GETTY IMAGES
อีลอน มัสก์ บอกว่า เขาจะให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม “สตาร์ลิงก์” (Starlink) ของเขาแก่ชาวยูเครนต่อ แม้ก่อนหน้านี้ออกมาขู่ว่าจะหยุดให้เงินสนับสนุน
มาดูกันว่าระบบอินเทอร์เน็ตที่ต้องพึ่งดาวเทียมบริษัทนี้สำคัญต่อกองทัพและรัฐบาลยูเครนอย่างไร
“สตาร์ลิงก์” คืออะไร ทำงานอย่างไร
สตาร์ลิงก์ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านฝูงดาวเทียม โดยมีประโยชน์ต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบทั่วไปได้ ดาวเทียมเหล่านี้อยู่ในวงโคจรระยะต่ำรอบโลกเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างดาวเทียมกับพื้นดินได้เร็วที่สุด
ประเมินกันว่าตั้งแต่ปี 2018 สตาร์ลิงก์ส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรอยู่ราว 3,000 ดวง โดยคริส ฮอล ผู้อำนวยการด้านเนื้อหาของเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยี Pocket-lint บอกว่า ในที่สุด บริษัทของนายมัสก์อาจใช้ดาวเทียมถึง 10,000 หรือ 12,000 ดวง
เขาบอกว่าดาวเทียมช่วยแก้ปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตในที่ห่างไกล “สามารถหลีกเลี่ยงการต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย อาทิ สายและเสารับสัญญาณ ในพื้นที่เหล่านั้น”
“สตาร์ลิงก์” ช่วยยูเครนอย่างไร
อีลอน มัสก์ เริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสตาร์ลิงก์แก่ยูเครนไม่นานหลังรัสเซียเข้าบุกรุกราน และไปปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ในประเทศ
เขาบอกว่าได้ส่งจานรับสัญญาณและเราเตอร์ (router) 20,000 ชุด ไปที่ยูเครน มิไคโล เฟโดรอฟ รองนายกรัฐมนตรียูเครนบอกว่า สตาร์ลิงก์เป็นตัวช่วยสำคัญในการเชื่อมต่อบริการพื้นฐานต่าง ๆ หลังประเทศถูกรัสเซียโจมตี
“มีขีปนาวุธร่อนมากกว่า 100 ลูกที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการติดต่อสื่อสาร แต่สตาร์ลิงก์ทำให้สามารถกลับมามีการเชื่อมต่อได้อีกครั้งในพื้นที่สำคัญ ๆ”
ดร.มารินา มิรอน นักวิจัยด้านการกลาโหมจากคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่ ทหารที่ฐานทัพสามารถสื่อสารกับทหารในสนามรบได้ขณะที่สัญญาณวิทยุธรรมดาอาจถูกรบกวนได้ และเครื่องมือ [เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม] นี้ติดตั้งได้ภายใน 15 นาที
ทำไมอีลอน มัสก์ ขู่เลิกสนับสนุนสตาร์ลิงก์ให้ยูเครน
ในช่วงต้นเดือน ต.ค. อีลอน มัสก์ เสนอให้ยูเครนยอมยกไครเมียให้รัสเซีย และให้รัสเซียจัดทำประชามติในดินแดนที่กองทัพรัสเซียบุกไปยึด
เอกอัครราชทูตชาวยูเครนคนหนึ่งบอกให้เขาไปให้พ้นซะ พร้อมกับใช้คำสบถว่าด้วย
นายมัสก์ตอบโต้ด้วยการบอกว่า ตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน เขาหมดเงินไปกับสตาร์ลิงก์ถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบอกวาเขาจะไม่สนับสนุนต่อ และแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มาช่วยออกเงินให้แทน
อย่างไรก็ดี ต่อมาเขาทวีตบอกว่าแม้จะเสียเงินและบริษัทอื่น ๆ ได้เงินภาษีมหาศาล เขาก็จะยังคงสนับสนุนรัฐบาลยูเครนต่อไปโดยไม่คิดเงิน
เราอาจใช้สตาร์ลิงก์ที่ไหนในโลกได้อีก
GETTY IMAGES
เมื่อ ก.พ. ที่แล้ว จรวดสเปซเอ็กซ์ขนดาวเทียวสตาร์ลิงก์ขึ้นไป 49 ดวง
ขณะนี้ สตาร์ลิงก์ให้บริการครัวเรือนและบริษัทใน 40 ประเทศ ส่วนใหญ่ในอเมริกาหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะใกล้เคียงในมหาสมุทรแปซิฟิก
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับค่าบริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป บริการของสตาร์ลิงก์ไม่ใช่ถูก ๆ
จานรับสัญญาณและเราเตอร์ที่ใช้เชื่อมต่อกับดาวเทียมมีราคา 599 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 22,800 บาท และราคาบริการต่อเดือนอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,200 บาท
สตาร์ลิงก์บอกว่าตอนนี้มีผู้ใช้บริการแล้ว 7 แสนราย โดยปีหน้าวางแผนจะขยายบริการไปทั่วแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย
คริส ฮอล บอกว่าค่าบริการของสตาร์ลิงก์อาจแพงไปสำหรับทวีปแอฟริกาแต่ก็อาจมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อโรงเรียนและโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล
สตาร์ลิงก์ทำให้อวกาศรกหรือเปล่า
ไม่ใช่สตาร์ลิงก์เท่านั้นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตด้วยดาวเทียมที่วงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit หรอ LEO) บริษัทแอมะซอนและวันเว็บ (OneWeb) ก็วางแผนจะส่งดาวเทียมขึ้นไปเช่นกัน
ศ.ซาอิด มอสเทชาร์ จากสถาบันนโยบายและกฎหมายอวกาศแห่งลอนดอน (London Institute of Space Policy and Law – ISPL) บอกว่า ดาวเทียมสามารถไปชนยานพาหนะอื่น ๆ และซากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มอีกเมื่อโคจรด้วยความเร็ว ก่อนหน้านี้ ดาวเทียวสตาร์ลิงก์เกือบชนสถานีอวกาศจีนมาแล้ว
“หากมีเศษซากความเสียหายจากการปะทะมากเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถใช้วงโคจรระยะต่ำได้ในอนาคต” ดร.ลูซินดา คิง ผู้จัดการด้านโครงการอวกาศ มหาวิทยาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ กล่าว
“และเราก็อาจไม่สามารถขยับขึ้นไปในวงโคจรระยะสูงกว่านั้นซึ่งเป็นที่ที่ดาวเทียมนำร่องและดาวเทียมสื่อสารโคจรอยู่”
GETTY IMAGES
ดาวเทียมของสตาร์ลิงก์ทำให้เกิดขีดแสงบดบังดาวดาวและดาวเคราะห์
นอกจากนี้ ดาวเทียมของสตาร์ลิงก์ยังเป็นปัญหาต่อนักดาราศาสตร์ด้วย ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกดิน เราสามารถมองเห็นดาวเทียมได้ด้วยตาเปล่าเพราะแสงอาทิตย์สะท้อนไปที่ดาวเทียม นี่อาจทำให้เกิดรอยขีดบนภาพจากกล้องโทรทรรศน์และไปบดบังดาวดาวและดาวเคราะห์ได้
สำหรับเรื่องนี้ สตาร์ลิงก์บอกว่าจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการทำให้พื้นผิวของดาวเทียมเงาน้อยลง
——————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC / วันที่เผยแพร่ 20 ต.ค.65
Link : https://www.bbc.com/thai/international-63320404