Biden CIA
สำนักข่าวรอยเตอร์จัดทำรายงานพิเศษ เกี่ยวกับชีวิตของอดีตสายลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอิหร่าน ที่ตีแผ่ถึงวิธีที่เจ้าหน้าที่ซีไอเอใช้ในการรับสมัครสายลับและติดต่อสื่อสาร ไปจนถึงชีวิตหลังจากที่ถูกเปิดเผยตัวตน การถูกทอดทิ้ง จับกุมคุมขัง และทรมานนานนับสิบปี
โกลัมเรซา ฮอสเซนี (Gholamreza Hosseini) ถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานอิมาม โคไมนี ในกรุงเตหะราน เมื่อปีค.ศ. 2010 ขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินไปยังกรุงเทพฯ เขาถูกคุมขังนานเกือบ 10 ปีในข้อหาเป็นสายลับให้กับรัฐบาลต่างชาติและเพิ่งได้รับอิสระเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
วิศวกรอุตสาหการชาวอิหร่านผู้นี้ คือหนึ่งในอดีตสายลับชาวอิหร่าน 6 คนที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ถึงเรื่องราวการจับพลัดจับผลูไปเป็นสายลับให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ (Central Intelligence Agency – CIA) ไปจนถึงความยากลำบากจากการถูกซีไอเอทอดทิ้ง ถูกเปิดเผยตัวตน และถูกทางการอิหร่านจับกุมคุมขังในข้อหาจารกรรม
รายงานของรอยเตอร์ชิ้นนี้พบว่า ซีไอเอพยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อเก็บข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ในประเทศเป้าหมาย รวมทั้งอิหร่าน ซึ่งหลายครั้งสร้างความเสี่ยงให้แก่บรรดาผู้ที่ทำงานให้กับหน่วยงานข่าวกรองขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้
FILE – In this photo released by the Atomic Energy Organization of Iran, technicians work at the Arak heavy water reactor’s secondary circuit, as officials and media visit the site, near Arak, Iran, Dec. 23, 2019.
นอกจากนี้ ช่องทางที่ซีไอเอใช้ในการรับสมัครและติดต่อกับบรรดาสายลับในประเทศต่าง ๆ บางครั้งก็ไม่ได้ช่วยปกปิดตัวตนของพวกเขา ทำให้ถูกติดตามเบาะแสได้ง่ายและอาจถูกถูกจับกุมในที่สุด และเมื่อสายลับเหล่านั้นถูกจับ ซีไอเอก็แทบไม่ได้ยืนมือให้ความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งตัวสายลับและครอบครัวของพวกเขา
จุดเริ่มต้นจากความไม่พอใจรัฐบาล
ฮอสเซนี เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จาก Amirkabir University of Technology ที่มีชื่อเสียงของอิหร่าน และก่อตั้งบริษัทของตนเองในปี 2001 เพื่อช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจต่าง ๆ เรื่องการประหยัดพลังงาน และเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานของอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเขาเริ่มพลิกผันเมื่อรัฐบาลอิหร่านถูกจับตามองโดยรัฐบาลอเมริกันเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ ฮอสเซนีเริ่มสั่งสมความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาลของตนเองที่ต้องการครอบครองอาวุธอำนาจทำลายล้ายสูง และการทุจริตฉ้อฉลที่แพร่หลาย จนในที่สุดเมื่อปี 2007 เขาตัดสินใจส่งข้อความไปทางเว็บไซต์ของซีไอเอว่า “เขาเป็นวิศวกรซึ่งทำงานให้กับสถานที่ทางนิวเคลียร์ของอิหร่านในเมืองนาทานซ์ (Natanz) และมีข้อมูลบางอย่าง”
Handout photo of Gholamreza Hosseini
ในเวลานั้น สหรัฐฯ มองว่า นาทานซ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน และการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่นี้เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งกันและกัน ทำให้ต้องใช้วิธีจัดตั้งเครือข่ายสายลับขึ้นมา
หนึ่งเดือนต่อมา ฮอสเซนีได้รับการติดต่อกลับจากซีไอเอ และมีการนัดพบกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่นครดูไบ โดยทางซีไอเอต้องการให้เขารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลกรุงเตหะราน ตลอดจนเครือข่ายยุทธศาสตร์ด้านไฟฟ้าและพลังงานของประเทศ
ฮอสเซนีเผยว่าเขาเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ประเทศไทยและมาเลเซีย รวมทั้งหมด 7 ครั้งในช่วง 3 ปี และธุรกิจของเขายังสามารถเชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ทำให้เขายิ่งได้รับความสนใจจากรัฐบาลสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น
การล้มเหลวของการปกปิดตัวตน
ฮอสเซนีเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เขาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอผ่านทางเว็บไซต์ข่าวฟุตบอลภาษาเปอร์เซียชื่อว่า Iraniangoals.com (ปิดไปแล้ว) โดยใช้รหัสผ่านพิเศษเพื่อส่งข้อความให้กับซีไอเอ โดยหารู้ไม่ว่าวิธีการสื่อสารช่องทางนี้ไม่ปลอดภัยและทำให้เขาถูกจับกุมโดยทางการอิหร่านในที่สุด
เมื่อปี 2018 สื่อ Yahoo News รายงานว่า ระบบการสื่อสารผ่านเว็บไซต์ที่มีข้อบกพร่องได้นำไปสู่การจับกุมและประหารชีวิตผู้ให้ข้อมูลแก่ซีไอเอหลายสิบคนในอิหร่านและจีน
บิล มาร์คแซก แห่ง University of Toronto และ แซค เอ็ดเวิร์ดส แห่ง Victory Medium นักวิเคราะห์อิสระด้านไซเบอร์ ระบุว่า เว็บไซต์ส่งข้อความลับอย่าง Iraniangoals.com สามารถถูกแกะรหัสได้ง่าย ๆ และไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสระดับสูงที่มีความปลอดภัยมากกว่า
คาดว่าซีไอเอใช้เว็บไซต์ลักษณะนี้หลายร้อยเว็บไซต์ในการติดต่อกับผู้ให้ข้อมูลในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 20 ประเทศ รวมทั้ง จีน บราซิล รัสเซีย กาน่า และไทย โดยมีตั้งแต่เว็บไซต์บันเทิง สุขภาพ ไปจนถึงเรื่องความสวยความงามต่าง ๆ โดยแต่ละเว็บไซต์จะมีเจ้าหน้าที่สายลับดูแลเพียงหนึ่งคนเพื่อจำกัดการเชื่อมโยงกับเครือข่ายสายลับคนอื่น ๆ ตามการเปิดเผยของอดีตสายลับซีไอเอต่อรอยเตอร์
“ซีไอเอถือเป็นภาระสำคัญยิ่งยวดที่ต้องปกป้องคนที่ทำงานให้เรา หลายคนทำงานที่สุ่มเสี่ยงอย่างกล้าหาญ”
โฆษกหญิงของซีไอเอ แทมมี คัพเพอร์แมน ธอร์ป
รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากอดีตเจ้าหน้าที่อเมริกันว่า ซีไอเอไม่ทราบปัญหารั่วไหลของเว็บไซต์เหล่านี้จนกระทั่งปี 2013 หลังจากที่มีสายลับหลายคนหายตัวไป
ถึงกระนั้น ซีไอเอมิได้จัดว่าเว็บไซต์นี้เป็นช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับแหล่งข่าวที่มีคุณค่า หรือผู้ให้ข้อมูลชั้นสูง ที่ต้องได้รับการปกปิดตัวตนอย่างเข้มงวดรัดกุมที่สุดอยู่แล้ว แต่เป็นช่องทางสื่อสารง่าย ๆ สำหรับผู้ให้ข้อมูลทั่วไปที่ไม่ถูกจัดเป็น “ข้อมูลลับสุดยอด” ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับสูง
ลำดับชั้นของสายลับ
อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองหลายคนให้ข้อมูลว่า ซีไอเอมีการปกปิดตัวตนของผู้ให้ข้อมูลในระดับต่าง ๆ กันตามระดับความสำคัญของตัวสายลับและข้อมูลนั้น โดยผู้ให้ข้อมูลในระดับสูงสุดจะได้รับการปกป้องอย่างรัดกุมที่สุด เช่น นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ผู้สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้โดยตรง และสมาชิกในครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ก็มักได้รับการปกป้องในระดับสูงเช่นกัน และอาจได้รับค่าชดเชยหลายล้านดอลลาร์จากรัฐบาลอเมริกันในกรณีที่ผู้ให้ข้อมูลผู้นี้ถูกจับกุมหรือสังหารด้วย
ขณะที่ผู้ให้ข้อมูลที่มีความสำคัญในระดับลดหลั่นลงมาก็จะได้รับการปกป้องความปลอดภัยในระดับที่น้อยลงเช่นเดียวกัน โดยผู้ให้ข้อมูลแก่ซีไอเอส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่มีความสำคัญต่ำ เช่น เจ้าหน้าที่ที่ไม่พอใจรัฐบาลของตน หรืออดีตคู่รัก ซึ่งไม่ได้รับการปกป้องมากนัก และมักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอเมื่อพวกเขาถูกจับ อ้างอิงจากคำกล่าวของ พอล พิลลาร์ ผู้เคยทำงานในหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ มานาน 28 ปี
รอยเตอร์พยายามติดต่อไปทางซีไอเอเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
ถูกทอดทิ้งเมื่อหมดความสำคัญ
รอยเตอร์รายงานว่า ซีไอเอมักใช้วีซ่าสำหรับอาศัยและทำงานในอเมริกาเป็นเครื่องต่อรองในการขอข้อมูลที่ต้องการจากบรรดาผู้ให้ข้อมูล ทั้งโดยการขู่บังคับ โน้มน้าว หรือหลอกใช้
อดีตเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ซีไอเอบางคนใช้วิธีปลอมตัวเป็นเจ้าสถานกงสุลเพื่อหลอกสอบถามข้อมูลจากชาวอิหร่านผู้สมัครขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผู้สมัครผู้นั้นสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายและอาจถูกจับกุมได้
Handout photo of Gholamreza Hosseini
สำหรับกรณีของฮอสเซนี เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ซีไอเอรับปากว่าจะหาทางให้เขาและครอบครัวได้ย้ายไปพำนักและทำงานอเมริกาแลกกับข้อมูลที่เขารวบรวมได้ แต่เมื่อข้อมูลนั้นล้าสมัยหรือหมดความสำคัญ ก็ดูเหมือนเขาจะถูกทอดทิ้งตามไปด้วย และเมื่อฮอสเซนีถูกจับกุมในปี 2010 เขาก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ซีไอเออีกเลย
พอล พิลลาร์ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การมอบวีซ่าแก่ผู้ให้ข้อมูลในต่างประเทศผ่านซีไอเอนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยมีสายลับต่างชาติประมาณ 100 คนต่อปีเท่านั้นที่จะได้รับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ สำหรับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด
ฮอสเซนีติดคุกในกรุงเตหะรานเกือบ 10 ปี เขาบอกว่าถูกทรมานสารพัด ทั้งทุบตี ช็อตด้วยไฟฟ้า และขังเดี่ยวในห้องมืด หลังจากได้รับการปล่อยตัวเขายังต้องอาศัยอยู่ในอิหร่านต่อไปและหางานทำไม่ได้เนื่องจากประวัติส่วนตัวของเขา ขณะที่อดีตสายลับอิหร่านอีก 5 คนที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ ไม่มีใครได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอให้เดินทางไปยังสหรัฐฯ ได้เลย
มุมของซีไอเอ
อย่างไรก็ตาม อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวว่า ในมุมของซีไอเอ การติดต่อกลับไปยังสายลับที่ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระมาแล้วนั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะอาจเผชิญกับสายลับสองหน้าที่ทำงานให้กับรัฐบาลอิหร่าน นอกจากนี้ยังอาจถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลอิหร่านเองด้วย ดังนั้น การปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด
และว่า พวกเขาโชคดีแล้วที่มีชีวิตรอดจากเรือนจำในอิหร่านได้
ถึงกระนั้น รายงานรั่วไหลเรื่องแผนจารกรรมของซีไอเอนี้สร้างความท้าทายอย่างยิ่งต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรข่าวกรองแห่งนี้ ซึ่งโฆษกหญิงของซีไอเอ แทมมี คัพเพอร์แมน ธอร์ป ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับฮอสเซนี รวมทั้งการทำงานต่าง ๆ ของซีไอเอในอิหร่าน แต่ก็ยืนยันว่า ซีไอเอไม่เคยทอดทิ้งบุคคลที่ทำงานให้กับองค์กรนี้แต่อย่างใด
“ซีไอเอถือเป็นภาระสำคัญยิ่งยวดที่ต้องปกป้องคนที่ทำงานให้เรา หลายคนทำงานที่สุ่มเสี่ยงอย่างกล้าหาญ” และว่า “ข้อกล่าวหาว่าซีไอเอไม่ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องคนเหล่านั้น เป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง”
ที่มา: รอยเตอร์
——————————————————————————————————————————-
ที่มา : VOA Thai / วันที่เผยแพร่ 30 ก.ย.65
Link : https://www.voathai.com/a/6769360.html