Summary
– ถึงเวลาหรือยังที่รัฐควรเสริมสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดต่างๆ ไม่ว่าจะกราดยิง ติดอยู่ในรถ หนีจากไฟไหม้ รวมถึงเมื่อเจอภัยพิบัติให้เป็นทักษะพื้นฐานตั้งแต่เด็ก
– ขั้นตอนพื้นฐานหากต้องอยู่ในสถานการณ์กราดยิง ตามคำแนะนำคือ หนี หากทำได้ – ซ่อน ให้เงียบที่สุด – สู้ เมื่อถึงคราวจำเป็นและไม่มีทางเลือกอื่น
เหตุร้ายไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางบนรถสาธารณะก็มีสิทธิ์เจอเหตุร้ายได้ เช่น เหตุจี้รถเมล์สาย 8 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 หรือกรณีสะเทือนขวัญระดับประเทศอย่างการกราดยิงที่โคราช ที่ส่วนหนึ่งเกิดในห้างสรรพสินค้า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดขึ้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ช่วงเวลาประมาณเที่ยงวัน อดีตนายตำรวจ ใช้อาวุธมีดและปืนทำร้ายครูและนักเรียนภายในศูนย์พัฒนาเด็กฯ หลังจากก่อเหตุได้ขับรถยนต์เดินทางกลับบ้าน ยิงลูกและภรรยารวมถึงตัวเองเสียชีวิต สรุปผู้เสียชีวิต 38 ศพ รวมผู้ก่อเหตุ และบาดเจ็บอย่างน้อยอีก 12 คน
คำถามคือมีเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนก่อความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตเกิดขึ้นจำนวนมากอีกแล้ว ในเมื่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าอันตรายลักษณะนี้จะเข้ามาใกล้ตัว จนยากจะป้องกัน แต่เราสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือได้หรือไม่ หากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีการใช้อาวุธหมายเอาชีวิตคนจำนวนมากเช่นนี้
การสูญเสียไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร เพราะทุกชีวิตเมื่อสูญเสียไปแล้วไม่สามารถมีสิ่งใดทดแทนได้ ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่รัฐควรเสริมสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดต่างๆ จากเหตุร้าย ไม่ว่าจะกราดยิง ติดอยู่ในรถ หนีจากไฟไหม้ รวมถึงเมื่อเจอภัยพิบัติให้เป็นทักษะพื้นฐานตั้งแต่เด็ก
เพราะการพึ่งพาตัวเองยามคับขันคือความหวังของการเอาชีวิตรอด ไทยรัฐพลัสชวนทำความเข้าใจการปฏิบัติตัวเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์กราดยิงและตกเป็นตัวประกัน โดยอ้างอิงจาก การฝึกเอาตัวรอดในสถานการณ์กราดยิง (active shooter) ของโรงเรียนเพลินพัฒนา
การเอาชีวิตรอดหากอยู่ในเหตุกราดยิง
1. สังเกตคนร้าย
– การแต่งกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะสะพายกระเป๋า ใส่เสื้อคลุมที่ปกปิด เพื่อซ่อนอาวุธที่นำมา
– ท่าทางการเดิน จะเป็นการก้าวสั้นๆ เนื่องจากต้องประคองปืนขณะเดิน
– ท่าทางของคนรอบข้าง หากดูแล้วไม่น่าไว้ใจควรอยู่ห่างและมองหาทางออกไว้ล่วงหน้า
2. หนี – ซ่อน – สู้
หนี – เมื่อเจอกับเหตุการณ์กราดยิง สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิ่งหนีหาทางออกที่ปลอดภัยจากสถานที่นั้นให้เร็วที่สุด เช่น ประตู ทางออกฉุกเฉิน โดยขณะวิ่งพยายามเงียบให้มากที่สุดและวิ่งให้ไวที่สุด และอย่ากลับเข้าพื้นที่นั้นเด็ดขาด และหากเป็นไปได้ให้พาเพื่อนและคนรอบข้างออกไปด้วย ทั้งนี้การหนีออกจากที่เกิดเหตุควรไปให้ไกลที่สุด เพราะหากไม่ไกลอาจจะอยู่ในระยะการยิงของอาวุธปืนได้ อย่างน้อยควรพาตัวเองออกไปไกลกว่าระยะ 600 เมตร
ซ่อน – กรณีวิ่งเจอทางตัน หรือหนีไม่ทัน ระวังอย่าซ่อนหลังประตู เพราะประตูมักเป็นจุดแรกๆ ที่คนร้ายเล็งเป็นเป้า และประตูไม่สามารถกันกระสุนได้ หากซ่อนควรมองหาที่หลบที่กันกระสุนได้
หากเลือกหลบในห้อง ให้ล็อกและนำวัตถุที่มีน้ำหนักมาขวางประตูไว้ เมื่อเราซ่อนทำตัวให้เงียบที่สุด และอย่าลืมปิดเสียงโทรศัพท์ด้วยพร้อมกับหรี่แสงให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าซ่อนตัวได้ ให้รอจนกว่าสถานการณ์จะสงบ
สู้ – นี่เป็นทางออกสุดท้ายหากหนีไม่ได้แล้ว ต้องหันมาสู้เพื่อหาทางรอด ต้องพยายามมีสติให้มากที่สุด
อันดับแรกคือมองหาอาวุธ อย่างอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ปากกา ขาแว่น หรืออะไรที่จับถนัดมือ ในการต่อสู้ให้มุ่งไปที่จุดอ่อนของผู้ร้าย เช่น ตา ต้นคอ หรือจุดอ่อนอื่นๆ เมื่อคนร้ายเสียหลักเราก็พยายามหนีให้เร็วที่สุด
ที่สำคัญ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ไม่คาดคิด เราอาจจะสูญเสียการได้ยิน หรืออาการหูดับ เนื่องจากอาการตื่นตระหนก หัวใจเต้นเร็ว ไม่รับรู้สิ่งรอบตัว ต้องตั้งสติ ไม่ส่งเสียงโวยวาย เงียบ และหนีให้เร็วที่สุด
ส่วนขั้นตอนการทำงานพื้นฐานของตำรวจที่เราควรรู้คือ เมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ ตำรวจจะเลือกจัดการคนร้ายก่อน เมื่อจัดการได้แล้ว จะเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
การโทร. แจ้งเหตุฉุกเฉิน 191
– บอกตำแหน่งที่อยู่
– บอกว่าเกิดอะไรขึ้น
– บอกว่าเผชิญอะไร
– บอกความช่วยเหลือที่ต้องการ
เมื่อตกเป็นตัวประกัน
หากเหตุการณ์กราดยิงกลายเป็นการควบคุมตัวผู้มีชีวิต เพื่อเจรจาต่อรอง หรือเราอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน วอลเลซ ไซนส์ (Wallace Zeins) อดีตตำรวจนิวยอร์ก ผู้รับหน้าที่เจรจากับคนร้ายมากว่า 20 ปี เคยบอกวิธีรับมือหากถูกจับเป็นตัวประกันกับสำนักข่าว abc NEWS ไว้เป็น 6 ขั้นตอนว่า
1. อยู่ในความสงบ หรืออยู่เฉยๆ หลีกเลี่ยงการแสดงความก้าวร้าวต่อผู้จับกุม เพราะช่วงเวลา 30 นาทีแรก จะเป็นช่วงที่คนร้ายตึงเครียดที่สุด
2. สังเกตสิ่งรอบตัว ประตูห้องเปิดเข้าหรือเปิดออก รายละเอียดของคนที่จับตัวเรา เสื้อผ้าสิ่งที่เขาสวม มีอาวุธไหม มีคนร้ายกี่คน
3. พูดเท่าที่จำเป็น เฉพาะตอนผู้ร้ายพูดด้วย เนื่องจากตัวประกันเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อรอง หากไม่มีทักษะในการต่อรองที่ดีพอ การสื่อสารที่ก่อให้เกิดผลลบอาจเกิดขึ้นได้ และควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องศาสนา การเมือง หรือเรื่องที่จะเพิ่มภาวะความเครียด
4. ทำท่าทีอ่อนแอ บอกคนที่จับตัวประกันว่าต้องการยาสำคัญ เพราะคนป่วยมักเป็นตัวประกันคนแรกๆ ที่คนร้ายจะปล่อยตัว เนื่องจากตัวประกันที่มีค่าที่สุดคือคนที่มีชีวิต
5. อย่าพยายามเป็นวีรบุรุษหรือพยายามหลบหนี เพราะหากคนร้ายมีปืน อย่างไรกระสุนก็เร็วกว่าเรา
6. อย่าวิ่งเมื่อมีการเข้าบุกช่วยเหลือ เพราะตำรวจอาจแยกไม่ออกว่าเป็นตัวประกันหรือคนร้าย ให้หมอบราบต่ำติดพื้น ทั้งนี้เพื่อให้พ้นจากวิถีกระสุนด้วยหากเกิดการปะทะขึ้น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เฝ้าดูเหตุการณ์ (ไทยมุง)
– ไม่ควรเข้าไปมุงเด็ดขาด เพราะการเคลื่อนไหวของคนที่มุงดูอาจไปกระตุ้น ทำให้คนร้ายทำร้ายตัวประกันได้
– ไม่ตะโกนหรือแสดงอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ เพราะอาจไปกระตุ้นคนร้ายได้เช่นกัน
– ควรทิ้งระยะห่างจากเหตุการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างสะดวก
– หากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายให้รีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทันที
การรับมือปัญหาสุขภาพจิตหลังรับรู้ข่าวเหตุการณ์รุนแรง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูลการดูแลจิตใจเมื่อทราบข่าวหรือเห็นภาพความรุนแรง ไว้ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไป ใช้เวลากับกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อลดอารมณ์ และความเครียดจากการรับข่าวสาร
2. หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง ไม่ส่งภาพเหตุการณ์ หรือคลิปเหตุการณ์ ความรุนแรง ที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก
3. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งอารมณ์ช็อก เสียใจ โกรธ ทำใจไม่ได้ รู้สึกผิด สงบและยอมรับ
4. แบ่งปันความรู้สึก พูดคุย ระบายความรู้สึกโดยเน้นความเข้มแข็งของจิตใจ ที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
5. ถ้ารู้สึกไม่ไหว ขอคำปรึกษา ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
————————————————————————————————————————-
ที่มา : Thairath Plus / วันที่เผยแพร่ 7 ต.ค. 65
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/speak/102212