GETTY IMAGES
กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมากล่าวหาว่ายูเครนอาจใช้ “dirty bomb” หรือระเบิดกัมมันตรังสี ในการทำสงครามกับรัสเซีย แต่รัสเซียไม่ได้นำเสนอหลักฐานใด ๆ มายืนยันตามที่กล่าวอ้าง ขณะที่ยูเครน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ต่างปฏิเสธว่าไม่จริง และประธานาธิบดีวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ยังกล่าวหารัสเซียกลับว่าเป็นต้นตอของความสกปรกทั้งหลายทั้งปวงที่จะจินตนาการได้ในสงครามครั้งนี้
ว่าแต่ว่า dirty bomb คืออะไร จะใช่ระเบิดสกปรกรึเปล่า เรามาทำความเข้าใจกัน
เราคงไม่อาจแปลความหมายของคำว่า dirty bomb ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษว่าเป็นระเบิดสกปรก และถ้าดูคำแปลตามที่สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยใช้เรียก dirty bomb ก็คือคำว่าระเบิดกัมมันตรังสี โดยสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยบอกว่าระเบิดกัมมันตรังสีนี้ ในทางเทคนิคไม่ใช่อาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้าง แต่ความเสี่ยงของผู้ที่อยู่ในระยะใกล้จะมาจากวัตถุระเบิดอื่นที่ใช้มากกว่าจะเป็นการแพร่กระจายของวัสดุกัมมันตรังสี
ยังไงก็ตาม dirty bomb นั้นมีวัสดุกัมมันตรังสี เช่น ยูเรเนียม รวมอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อเกิดระเบิดวัสดุกัมมันตรังสีเหล่านั้นก็จะถูกปลดปล่อยออกมาในอากาศ และจริง ๆ แล้ววัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ใน dirty bomb ก็ไม่ใช่วัสดุอย่างที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่แค่วัสดุกัมมันตรังสีที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างที่ใช้ในโรงพยาบาล โรงไฟฟ้า หรือห้องแล็บ ก็สามารถนำมาทำ dirty bomb ได้ เพราะฉะนั้น dirty bomb จึงมีราคาถูกและทำขึ้นได้ง่ายกว่าอาวุธนิวเคลียร์แถมยังสามารถขนส่งได้ง่ายกว่า เช่น ใส่ไว้ในรถตู้ก็ได้
แต่แม้จะเป็นอาวุธที่ทำขึ้นได้ไม่ยาก ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่อันตราย ฝุ่นกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาสามารถทำให้เป็นมะเร็งได้ ดังนั้นผู้คนจึงตื่นตระหนกหากตกเป็นเป้าโจมตีโดย dirty bomb
GETTY IMAGES
นายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย อ้างเรื่องยูเครนเตรียมใช้ระเบิดกัมมันตรังสี โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน
ระเบิดกัมมันตรังสีนั้น เมื่อเกิดระเบิดขึ้นแล้วจะต้องมีการอพยพผู้คนออกจากจุดเกิดหตุ เพื่อไม่ให้ได้รับสารสัมมันตรังสีเหล่านั้น ในบางกรณีผู้คนก็อาจไม่สามารถกลับไปใช้พื้นที่เกิดเหตุได้อีก
สมาคมนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเคยคำนวณว่า หากมีการนำระเบิดหนึ่งลูกที่มีส่วนผสมของโคบอลท์-60 อยู่ 9 กรัม และระเบิดทีเอ็นที 5 กก. ไปก่อเหตุที่ปลายด้านหนึ่งของเกาะแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก ผลที่เกิดขึ้นก็คือนครนิวยอร์กจะเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้เป็นเวลาหลายสิบปี
อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพในการทำลายของ dirty bomb นั้นอาจเอาแน่เอานอนไม่ได้ ยกตัวอย่างว่าหากต้องการให้กัมมันตรังสีแพร่กระจายทั่วจุดเกิดเหตุ นั่นก็หมายความว่าจะต้องทำให้กัมมันตรังสีอยู่ในสภาพที่เป็นฝุ่นผง แต่ถ้าฝุ่นผงเหล่านี้ละเอียดเกินไป และถ้ามีกระแสลมแรงพัดผ่านเข้ามาในเวลาเดียวกันด้วย ฝุ่นกัมมันตรังสีก็จะแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากเกินไป จนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้มากมายนัก
หลายคนอาจสงสัยว่าเคยมีการใช้ระเบิดกัมมันตรังสีหรือ dirty bomb มาก่อนหรือเปล่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการโจมตีด้วยด้วยระเบิดประเภทนี้แล้วประสบความสำเร็จที่ไหนในโลก อย่างไรก็ดี เคยมีความพยายามใช้ระเบิดกัมมันตรังสีก่อเหตุ โดยกลุ่มกบฏเชชเนียเคยนำระเบิดที่มีส่วนผสมของไดนาไมท์ และซีเซียม-137 (ไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม) ไปก่อเหตุที่สวนสาธารณะอิซมัยลอฟ (Izmailovo Park) ในกรุงมอสโก เมื่อปี 1996 โดยซีเซียมที่ใช้ก่อเหตุนั้นถูกนำออกมาจากเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง แต่ว่ามีการตรวจพบระเบิดดังกล่าวและปลดชนวนได้ทันก่อนที่มันจะระเบิด
นอกจากนี้สองปีถัดมา หน่วยข่าวกรองของเชชเนียยังพบระเบิดกัมมันตรังสีอีกลูกหนึ่งที่ถูกนำไปวางไว้บนรางรถไฟสายหนึ่งในเชชเนีย แต่ปลดชนวนได้ทันเช่นกัน
ถัดจากนั้นก็เป็นกรณีที่พบเมื่อปี 2002 ในสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่จับกุมตัวชาวอเมริกันที่ติดต่อกับเครือข่ายก่อการร้ายอัลไคดาได้ในชิคาโก ฐานต้องสงสัยว่าจะก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดกัมมันตรังสี ชายคนดังกล่าวซึ่งชื่อว่าโฮเซ่ พาดิลยา ถูกจำคุก 21 ปี
ส่วนในสหราชอาณาจักรเอง ในปี 2004 ตำรวจกุมนายดิเรน บารอต ชาวอังกฤษซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายก่อการร้ายอัลไคดาได้ในกรุงลอนดอน และจำคุกเขา 30 ปี ฐานวางแผนก่อการร้ายในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรซึ่งจะใช้ระเบิดกัมมันตรังสีด้วย อย่างไรก็ดี ตอนที่ถูกจับกุม ทั้งนายพาดิลยาและนายบารอต ยังไม่ได้ลงมือประกอบระเบิดกัมมันตรังสี
ถ้าถามว่าทำไมรัสเซียถึงกล่าวหายูเครนว่าจะใช้ dirty bomb เรื่องนี้สถาบันศึกษาเพื่อการสงคราม ระบุว่ารัสเซียต้องการให้ชาติตะวันตกระงับหรือส่งอาวุธให้ยูเครนช้าลง และทำให้พันธมิตรนาโต ขาดความน่าเชื่อถือด้วยการปล่อยข่าวลือที่น่าหวาดกลัวนี้
ในเวลาเดียวกันก็ยังมีการคาดเดากันไปว่ารัสเซียเองก็มีแผนจะใช้ dirty bomb ในยูเครนและจะป้ายสีว่าเป็นฝีมือของทหารยูเครน อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายคนบอกว่ารัสเซียคงไม่บ้าระห่ำขนาดนั้นเพราะผลเสียของ dirty bomb จะตกอยู่กับทหารของตัวเองและในดินแดนที่รัสเซียยึดครองด้วย ซึ่งสถาบันศึกษาเพื่อการสงครามก็เห็นด้วยว่ารัสเซียคงไม่ทำเช่นนั้นในเร็ว ๆ นี้แน่
—————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 27 ต.ค. 65
Link : https://www.bbc.com/thai/international-63401687