สำหรับ 3 วันเป็นอย่างน้อย
นอกจากภัยจากลมแล้ว ยังควรเตรียมพร้อมสำหรับฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่มด้วย เราสามารถตรวจสอบว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นมีความเสี่ยงว่าจะเกิดน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากแผนที่ความเสี่ยงของทางการท้องถิ่นต่าง ๆ ทางออนไลน์
ในแผนที่ดังกล่าวจะใช้สีต่าง ๆ เพื่อบอกข้อมูลความลึกของระดับน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น ถ้ามีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำสูงกว่า 3 เมตร นั่นหมายความว่าชั้น 2 ของอาคารอาจถูกน้ำท่วม ถ้าสูงกว่า 5 เมตร ก็เป็นไปได้ที่น้ำอาจท่วมถึงชั้น 3 ของอาคาร
ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายมากเป็นพิเศษหากบ้านของเราอยู่ในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลหรือปากแม่น้ำ และพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล วิธีตรวจสอบง่าย ๆ ก็คือ เปรียบเทียบระดับความสูงของบ้านกับริมตลิ่งหรือสะพานของแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียง หากว่าบ้านของเรา ตลิ่ง และสะพานตั้งอยู่ประมาณระดับเดียวกัน บ้านก็อาจถูกน้ำท่วมได้
ที่ญี่ปุ่น เมื่อช่วงที่พายุเข้า สถานีโทรทัศน์จะรายงานประกาศจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมคำเตือนเหตุน้ำท่วมในพื้นที่เผชิญความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดน้ำท่วม เมื่อมีการประกาศเตือนหรือให้อพยพ ขอให้ปฏิบัติตามโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าชะล่าใจ เพราะน้ำในแม่น้ำสามารถเอ่อและล้นตลิ่งได้ในทันทีทันใดเมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ถึงแม้จะเป็นแม่น้ำสายเล็ก ๆ หรือคลองชลประทานก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงได้
เมื่อพายุมาห้ามออกนอกบ้านอย่างเด็ดขาด เมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสปี 2562 มีผู้เสียชีวิต 92 คน ในจำนวนนี้ 57 คนเสียชีวิตระหว่างที่อยู่นอกบ้าน หากจะอพยพต้องทำก่อนพายุมาถึง การอพยพหลบภัยด้วยรถยนต์ก็เป็นอันตรายมากเช่นกัน จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ด้านนอกเนื่องจากไต้ฝุ่นฮากีบิส 57 คน มี 23 คนเสียชีวิตในรถยนต์ ที่ถูกน้ำพัดไปหรือตกลงไปในหลุม เนื่องจากน้ำท่วมทำให้มองไม่เห็นพื้นผิวถนน รถยนต์อาจถูกพัดพาไปได้โดยง่ายแม้น้ำจะดูไม่ลึกมากนัก จึงควรเลี่ยงการขับขี่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม
นอกจากนี้ แม้พายุจะพัดผ่านไปแล้ว แต่ความเสี่ยงต่าง ๆ ยังคงอยู่ การออกไปเดินด้านนอกหรือขับรถก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน
วัตถุต่าง ๆ ที่ถูกลมหอบพัดมาอาจจะหลงเหลืออยู่บนถนนหรือตามทางเท้า เราอาจสะดุดวัตถุเหล่านั้นทำให้บาดเจ็บได้ ส่วนรถยนต์ก็อาจชนหรือเหยียบซากชิ้นส่วนของหลังคา กำแพง หรือกิ่งไม้ ซึ่งถูกไต้ฝุ่นพัดมาและกระจัดกระจายอยู่ทั่วท้องถนนทำให้ยางแบนหรือเกิดอุบัติเหตุได้ การเดินถนนและใช้รถบนท้องถนนหลังจากที่พายุเพิ่งพัดผ่านไปแล้ว ควรยืนยันสภาพของท้องถนนอย่างรอบคอบ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญกับภัยพิบัติหลายอย่างและบ่อยครั้ง ทำให้ญี่ปุ่นสร้างระบบการป้องกันภัยพิบัติที่ดีเยี่ยม แต่ถึงแม้จะมีระบบเตือนภัยที่ดีแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ก็คือ ชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ตระหนักในภัยพิบัติในอย่างสูง เตรียมพร้อมและไม่ละเลยต่อคำเตือนของทางการ การคิดเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ก่อนเกิดเหตุ แม้ว่าภัยที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงเหมือนที่คาดไว้ ก็ยังดีกว่าต้องหวนมาเสียใจภายหลังเกิดความสูญเสียแล้ว.
——————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 ก.ย.65
Link : https://mgronline.com/japan/detail/9650000091906