ซากของโดรนชาเฮด-136 ที่ถูกยูเครนยิงตก
ยูเครนกล่าวหาว่ารัสเซียใช้ “โดรนกามิกาเซ” โจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือนในกรุงเคียฟ
โดรนชนิดนี้บรรทุกระเบิดที่จะระเบิดขึ้นเมื่อเกิดแรงปะทะ ซึ่งจะทำลายโดรนไปพร้อมกัน
โดรนกามิกาเซ ของรัสเซียคืออะไร
เชื่อกันว่ารัสเซียใช้โดรน “ชาเฮด-136” (Shahed-136) ที่อิหร่านผลิต ในสมรภูมิยูเครนตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
โดรนชนิดนี้ซึ่งรัสเซียเรียกว่า เจอเรเนียม-2 (Geranium-2) มีระเบิดอยู่ในหัวรบที่ส่วนจมูกของมัน และได้รับการออกแบบให้บินวนเวียนเหนือเป้าหมายจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้โจมตี
ชาเฮด-136 มีระยะระหว่างปลายปีก 2 ข้างประมาณ 2.5 เมตร และยากที่จะตรวจจับด้วยเรดาร์
ยังไม่ชัดเจนว่ารัสเซียมีโดรนชนิดนี้อยู่เท่าใด แต่สหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านมีแผนจะจัดส่งโดรนหลายร้อยลำให้แก่รัสเซีย แต่อิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
โดรนกามิกาเซสร้างความเสียหายมากแค่ไหนในยูเครน
มีรายงานว่ารัสเซียใช้โดรนชาเฮด-136 ครั้งแรกเมื่อ 13 ก.ย. เพื่อโจมตีเป้าหมายในเมืองคูปิยันสก์ ในภูมิภาคคาร์คีฟ ทางภาคตะวันออกของยูเครน
ช่วงปลายเดือนเดียวกัน มีการใช้โดรนชนิดนี้โจมตีทางภาคใต้ของยูเครน โดบพบซากโดรนชาเฮด-136 ในเมืองโอเดสซา และมิโคลายีฟ
ในเดือน ต.ค. โดรนชาเฮด-136 ได้โจมตีย่านพลเรือนในเมืองบีลาแซร์ควา ทางตอนใต้ของกรุงเคียฟ
คาดว่ารัสเซียจะเลือกใช้โดรนชนิดนี้ในการโจมตีมากกว่าขีปนาวุธร่อน เพราะมีราคาถูกกว่า คือประมาณลำละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 760,000 บาท)
ยูเครนรับมือโดรนชนิดนี้อย่างไร
กองทัพยูเครนใช้อุปกรณ์ต่อต้านขีปนาวุธ และอุปกรณ์รบกวนสัญญาณเพื่อสกัดโดรนเหล่านี้ โดยช่วงต้นเดือน ต.ค. กองทัพยูเครนเผยว่าสามารถสกัดการโจมตีของโดรนชาเฮด-136 ได้ประมาณ 60%
อย่างไรก็ตาม การยิงทำลายโดรนชนิดนี้ทำได้ค่อนข้างยาก
จัสติน ครัมป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารอธิบายให้บีบีซีฟังว่า “โดรนชนิดนี้จะบินอยู่ในระดับต่ำ และยังสามารถส่งพวกมันบินเกาะกลุ่มเป็นฝูง ซึ่งยากที่จะตอบโต้ด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศ”
ยูเครนใช้โดรนกามิกาเซหรือไม่
ยังไม่แน่ชัดว่ายูเครนใช้โดรนลักษณะนี้หรือไม่ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายูเครนอาจใช้ในการโจมตีครั้งล่าสุดต่อฐานทัพทหารรัสเซียทางตะวันตกของไครเมีย ต่อฐานทัพอากาศใกล้เมืองเซอวาสเตอโปล และต่อเรือรบที่ท่าเรือเมืองนี้
ยูเครนและรัสเซียมีโดรนแบบไหนบ้าง
โดรนทหารหลัก ๆ ของยูเครนคือ “ไบรักตาร์ ทีบีสอง” (Bayraktar TB2) ซึ่งผลิตในตุรกี โดยมีขนาดเท่าเครื่องบินขนาดเล็ก มีกล้อง และสามารถติดตั้งระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์
ดร.แจ็ค วอตลิง จากสถาบันเพื่อการกลาโหมและความมั่นคงศึกษา (Royal United Services Institute หรือ Rusi) ในสหราชอาณาจักรระบุว่า ในช่วงต้นของสงคราม ยูเครนมีฝูงบินโดรนชนิดนี้ “ไม่ถึง 50 ลำ”
สหรัฐฯ ระบุว่า กำลังจัดส่งโดรน “สวิตช์เบลด” (Switchblade) จำนวน 700 ลำให้ยูเครน ซึ่งเป็นโดรนกามิกาเซเช่นกัน
นอกจากนี้ รัสเซียยังใช้โดรน “ที่มีขนาดเล็กและธรรมดากว่า” อย่างออร์ลาน-10 (Orlan-10) ซึ่งมีกล้องและสามารถบรรทุกระเบิดขนาดเล็กได้
โดรนทหารมีประสิทธิภาพแค่ไหน
โดรนจากทั้งสองฝั่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการใช้หาตำแหน่งของเป้าหมายฝ่ายตรงข้าม และใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการโจมตีศัตรู
“กองทัพรัสเซียสามารถนำปืนมาเล็งศัตรูได้ภายในเวลาเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น หลังจากที่โดรนออร์ลาน-10 ระบุตัวเป้าหมายได้” ดร.วอตลิง กล่าว หากปราศจากเทคโนโลยีโดรนนี้ การโจมตีครั้งหนึ่งอาจต้องใช้เวลามากถึง 20-30 นาที เขาอธิบาย
ดร.มาร์ตินา ไมรอน นักวิจัยด้านความมั่นคงจากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า โดรนเหล่านี้ช่วยให้ยูเครนสามารถขยายศักยภาพในการต่อสู้ของตัวเองออกไปได้
“ถ้าคุณต้องการะบุตำแหน่งของศัตรู ในอดีตคุณต้องส่งหน่วยรบพิเศษออกไป…และคุณอาจจะสูญเสียกำลังพลไปบางส่วน” เธอกล่าว “ตอนนี้คุณเสี่ยงก็แค่เสียโดรนไป”
โดรนออร์ลาน-10 ของรัสเซีย สามารถล็อกเป้ายิงขีปนาวุธไปยังตำแหน่งของศัตรูได้ภายในวเลาไม่กี่นาทีเท่านั้น
ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์แรกของสงคราม โดรนไบรักตาร์ของยูเครนได้รับคำชื่นชมอย่างมาก
“พวกมัน (โดรน) สามารถโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ เช่น คลังเก็บอาวุธ และมีส่วนในการจมเรือรบมอสควา” ดร.ไมรอน กล่าว
อย่างไรก็ตาม โดรนไบรักตาร์มีขนาดใหญ่ และเคลื่อนตัวได้ช้า ทำให้ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียทำลายไปเป็นจำนวนมาก
“พวกมันมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างช้า และบินในเพดานความสูงระดับกลางเท่านั้น นั่นทำให้มันถูกยิงตกได้ง่าย” ดร.วอตลิง กล่าว
มีการใช้โดรนพาณิชย์มากแค่ไหน
โดรนทางการทหารมีราคาแพง ไบรักตาร์ ทีบีสอง หนึ่งลำมีมูลค่าราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 76 ล้านบาท)
ด้วยเหตุนี้ กองทัพของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเครน จึงหันมาใช้โดรนพาณิชย์ที่มีขนาดเล็กลง เช่น โดรนดีเจไอ มาวิก สาม (DJI Mavic 3) ซึ่งมีราคาประมาณ 1,700 ปอนด์ (ราว 75,000 บาท)
โดรนพาณิชย์เหล่านี้สามารถนำมาติดตั้งระเบิดขนาดเล็กได้ แต่พวกมันมักถูกใช้เพื่อค้นหาตำแหน่งของศัตรู และนำทางการโจมตีมากกว่า
“ยูเครนไม่ได้มีอาวุธยุทธภัณฑ์มากเท่ารัสเซีย” ดร.ไมรอน กล่าว “การมีหูมีตาอยู่บนอากาศเพื่อช่วยค้นหาตำแหน่งของศัตรู แล้วนำทางการยิงปืนใหญ่โจมตีจะช่วยให้พวกเขาใช้อาวุธที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
อย่างไรก็ตาม โดรนพาณิชย์มีประสิทธิภาพน้อยกว่าโดรนทางการทหารอย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น โดรนจีเจไอ มาวิก บินได้ไกลสุดระยะทางเพียง 30 กม. และสามารถบินอยู่ได้เพียง 46 นาทีเท่านั้น
ดร.ไมรอน บอกว่า รัสเซียใช้ “ปืนยาวสติวเพอร์” (Stupor rifle) ซึ่งเป็นปืนปล่อยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า ที่จะทำให้โดรนพาณิชย์ไม่สามารถใช้ระบบนำทางด้วยจีพีเอสได้
กองทัพรัสเซียยังใช้ระบบออนไลน์ เช่น แอโรสโคป (Aeroscope) เพื่อตรวจจับและรบกวนการสื่อสารระหว่างโดรนกับผู้บังคับโดรน
ระบบนี้จะทำให้โดรนตก หรือบินกลับฐาน และยังทำให้โดรนหยุดส่งข้อมูลกลับไปยังผู้บังคับโดรนด้วย
———————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 19 ก.ย.65
Link : https://www.bbc.com/thai/international-63291153