เกาหลีใต้เผชิญความสูญเสียครั้งใหญ่ในเหตุการณ์เลวร้ายที่ “อิแทวอน” อย่างไม่มีใครคิด คำถามใหญ่ โศกนากรรมครั้งนี้ ป้องกันได้หรือไม่ แล้วใครต้องรับผิดชอบ
บรรยากาศเฉลิมฉลองช่วงใกล้สิ้นปีในเกาหลีใต้ มีอันต้องพลิกผันเป็นความช็อก และเศร้าสลดทั้งประเทศ งานรื่นเริงต่าง ๆ ที่มีแผนจัดขึ้นในช่วงฮาโลวีน มีอันต้องยกเลิก เพื่อร่วมไว้อาลัยเหตุการณ์คลื่นมหาชนเบียดเสียดจนขาดอากาศหายใจ ในอิแทวอน ย่านสถานบันเทิงโด่งดังของกรุงโซล ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุด 153 ราย จำนวนมากเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ในผู้เสียชีวิต มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย 19 คน ขณะเดียวกัน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในใจของหลายคนก็คือว่า ความสูญเสียในชีวิตเช่นนี้ ป้องกันได้หรือไม่ มาตรการความปลอดภัยและการบริหารจัดการฝูงชน อยู่ที่ไหน และใครควรรับผิดชอบ
ซอยที่เกิดโศกนาฏกรรมอิแทวอน
โศกนาฏกรรมช็อกโลก เกิดขึ้นขณะผู้คนแออัดกันแน่นในทางเดินแคบ ๆ เชื่อมระหว่างทางออกที่ 1 สถานีรถไฟอิแทวอน กับเวิล์ด ฟู้ด สตรีต ด้านหลังโรงแรมฮามิลตัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคน ให้ภาพว่า ผู้คนผลักกันไปผลักกันมา ขณะพยายามเดินขึ้นหรือเดินลงในซอยแคบ ที่มีความยาว 45 เมตร กว้างเพียง 4 เมตร เป็นทางลาดลงสู่ถนนใหญ่และสถานีรถไฟ ก่อนกลายเป็นกับดักมรณะเมื่อคืนวาน
เทศกาลฮาโลวีน ในย่านดังกลางกรุงโซล เป็นอีเวนต์ที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดมานาน ทุกปี จะเห็นการรวมตัวของนักเที่ยวแต่งกายในชุดผี และเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่า ในปีนี้ ฝูงชนมหาศาลจะไปชุมนุมกันในเทศกาลฮาโลวีนครั้งแรกในรอบ 3 ปีโดยไม่มีมาตรการคุมโรค ขนาดปีก่อน ที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ ยังมีผู้คนไปชุมนุมกันมากมายที่ย่านราตรีชื่อดัง จนจุดเสียงวิจารณ์ความเสี่ยงแพร่กระจายไวรัส
อย่างไรก็ดี อี ซัง มิน รัฐมนตรีมหาดไทยเกาหลีใต้ กลับอ้างว่า โศกนาฏกรรมเช่นนี้ไม่อาจป้องกันได้ ต่อให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ “นี่ไม่ใช่การชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ที่จุดความวิตกเป็นพิเศษ ขนาดของการรวมตัว ไม่ได้ต่างจากปีก่อน ๆ และดูเหมือนไม่ใช่เหตุการณ์ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการเพิ่มกำลังตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในสถานที่จัดงาน” รัฐมนตรีมหาดไทยกล่าวก่อนเสริมว่า ตำรวจจำนวนมากประจำอยู่ในย่านจตุรัส ควังฮามุน เพราะมีการประท้วงของหลายกลุ่ม
ขณะที่ Yeom Gun-woong ศาสตราจารย์ที่ภาควิชาตำรวจและการบริหารดับเพลิง มหาวิทยาลัย U1 ชี้ว่า หากเป็นอีเวนต์แบบอื่น ผู้จัด หรือ ออร์กาไนเซอร์ อาจถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่อีเวนต์แบบที่อิแทวอน ยากจะหาใครมารับผิดชอบ เพราะเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ ไม่มีออร์กาไนเซอร์ “เมื่อกู้ภัยไปถึงที่เกิดเหตุ จำนวนคนเจ็บและตายเลวร้ายกว่าที่คาดไว้มาก ทางการระดมทั้งรถพยาบาลและกู้ภัยจากทั่วกรุงโซลและเมืองใกล้เคียงไปช่วย แต่กว่ารถฉุกเฉินและกู้ภัย จะเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ก็ไม่ได้ง่าย เพราะการจราจรคับคั่ง และความหนาแน่นของฝูงชน ทั้งที่โศกนาฏกรรมในซอยมรณะนั้น อยู่ห่างจากสถานีดับเพลิงใกล้ที่สุดแค่ 100 เมตร ประกอบกับมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บร่วม 300 ราย เกินกำลังรับมือไปมาก
ด้าน อี ยอง จู นักวิชาการอีกคนจากภาควิชาอุบัติภัยและดับเพลิง มหาวิทยาลัยโซล สะท้อนมุมมองไปในทางเดียวกันว่า ทางการท้องถิ่นหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในเขต ต้องวางมาตรการรักษาความปลอดภัย หากคาดการณ์ได้ว่า จะมีคนมากกว่า 1,000 คนมารวมตัว แต่นี่เป็นงานที่จัดโดยไม่มีผู้จัดเฉพาะเจาะจง ขาดมาตรการควบคุมฝูงชน “นี่เป็นอุบัติภัยที่สามารถควบคุมหรือป้องกันได้ แต่ไม่ได้รับการใส่ใจ และไม่มีใครรับผิดชอบมาตั้งแต่แรก”
ที่มา Korea Herald
————————————————————————————————————
ที่มา : คมชัดลึก / วันที่เผยแพร่ 30 ต.ค.65
Link : https://www.komchadluek.net/news/foreign/534784