ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นในจุดที่สำคัญแห่งหนึ่งบนแหลมไครเมีย นั่นคือ ‘สะพานเคิร์ช’ (Kerch Bridge) สะพานที่ทอดพาดผ่านช่องแคบเคิร์ช เชื่อมระหว่างรัสเซียและดินแดนไครเมีย เป็นสะพานที่เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการผนวกรวมไครเมีย (ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2014
เกิดอะไรขึ้นบนสะพานเคิร์ช
คณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติของรัสเซียระบุว่า เหตุระเบิดบนสะพานดังกล่าวเกิดจากรถบรรทุกคันหนึ่งระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้โครงสร้างบางส่วนของสะพานถูกทำลาย เบื้องต้นตรวจสอบพบว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวจดทะเบียนในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัสเซีย
ทางการรัสเซียได้ตั้งทีมตรวจสอบเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศผนวกรวมดินแดนของยูเครน (โดเนตสก์, ลูฮันสก์, ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียและชี้ว่าดินแดนเหล่านี้จะอยู่กับรัสเซียตลอดไป รวมถึงขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ปกป้องดินแดนใหม่ของรัสเซีย
อีกทั้งเหตุระเบิดดังกล่าวยังเกิดขึ้นภายหลังจากวันเกิดครบรอบ 70 ปีของปูตินได้เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น สร้างแรงกดดันและความท้าทายให้กับผู้นำรัสเซียไม่มากก็น้อย
ท่าทีและผลกระทบจากแรงระเบิด
แรงระเบิดเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย โครงสร้างบางส่วนของสะพานที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมของรถยนต์ได้รับความเสียหาย หักและพังทลายลงยังผืนน้ำเบื้องล่าง ถนนบางเลนแม้จะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ยังพอจะสามารถสัญจรไปมาได้ อาจพบการจราจรติดขัดและล่าช้าในบางช่วง ขณะที่สะพานคู่ขนานที่ใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟ ก็ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดนี้เช่นเดียวกัน เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น กระทบเส้นทางหลักที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ของรัสเซียที่ใช้ขนถ่ายสินค้าและเคลื่อนกำลังพลข้ามไปยังฝั่งไครเมีย
ข่าวการระเบิดสะพานไครเมียสร้างความดีใจใหักับประชาชนชาวยูเครนอย่างมาก ถือเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของการผนวกรวมดินแดนที่ไม่ชอบธรรมของรัสเซีย เมื่อราว 8 ปีก่อน
ทางด้าน รีฟัต ชูบารอฟ หัวหน้าชุมชนชาติพันธ์ุ Tatars บนแหลมไครเมียชี้ว่า ยูเครนไม่ควรละทิ้งไครเมีย เขายกย่องความพยายามที่จะทำลายสะพานดังกล่าวลง เป็นการทำลายความพยายามของรัสเซียที่จะทำให้ชาติพันธ์ุอื่นๆ บนแหลมไครเมียที่ต้องการกลับไปอยู่ภายใต้อธิปไตยของยูเครนอีกครั้งเป็นชนชายขอบ ในขณะเดียวกัน เขาก็มีความกังวลว่าทางการรัสเซียจะนำความโกรธเคืองมาลงที่ชาติพันธ์ุ Tatars บนแหลมไครเมีย ซึ่งปัจจุบันมีประชากรอยู่ราว 3.2 แสนราย ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเองก็ได้ประกาศแต่งตั้งให้ นายพล เซอร์เก ซูโรวิคิน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ เป็นผู้นำกองทัพรัสเซียสู้ศึกสงครามในยูเครน
ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของยูเครนให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของยูเครนอย่าง Ukrainska Pravda ว่า กองกำลังยูเครนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายทหารระดับสูงของกองทัพยูเครนให้สัมภาษณ์ทาง Radio Liberty ว่า สะพานไครเมียดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของทางการยูเครน ไม่นานหลังจากนั้น หน่วยข่าวกรองของยูเครนก็อ้างว่าได้รับแบบแปลนภาพวาดทางเทคนิคของสะพานดังกล่าวแล้ว
โดยภายหลังจากที่เกิดเหตุระเบิดบนสะพานเคิร์ชได้เพียงไม่นาน มิคาอิโล โปโดลยัก เจ้าหน้าที่ระดับสูงและที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ทวีตข้อความระบุว่า
“ไครเมีย, สะพาน, จุดเริ่มต้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มิชอบด้วยกฎหมายจะต้องถูกทำลายลง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกขโมยไปจะต้องกลับคืนสู่ยูเครน ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัสเซียยึดครองจะต้องถูกขับไล่ออกไป”
ทางการยูเครนเคยปฏิเสธเหตุโจมตีค่ายทหารของรัสเซียในแหลมไครเมียในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของกองทัพยูเครนนิรนามออกมาเปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโต้จากฝั่งยูเครน เป็นสิ่งที่กองทัพรัสเซียสมควรได้รับ
นักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า การระเบิดทำลายสะพานไครเมียเป็นความท้าทายด้านโลจิสติกส์สำหรับยูเครนมากเกินไป เนื่องจากยูเครนมีขีปนาวุธพิสัยไกลและเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวนจำกัดที่จะสามารถเดินทางไปยังช่องแคบเคิร์ชได้ในช่วงเวลานี้ อีกทั้งโครงสร้างของสะพานเคิร์ชก็ค่อนข้างแข็งแรงทนทาน ทำลายลงได้ยาก เป็นสะพานคู่ขนาน 4 เส้น ที่ให้รถยนต์และรถไฟสัญจรไปมาได้
แม้จะผ่านมานานเกือบทศวรรษแล้ว แต่แหลมไครเมียก็ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายของยูเครนที่ต้องการจะพิชิตดินแดนนี้กลับคืนไป รวมถึงอีก 4 ดินแดนล่าสุดที่เพิ่งจะถูกผนวกรวมไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วย แม้นักวิเคราะห์บางรายอาจมองว่ายูเครนสามารถใช้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไครเมียเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการต่อรอง เพื่อลดการสู้รบของสงครามในพื้นที่อื่นๆ ของยูเครนได้
แต่อย่างไรก็ตาม ทางการยูเครนประกาศกร้าวจะสู้ไม่ถอย พร้อมพิชิตทุกอย่างคืนจากรัสเซีย วอนประชาคมโลกคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวรัสเซียโดยสมบูรณ์ พร้อมสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยและดินแดนของตน คำประกาศผนวกรวมดินแดนและการอ้างผลประชามติที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจเปลี่ยนความจริงที่ว่ารัสเซียเป็นผู้รุกรานและฉกฉวยดินแดนของประเทศอื่นเข้าไปเป็นของตน ขัดต่อหลักปฏิบัติสากลและหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง
ภาพ: Security Camera / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง:
https://www.npr.org/2022/10/08/1127640378/crimea-bridge-russia-ukraine-war
https://edition.cnn.com/2022/10/08/europe/crimea-bridge-explosion-intl-hnk/index.html?iid=cnn-mobile-app&iid=cnn-mobile-app&iid=cnn-mobile-app
https://www.theguardian.com/world/2022/oct/09/kerch-bridge-russia-ukraine-war-crimea-putin
https://www.reuters.com/world/europe/russias-ria-state-agency-reports-fuel-tank-fire-kerch-bridge-crimea-2022-10-08/
บทความโดย ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ
———————————————————————————————————
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 9 ต.ค.65
Link : https://thestandard.co/kerch-bridge-explosion/